กะเหรี่ยงบ้านป่าผาก สุพรรณบุรี ร้อง รมว.ทส. แก้ปัญหาที่ดิน

แนะดันกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ฯ สอดคล้องวิถีชุมชน ผู้ช่วย รมว. ระบุ ขอจัดระเบียบอุทัยธานี-สุพรรณฯ ขอชาวบ้านคืนธรรมชาติให้ด้วย

วันนี้ (8 ธ.ค. 2563) กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านป่าผาก อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ยื่นหนังสือถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่าน นพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในงานสถาปนาพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษบ้านภูเหม็น ณ ชุมชนบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) ต.ทองหลาง อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี กรณีความเดือดร้อนของชาวกะเหรี่ยง 15 ครอบครัว ประชากร 80 คน ที่ขาดแคลนพื้นที่ทำกิน ภายหลังถูกละเมิดสิทธิชุมชนหลายครั้งตั้งแต่ปี 2528

เสอะเยียเบ่อ งามยิ่ง ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก กล่าวว่า ชุมชนถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ การขอสัมปทานพื้นที่ตั้งสถานีอาหารสัตว์สุพรรณบุรี การประกาศอุทยานแห่งชาติ การมีโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำพุตะเคียน ต.องค์พระ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี รวมทั้งการทำสัมปทานสวนป่า ทำให้พื้นที่ของชุมชนถูกจำกัด จากเดิมที่ชุมชนมีวิถีการทำไร่หมุนเวียนก็ไม่สามารถทำได้แล้ว และต้องถูกจับกุมดำเนินคดี

“อยากจะบอกเจ้าหน้าที่รัฐว่า ให้ดูแลชาวบ้านที่เจอปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทำกินทำให้ทั่วถึง ในฐานะที่ท่านรัฐมนตรีก็เป็นเป็นคนสุพรรณบุรีด้วยกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข เข้าใจวิถีชีวิตชาวบ้านด้วย เพราะชาวบ้านเดือดร้อนมานานแล้ว ไม่มีความมั่นคงด้านที่ดินเลย”

เขายังย้ำว่า กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินป่าไม้ ต้องสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกัน และเห็นว่าการผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นคำตอบในการแก้ไขปัญหา

“สำคัญที่ว่ากฎหมายต้องคล้องกับจารีตประเพณีของชาติพันธุ์ที่อยู่ในป่า ไม่ใช่เอะอะอะไรก็จับกุม ทำความรุนแรงกับผู้ยากไร้ มีอะไรก็ผ่อนปรนกันบ้าง ชาวบ้านเขาสู้ไม่ได้หรอกเมื่อต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เราต้องมีกฎหมายที่สอดคล้องกับจารีต คือ กฎหมายชาติพันธุ์ฯ ที่จะทำให้เราปรับความเข้าใจกันได้ ไปกันได้ มีอะไรอยากให้รัฐมนตรีลงมาสำรวจด้วยตัวเองมากขึ้น”

ด้าน สุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ชุมชนบ้านป่าผากต่อสู้เรื่องสิทธิที่ทำกิน มีสัญญาหลายครั้งจากหน่วยงานว่าจะหาพื้นที่ให้ทดแทน นำมาสู่แนวทางการให้เช่าที่ดินทำกิน 106 ไร่ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิม และการเช่ายังไม่มีความมั่นคงเท่าการรับรองสิทธิชุมชน ตลอดจนยังไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหาคดีความที่ชัดเจน

“เป็นเคสที่ไม่เป็นธรรมสูงมาก มีสัญญาชัดเจนว่าต้องหาที่ทำกินให้ชดเชยตลอด ทั้งสถานีอาหารสัตว์ และอ่างเก็บน้ำ แต่สุดท้ายไม่มีใครให้ เป็นที่มาที่ทำให้เขาถูกจับกุม เป็นการละเมิดสิทธิร้ายแรง จนมาตอนนี้ก็กลับมาเริ่มต่อสู้ เขาอยากกลับไปทำไร่หมุนเวียน การให้เช่าไม่เคยมีความมั่นคง วันนี้เขามาขอหลักประกันแค่นี้ หลักประกันเรื่องความมั่นคงในที่ดิน และแนวทางแก้ไขคดีความ”

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนรับหนังสือ ระบุว่า วันนี้จะขอจัดระเบียบที่อุทัยธานีและสุพรรณบุรีก่อน ถ้าไปได้ ก็ไปด้วยกัน แต่ชาวบ้านก็ต้องพร้อมคืนธรรมชาติให้ด้วย เช่น โครงการ คทช. แบ่งสรรปันส่วน แบ่งเขตกันแล้ว หากประกาศแนวเขตแล้ว ก็มีความมั่นคงขึ้น ไม่ต้องหวาดผวา แต่ต้องให้ประเทศด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มการกักเก็บน้ำ เป็นต้น จากนั้น จะมอบให้หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปดำเนินการ และจะนัดหมายลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active