พีมูฟ ประกาศร่วมเวที 19 ก.ย. ที่ธรรมศาสตร์

ย้ำ จุดยืนสำคัญ คือ การแก้รัฐธรรมนูญนำไปสู่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ชี้ ที่ผ่านมา ชาวบ้านถูกจับดำเนินคดี จากข้อพิพาทที่ดินจำนวนมาก

วันนี้ (17 ก.ย. 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ที่คาดการณ์ว่าจะเป็นแนวร่วมสำคัญในการชุมนุมใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 19 กันยายนนี้แล้ว ล่าสุด ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ จะเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่จะเข้าร่วมชุมนุมด้วย บนจุดยืนสำคัญ คือ การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแกนนำระบุว่า อาจมีแรงสนับสนุนจากภาคประชาชนจำนวนไม่น้อยในการชุมนุมครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานกรรมการบริหารพีมูฟ กล่าวระหว่างร่วมเวทีเสวนาวิชาการ “คดีแสงเดือนจากชั้นต้นยกฟ้องสู่อุทธรณ์ลงโทษ บรรทัดฐานกระบวนการยุติธรรมอยู่ที่ไหน” ซึ่งจัดขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน ว่า การประกาศเจตนารมย์เข้าเป็นแนวร่วมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และกลุ่มประชาชนปลดแอก เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าประเด็นหลักของทั้ง 2 กลุ่ม สอดคล้องกับกลุ่มพีมูฟ คือ การแก้ปัญหาปากท้อง และสิทธิในที่ทำกินของประชาชน ส่วนเครือข่ายตามภูมิภาคต่าง ๆ จะเข้าร่วมหรือไม่ ให้เป็นสิทธิตามความสมัครใจ

“ณ วันนี้เราชัดเจนแล้วว่าจะต้องเข้าร่วมแน่นอน เพราะว่าทั้งในเรื่องของการหยุดคุกคาม แก้รัฐธรรมนูญ และเรื่องการยุบสภา โดยเฉพาะทางพีมูฟเสนอมาตลอด เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่ตำรวจอัยการ ผู้พิพากษา เพราะคดีของพี่น้องคนจนทั่วประเทศส่วนใหญ่ น่าจะอยู่ในศาลการไต่สวนของศาลปกครองมากกว่า ไม่น่าจะอยู่ในคดีอาญา”

ชาวบ้านยังได้รับผลกระทบจาก คดีบุกรุกที่ดิน

เครือข่ายฯ ยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมามีชาวบ้านจำนวนมากถูกจับ ดำเนินคดี เนื่องจากปัญหาข้อพิพาทในที่อาศัย และทำกินในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ อย่างกรณีของ นางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง หรือชื่อเดิม นางแสงเดือน ตินยอด ชาวบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ที่ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 5 สั่งจำคุกกับพวกรวม 2 คน 1 ปี ไม่รอลงอาญา รวมทั้งเรียกค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 2561 ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา และมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ จำเลยทั้งสองต้องใช้เงิน 48,000 บาท ในการประกันตัว

แม้ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 18 ธ.ค. 2562 ศาลจังหวัดลำปาง ได้มีคำสั่งยกฟ้อง โดยเห็นว่า จำเลยขาดเจตนา และที่ทำกินของจำเลยมีหลักฐานร่องรอยมาตั้งแต่ปี 2497 เข้าหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 และเป็นกลุ่มประชาชนที่ได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 จึงไม่ถือเป็นความผิดอาญา และการดำเนินการตามแนวทางโฉนดชุมชนของชุมชนบ้านแม่กวักตั้งแต่ปี 2556 นั้น เป็นการดำเนินการไปตามนโยบายของรัฐบาล ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 เป็นนโยบายที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตัวแทนพีมูฟ จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ที่สำนักงานศาลฎีกา เพื่อขอให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม พร้อมประกาศเจตนารมณ์ในการเข้าร่วมการชุมนุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ก.ย. นี้

ด้าน สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่า นี่เป็นปัญหาทางกระบวนการยุติธรรม ที่ควรจะบังคับใช้ตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่ได้ลงนามระหว่างประเทศไว้หลายฉบับ และในกรณีที่ทำกิน ก่อนที่รัฐจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุม ควรถามก่อนว่ามีการจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านเพียงพอหรือไม่เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และกรณีที่เข้าไปจับกุมชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ก่อนการประกาศเขตของกรมอุทยานกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ควรดำเนินคดีทางวินัยด้วยหรือไม่ เนื่องจากกระทำการขัดกับประกาศ คสช.

ทั้งนี้ปฏิบัติการ “ทวงคืนผืนป่า” ตามคำสั่ง คสช. ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2557 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการคุ้มครองตามคำสั่งที่ 66 แต่ในทางปฏิบัติ ยังมีชาวบ้านโดนคดีบุกรุกป่า 46,600 คดี

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน