มอง 3 ประเด็น ผ่าน ชุมนุมการเมือง 2563

มารค ตามไท นักวิชาการด้านการสร้างสันติภาพ ห่วง การแสดงอารมณ์เกลียดชังระหว่างมวลชน ระบุ “กินข้าวทีละคำ” ไม่จำเป็นต้องชนะคืนนี้

  • กังวลเรื่องการแสดงอารมณ์ความเกลียดชังระหว่างมวลชน
  • “สันติวิธีแบบอะไรก็ได้” ใช้ไม่ได้ เมื่อถึงจุดแตกหักเชิงคุณค่า
  • กินข้าวทีละคำ การต่อสู้ระยะยาว ไม่จำเป็นต้องชนะคืนนี้

คือ สิ่งที่ รศ.ดร.มารค ตามไท นักวิชาการด้านการสร้างสันติภาพ มองว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ มีความน่ากังวล เพราะอารมณ์คนในสังคมที่สะท้อนผ่านการใช้ข้อความแสดงออกถึงความเกลียดชังรุนแรง เช่น “เก็บขยะของชาติ” “แม้ผิดกฎหมายก็ยอมทำ” “จะตายก็ช่าง” คำเหล่านี้กระตุ้นอารมณ์ได้มาก

ส่วนเงื่อนไขความรุนแรง คือ มีมวลชนหลายฝ่าย แกนนำคุมไม่อยู่ แม้ไม่ปะทะกันระหว่างแกนนำ แต่มวลชนมีความเสี่ยงจะปะทะกันเองบริเวณรอบนอกการชุมนุม

รศ.ดร.มารค ระบุอีกว่า แม้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องการการปะทะ และยอมเปิดทางในบางจังหวะ เพราะหวังจะให้การเคลื่อนขบวนและการชุมนุมโดยสงบยุติลงได้เอง แต่น่าสนใจว่าบนความขัดแย้งมวลชน 2 ฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐจะวางตัวอย่างไร

ปัจจัยสำคัญ คือ การวางตัวของคู่ขัดแย้ง ซึ่งยอมรับว่า สิ่งที่เห็นเวลานี้ คือ มีบางกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บนฐานของความเกลียดชัง แบ่งฝ่าย  ไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมือง ขณะที่อีกฝ่ายอ้างอุดมการณ์ ทฤษฎีการปกครอง และหลักการความเท่าเทียม มีความเข้มข้นทางความคิด แต่ก็ต้องสร้างหลักสันติวิธีไว้กำกับด้วย เพราะเมื่อเจออารมณ์ที่รุนแรงของอีกฝ่าย อาจจะหลุดจากสันติวิธีได้

“มันไม่ใช่เวลาของ สันติวิธีแบบอะไรก็ได้ ที่ต้องยอมสละจุดยืนอันชอบธรรม สันติวิธีในบางกรณี ก็ยากที่จะประณีประนอมเมื่อถึงจุดแตกหักเชิงคุณค่า เพราะบทเรียนสันติวิธีที่หลีกเลี่ยงความรุนแรง จะผลักดันให้เจรจา แต่เมื่อเจรจาแล้วถูกทำลาย หรือถูกใช้ความรุนแรงกลับ จึงเป็นวิธีการที่ใช่ไม่ได้สำหรับความคิดของบางคน แต่ถ้าจะไม่ให้รุนแรงเกินไป ก็มีข้อคิดว่า การต่อสู้ระยะยาวไม่จำเป็นต้องชนะในคืนนี้ก็ได้…”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active