“สมชัย จิตสุชน” แนะรัฐเตรียมเยียวยารอบ 2 แบบถ้วนหน้า หากคุมโควิด-19 ไม่อยู่

TDRI ชี้ อาจต้องมี พ.ร.ก.เงินกู้ เพิ่มอีกฉบับ เพื่อแก้วิกฤตการระบาดใหม่ ระยะยาวต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ – ท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดใหม่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่กำลังฟื้นตัว ระยะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ คงต้องรอให้ผ่านไป 1 สัปดาห์ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ระบุ จะต้องเฝ้าระวังว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในประเทศหรือไม่

อย่างไรก็ตามตลาดหุ้น วันที่ 21 ธ.ค. ก็ติดลบไปถึง 50 จุด สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน แและมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจอาจจะเข้าสู่ภาวะซบเซาช่วงปลายปีต่อไปถึงต้นปีหน้า หากรัฐบาลคุมไม่อยู่ คงจะต้องเตรียมมาตรการเยียวยาเหมือนรอบก่อน และคงต้องออก พ.ร.ก.เงินกู้ อีกฉบับ เพื่อแก้วิกฤต การระบาดใหม่

ทั้งนี้ โครงการที่รัฐบาลทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบปีที่ผ่านมา ที่โดดเด่น คือ การกระตุ้นกำลังซื้ออย่างโครงการคนละครึ่ง ที่เป็นที่นิยมของประชาชนเพราะรายได้ลงไปถึงรายย่อยตัวจริง ไม่ได้กระจุกอยู่กับทุนใหญ่ เพราะร้านสะดวกซื้อไม่ได้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่การลงทะเบียนของคนจน ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง

“มีข้อเสนอนานแล้วว่า ควรจะวางโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องของอินเทอร์เน็ตฟรีทั่วประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับคนทุกกลุ่ม เพื่อขายของออนไลน์ และรับสิทธิ์ สวัสดิการต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม”

เขากล่าวต่อว่า ในระยะยาวการกระตุ้นกำลังซื้ออาจไม่ยั่งยืนเท่ากับการดูแลอัตราการจ้างงาน และเพิ่มรายได้ของประชาชน ซึ่งโควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องปรับตัว สิ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำในช่วงเวลาที่ผ่านมา และต้องทำในปีหน้า คือ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่จะต้องมีการโยกย้ายทรัพยากรจากอุตสาหกรรมหนึ่ง ไปยังอุตสาหกรรมหนึ่ง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่จะถดถอยลงไป เพราะว่าทดแทนด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ รวมไปถึงภาคบริการท่องเที่ยว ที่หลังจากนี้คงจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมากถึง 40 ล้านคนเหมือนอดีต โดยคาดการณ์ว่าปีหน้ามีประมาณ 3 ล้านคน ที่จะต้องเปลี่ยนอาชีพหรือตกงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อายุเยอะ เรียนไม่สูง จำเป็นที่รัฐจะต้องหาแนวทางเพิ่มทักษะอาชีพ

“ต่อเนื่องจากประเด็นนี้ แนวคิดการสร้างอัตราการจ้างงานด้วย Mega project เช่นเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ต้องยอมรับว่า ไม่ได้ทำให้เกิดการสร้างงานจำนวนมาก และ 10 เขตเศรษฐกิจที่เคยจะคิดจะสร้างนั้น ก็ถือว่าไม่เวิร์กเลย เพราะมีคำถามสำคัญคือกลุ่มคนที่เรียนมาไม่สูง จะเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านั้นอย่างไร”

ส่วนภาคการเกษตรยังคงใช้นวัตกรรมน้อยเกินไป ที่เรียกว่า เกษตรประณีต ที่ให้ผลตอบแทนสูง ต้นทุนต่ำ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งอาจต้องหาโมเดลการเกษตรระหว่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผสมผสานกับภูมิปัญญาแบบเก่าของผู้สูงอายุ ทั้ง 2 รุ่นจะสามารถเดินควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมภาคการเกษตรได้อย่างน่าสนใจ

ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวถึงกรณี พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่จะมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปัจจุบันใช้เงินไปเพียงแค่ 2 แสนล้านบ้าน ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่งที่ไม่สามารถใช้ได้ เพราะติดข้ออุปสรรคตามกฎหมายกำหนด ที่ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสนอโครงการ ทำให้ไม่มีความยืดหยุ่นมากพอ และโครงการที่เสนอเข้ามาส่วนใหญ่ก็เป็นโครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ แนวทางต่าง ๆ ที่จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้โดยใช้เงิน 4 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ นี้ จึงไม่สามารถทำได้เพราะติดขัดอุปสรรคหลายหลายอย่าง โดยเฉพาะระบบราชการที่เป็นปัญหา

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS