ห้ามทำประมงในกองหินใต้น้ำ

กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ออกคำสั่ง มีผล 3 ปี คุ้มครองแนวปะการัง ‘ธรณ์’ ชี้ กองหินสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และสัตว์คุ้มครองในทะเล

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 1144/2563 เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรปะการังในบริเวณพื้นที่กองหินใต้น้ำพื้นที่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่ หลังพบการทำประมงในพื้นที่แนวปะการังดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและการท่องเที่ยว ทำความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อแนวปะการัง และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ

คำสั่งระบุห้ามเข้าไปทำประมง ลอบ อวน ทุกชนิด ในบริเวณแนวปะการังในพื้นที่กองหินชุมพร กองหินวง เกาะกงทรายแดง กองหินตุ้งกู กองหินใบ กองหินเกาะว่าว เกาะตุ้งกู เกาะตุ้งกา อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี กองหินหมูสัง เกาะดอกไม้ อำเภอเกาะยาว กองหินอีแต๋น อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และกองหินแดง จังหวัดกระบี่

ผู้ใดฝ่าฝืนต้องวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยกเว้นเป็นการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชชายฝั่ง หรือเป็นการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ ซึ่งได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้ ให้คำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (23 ก.ย.) เป็นระยะเวลา 3 ปี

ด้าน ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า เป็นก้าวที่กล้าของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการออกประกาศดังกล่าว เพราะข้อมูลการศึกษาจำนวนมากบอกตรงกันว่า กองหินเหล่านั้นมีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่อยู่ของสัตว์คุ้มครองในทะเล เช่น ปะการัง ปะการังอ่อน รวมถึงสัตว์สงวน เช่น ฉลามวาฬ ที่แวะเวียนมาเป็นระยะ และยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญต่อการท่องเที่ยว

“ผมเคยโพสต์เคยแชร์ เมื่อนักดำน้ำไปเจอเครื่องมือประมงในแนวปะการังเหล่านั้น แน่นอนว่าการทำมาหากินอาจขัดประโยชน์กัน แต่เมื่อให้เลือกว่าต้องรักษาจุดสำคัญเพื่อวันหน้า เราก็ต้องทำ แต่เราก็ต้องช่วยผู้คนที่เคยหากิน โดยเฉพาะแหล่งปะการังเทียมที่อาจทดแทนได้”

พร้อมย้ำว่า หากเจอการวางเครื่องมือประมงในกองหินเหล่านี้ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการ แต่อย่าไปทำลายเครื่องมือประมงเพราะคนทั่วไปไม่มีอำนาจทำลายเครื่องมือเหล่านั้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active