ยกฟ้อง 9 แกนนำ ชุมนุมค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา มี.ค. 60

ศาล ชี้ ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ย้ำ “อ่าวปากบารา” จ.สตูล เป็นสาธารณสมบัติ ไม่ใช่ของผู้ใดผู้หนึ่ง จึงต้องศึกษาให้รอบด้าน

วันนี้ (25 ธ.ค. 2563) ศาลจังหวัดสตูล มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง 9 แกนนำชาวบ้านจาก “เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาสตูล – สงขลา” ในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ จากเหตุการณ์ชุมนุมคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (เวที ค.1) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่โรงเรียนปากบาง อ.ละงู จ.สตูล เมื่อวันที่ 15-16 มี.ค. 2560

ตัวแทนทนายจำเลยทั้ง 9 คน ได้ชี้แจงคำพิพากษาต่อตัวแทนชาวบ้านที่รอฟังอยู่ด้านหน้า โดยศาลเห็นว่า ผู้เสียหายหรือกรมเจ้าท่า แม้เป็นผู้ครอบครองหอประชุมสถานที่จัดรับฟังความคิดเห็น แต่มีการปิดประตูห้องประชุมโดยมีเจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัย โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ได้มีการฝ่าแนวและเข้าไปยึดพื้นที่หอประชุม ซึ่งจะมีการจัดประชุมแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิต่อผู้เสียหาย ในการเข้าออกของสถานที่จัดประชุม

โดยพื้นที่อ่าวปากบาราเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และมีการใช้สอยประโยชน์โดยประชาชน และมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นประโยชน์สาธารณะ จึงไม่สมควรให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหน่วยงานใดเป็นผู้มาดำเนินการที่ก่อให้เกิดความเสียหาย การที่จะจัดโครงการใดที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพ ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดภูเขาหิน การมาปิดกั้นทางในทะเล จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพและก่อให้เกิดผลกระทบอย่างยิ่ง จึงควรมีการศึกษาอย่างรอบด้าน ไม่ใช่มุ่งแต่ประโยชน์ในทางการขนส่งเท่านั้น

แต่กลับปรากฏว่าในทางนำสืบ โจทก์ไม่อาจนำสืบว่า มีการศึกษาอย่างครบถ้วนรอบด้านแล้ว ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมและจำเลยทั้ง 9 มีมานานแล้ว โดยพยานโจทก์ได้นำสืบมาตั้งแต่ต้นระบุว่ามีการยื่นหนังสือถึงหน่วยงาน ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ก็ไม่อาจที่จะมีคำสั่งหรือไม่มีอำนาจตัดสินใจในการพิจารณาเกี่ยวกับการประชุมรับฟังความคิดเห็นได้ และเมื่อมีการเรียกร้องก็กลับไม่มีผู้มีอำนาจเข้ามาตัดสินใจและดูแลได้ การเข้าไปของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นเพียงการเข้าไปต่อรองให้มีการยกเลิกยกเลิกการรับฟังความคิดเห็นไปก่อน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

อีกทั้ง การชุมนุมเป็นการดำเนินการโดยสงบและปราศจากอาวุธและมีพยานจำเลย คือ นายศศิน เฉลิมลาภ นายศักดิ์อนันต์ ปลาทอง นางสาวอาภา หวังเกียรติ และนางเตือนใจ ดีเทศน์ ได้เบิกความสอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผล ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีอยู่จริงและไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาและและความขัดแย้งดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้เข้าไปยึดพื้นที่ในการจัดประชุม จึงถือว่าไม่มีเจตนาในการบุกรุกสถานที่จัดประชุม พิพากษายกฟ้อง

คดีนี้สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2560 เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาสตูล – สงขลามีการจัดกิจกรรมบริเวณ ‘ลาน 18 ล้าน’ อ.ละงู จ.สตูล กระทั่งช่วงเย็น มีข้อมูลและภาพถ่ายว่ามีกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกเข้าไปบริเวณสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (เวที ค.1) โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จึงกังวลว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจะไม่โปร่งใส และรวบรัดเฉพาะผู้เห็นด้วยกับโครงการ

เครือข่ายฯ จึงไปที่โรงเรียนปากบาง สถานที่จัดเวที ค.1 ในคืนวันที่ 15 มี.ค. 2560 เพื่อขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นออกไปก่อน  โดยเป็นการเดินทางไปอย่างสงบและเปิดเผย และไม่มีการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ขณะที่ภายในโรงเรียนมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจอยู่ โดยไม่มีการขับไล่หรือบอกให้ออกจากโรงเรียนแต่อย่างใด

ต่อมา วันที่ 16 มี.ค. 2560 บริษัทที่ปรึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเข้ามาขอจัดเวที ซึ่งเครือข่ายฯ ได้เสนอขอให้ยุติการจัดเวที ค.1 ออกไปก่อนและได้มีการเจรจากัน ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 14.30 น. หลังจากเลยเวลาตามกำหนดการจัดรับฟังความคิดเห็นแล้ว ชาวบ้านบางส่วนจึงทยอยเดินออกจากโรงเรียน จากนั้นเวลาประมาณ 15.00 น. หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ประกาศยกเลิกการจัดเวที เมื่อทราบว่ามีการประกาศยกเลิกการจัดเวที เครือข่ายฯ ได้ช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่ และมีการนำเจ้าหน้าที่เดินตรวจสถานที่โดยเจ้าหน้าที่รับว่าไม่มีทรัพย์สินอะไรเสียหาย หลังจากนั้นจึงได้ทยอยออกจากบริเวณโรงเรียน

ต่อมาได้มีการดำเนินคดีกับสมาชิกเครือข่ายฯ จำนวน 9 ราย ได้แก่ ไกรวุฒิ ชูสกุล, เอกชัย อิสระทะ, สมบูรณ์ คำแหง, วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี, ปาฎิหาริย์ บุญรัตน์, เชาวลิต ชูสกุล, เจ๊ะนะ วัฒนพันธุ์, หมัด ระหมัดยะ และ เจะปิ อนันทบริพงษ์ ข้อหา ร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน และร่วมกันบุกรุก ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสตูล

ทั้งนี้ การรับฟังคำพิพากษาในวันนี้ (25 ธ.ค.) มีแกนนำเข้ารับฟังแค่ 8 คน เนื่องจากนายปาฎิหาริย์ บุญรัตน์ ได้เสียชีวิตก่อนถึงวันฟังคำพิพากษา

ความเป็นมาและสถานการณ์ปัจจุบันของโครงการ

ปี 2518 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เริ่มกำหนดแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้

ปี 2523 รัฐบาลจัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทย โดยตามแผนระยะที่ 4 ตั้งแต่ปี 2559 มีแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มเติมในภาคใต้โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ปี 2532 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนา ‘สะพานเศรษฐกิจ’ เชื่อมฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ด้วยระบบขนส่งร่วมแบบผสมผสาน ประกอบด้วย ระบบถนน รถไฟ ท่อน้ำมัน และเห็นชอบให้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้

ปี 2536 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ที่จะพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ โดยมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ คือ อุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปี 2540-2541 กรมเจ้าท่าดำเนินการศึกษาเพื่อความเหมาะสมในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ภาคใต้ โดยเลือกศึกษาเปรียบเทียบพื้นที่ 4 แห่ง คือ คลองบุโบย และเกาะเขาใหญ่ อ.ละงู จ.สตูล แหลมตะเสะ กิ่ง อ.หาดสำราญ จ.ตรัง และเขาเมง อ.สิเกา จ.ตรัง

ปี 2546 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 กระบี่-ขนอม ส่วนประกอบหนึ่งของการพัฒนาแลนด์บริดจ์ สร้างแล้วเสร็จ มีขนาด 4 ช่องจราจร โดยเว้นพื้นที่ตรงกลางสำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันและทางรถไฟไว้เรียบร้อย

ปี 2547 กรมเจ้าท่าสรุปผลการศึกษาว่า พื้นที่ปากบารามีความเหมาะสมในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก

ปี 2550 ชาวบ้าน อ.ละงู จ.สตูล ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ยกเลิกโครงการ และหากจะเริ่มโครงการใหม่ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

ปี 2551 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ย้ายและขยายนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกไปยังพื้นที่โครงการเซาเทิร์น ซีบอร์ด และแลนด์บริดจ์ โดย สศช. สรุปแนวคิดการพัฒนาพื้นที่แบ่งเป็น 3 อนุภาค คือ พื้นที่อนุภาคใต้ฝั่งตะวันออก (สุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช) เน้นการพัฒนาผสมผสานการพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว, พื้นที่อนุภาคใต้ตอนล่าง (สตูล-สงขลา) เน้นการพัฒนาแนวสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลชายฝั่งตะวันออก-ตะวันตก และเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจร่วมกับประเทศมาเลเซีย (NCER และ ECER) และพื้นที่อนุภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต-กระบี่-พังงา) เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวพักผ่อนระดับโลก

ปี 2552 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและถมทะเล ระยะที่ 1 บริเวณปากคลองปากบารา อ.ละงู จ.สตูล

ปี 2553 กรมเจ้าท่าทำหนังสือไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อขอเพิกถอนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 4,734 ไร่ เพื่อก่อสร้างท่าเรือปากบารา ขณะที่โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน จัดทำแล้วเสร็จ โดยเส้นทางคือ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา-ละงู-ควนกาหลง-รัตภูมิ-หาดใหญ่-นาหม่อน-จะนะ-ท่าเรือสงขลา 2 รวมระยะทาง 142 กิโลเมตร

ปี 2554 เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลได้เข้าร่วมปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ซึ่งดำเนินการโดยเครือข่ายภาคประชาชน 14 จังภาคใต้ เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ บริเวณริมถนนเพชรเกษม-อุทยานเขาพาง จังหวัดชุมพร เพื่อคัดค้านโครงการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในภาคใต้

ปี 2556 สผ. มีคำสั่งให้กระทรวงคมนาคมจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) มีการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เดินเท้าระยะทาง 220 กิโลเมตร เชื่อมสะพานขนส่งสินค้าด้วยสะพานมนุษย์ เพื่อคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา

ปี 2557 ชาวบ้านประท้วงเชิงสัญลักษณ์คัดค้านความพยายามเพิกถอนพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เพื่อใช้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา

ปี 2560 ชาวบ้านประท้วงคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.1) ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยมีการจัดเวทีที่โรงเรียนปากบาง อ.ละงู จ.สตูล นำมาซึ่งการฟ้องดำเนินคดีแกนนำ 9 คน ในข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ

เดือน ก.ค. 2561 รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้พับแผนโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราออกไปก่อน เนื่องจากมีประชาชนคัดค้านจนไม่สามารถจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1 ได้

เดือน ธ.ค. 2562 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายให้กรมเจ้าท่าไปฟื้นโครงการ โดยยอมรับว่าแม้จะมีกระแสต้าน แต่ก็เป็นอีกนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มีความพยายามต้องการให้เกิดขึ้น

วันที่ 4 มี.ค.2563 ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รับข้อร้องเรียนชาวบ้าน ที่ขอให้ยกเลิกโครงการ ขณะที่กรมเจ้าท่าแจ้งว่า ได้ลงนามร่วมกับบริษที่ปรึกษาทำ EHIA ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 2562 ในบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างโครงการศึกษาทบทวนและสำรวจออกแบบรายละเอียด พร้อมยืนยันว่า โครงการไม่เกิดที่ปากบาราแน่นอน

อ้างอิง

คำประกาศอิสรภาพของจำเลย “คดีปากบารา”

Community Resource Centre Foundation – มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

‘ปากบารา’ โดมิโนชิ้นแรกในเมกะโปรเจ็คท์ภาคใต้

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว