เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันแถลงข้อเรียกร้องต่อทั้ง 2 ฝ่าย

หยุดสลายม็อบ / จัดการชุมนุมโดยสันติ / มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัย / ปล่อยแกนนำ / นายกฯ เสียสละด้วยการลาออก / เปิดสภาสมัยวิสามัญ

วันนี้ (18 ต.ค. 2563) เวลา 11.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน เครือข่ายภาคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวข้อเสนอต่อรัฐบาล รัฐสภา และพรรคการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตความขัดแย้ง โดย เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้แถลงข้อเรียกร้อง ครป. และเครือข่ายภาคประชาชน 5 ข้อ

1. เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดความคิดการสลายการชุมนุมและยุติความรุนแรง เนื่องจากการชุมนุมยังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงจนเป็นเหตุถึงขั้นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจใช้มาตรการในการสลายการชุมนุมและรัฐบาลได้ละเมิดหลักการสลายการชุมนุมและกฎการใช้กำลัง โดยขอให้รัฐบาลยกเลิกข้อกำหนดและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงซึ่งสร้างความขัดแย้งและทำลายนิติรัฐ โดยใช้วิธีแก้ไขปัญหาทางการเมืองโดยสันติ และอย่าใช้ทหารเข้ามาแก้ปัญหาการเมือง

2. การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนสากล  ขอให้ผู้ชุมนุมจัดการชุมนุมโดยสันติและช่วยกันจัดการปัญหาเฉพาะหน้าไม่ให้เกิดการยั่วยุ การใช้ความรุนแรงและปลุกระดมความเกลียดชัง โดยเฉพาะการเผยแพร่ข่าวปลอมจากบุคคลที่แฝงตัวเข้ามาสร้างสถานการณ์ หากเกิดเหตุความรุนแรงและสถานการณ์วิกฤตที่ไม่สามารถควบคุมได้ ขอให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ห้ามเจ้าหน้าที่เข้าไปใช้ความรุนแรงและบุกเข้าไปคุกคามจับกุม อันจะขยายความขัดแย้งรุนแรงต่อไปจนยากแก้ไขและเกิดเหตุจลาจลอลหม่านอันเป็นวิกฤตรัฐที่ล้มเหลว

3. รัฐบาลต้องเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากปฏิบัติการการสลายการชุมนุม ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกสั่งให้ปฏิบัติการและผลกระทบทางจิตใจ รวมถึงขอให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองและให้สิทธิ์เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม

4. ทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งคือ นายกรัฐมนตรีต้องทบทวนความผิดของตนเองที่ผ่านมาและเสียสละด้วยการลาออกเพื่อความสงบของบ้านเมือง และให้มีการเสนอเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกวุฒิสภางดออกเสียง โดยขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทยและพรรครวมพลังประชาชาติไทย ลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกและแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองร่วมกัน

และ 5. ขอให้เปิดสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นทางออกในวิกฤตประชาธิปไตย โดยตั้งกรรมาธิการพิเศษ และดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามเจตจำนงค์ของประชาชนเพื่อประกาศใช้กติกาที่เป็นธรรมโดยเร็ว นายเมธากล่าว

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เรียกร้องให้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญโดยเร็วเพื่อหยิบประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ขึ้นมาพิจารณาแล้วก็ดำเนินการรับหลักการ เพื่อที่จะทำให้ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่อยู่ตามท้องถนนเข้าไปสู่เวทีประชุมในสภาเพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างมีเหตุผล และเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาเหตุการณ์วันที่ 16 ตุลาคม และอนาคตของพรรคการเมือง เนื่องเพราะพล.อ.ประยุทธ์คงอยู่ในแวดวงการเมืองอีกไม่นาน แต่พรรคการเมืองจะต้องอยู่ต่อไปในเส้นทางการเมืองและประชาธิปไตยอีกยาวนาน

สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษามูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เรียกร้องให้ศาลพิจารณากรณีการยื่นฝากขังในข้อหาละเมิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือข้อหาใดที่มีลักษณะเกี่ยวพันหรือเกี่ยวกับกิจกรรมในทางการเมืองต้องตรวจสอบและอย่างน้อยต้องให้ประกันตัว เหตุผลการไม่ให้ประกันตัวจะอ้างว่าเพราะเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปนำชุมนุมต่อไม่ได้ เนื่องจากศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุดและไม่ได้วินิจฉัยว่าการชุมนุมนั้นผิดหรือไม่ การตัดสินล่วงหน้าจึงไม่ชอบด้วยหลักของนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) กล่าวว่า “หน้าที่ของรัฐบาลจึงต้องรับฟัง จริงจัง จริงใจกับเสียงเรียกร้องของเยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติในเวลานี้ เขาเหล่านั้นเรียนรู้มาเยอะกับสังคมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เขาได้รับทราบข้อมูลข่าวสารมากมาย เขามีวิธีคิดของตัวเอง มีความเป็นตัวเองสูงมีความมั่นใจที่จะแสดงออกเพราะอนาคตของประเทศอยู่ในมือของเขาที่เขาจะต้องเป็นผู้กำหนด”

บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า “ประเทศไทยกำลังเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่ ทั้งทางการเมือง ทั้งทางเศรษฐกิจ การว่างงานและผลกระทบจากโควิด-19 อาจนำพาประเทศไทยไปสู่ภาวะรัฐล้มเหลวได้ ดังนั้น ทางออกในเวลานี้ รัฐสภาจะต้องออกมาแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาระบบนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งรัฐบาลได้กระทำการขัดแย้งแม้กระทั่งต่อรัฐธรรมนูญที่ตนเองร่างขึ้นมาเสียเอง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active