เปิดปฏิบัติการ​ ‘สอบสวนโรค’​ หลังพบผู้ติดเชื้อ​รายใหม่

กทม. ส่ง จนท. ลงพื้นที่เสี่ยง สอบสวนโรค สธ. คาด ติดเชื้อจากคนเดินทางกลับจาก ตปท. หรือ ติดเชื้อภายในประเทศจากผู้ไม่แสดงอาการ

วันนี้ (4 ก.ย. 2563) พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีพบผู้ต้องขังชายไทย 1 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องขังเข้าใหม่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางบางเขน ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า ในส่วนของกรุงเทพมหานครได้ดำเนินมาตรการป้องกันกันแพร่บาดของเชื้อดังกล่าว

โดยเบื้องต้นเมื่อช่วงเช้าวันนี้ สำนักอนามัย​ กรุงเทพมหานคร ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงที่ทำงานของผู้ติดเชื้อ อีกทั้งมีการสอบถามหาผู้ใกล้ชิดเพิ่มเติมด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคที่บ้านของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5 คน ได้ให้คำแนะนำและทำการเก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจหาเชื้อทั้ง 5 คน ซึ่งจะทราบผลภายใน 2 วัน พร้อมทั้งขอให้กักตัวในที่พักอาศัยและได้มอบชุด Home Quarantine สำหรับใช้ในการสังเกตอาการตนเอง 14 วัน โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ติดตามดูแล

สำหรับกลุ่มผู้สัมผัสที่เป็นกลุ่มผู้ต้องขังจะมีทีมเจ้าหน้าจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นผู้ดูแล ในส่วนของร้านที่ผู้ติดเชื้อทำงานได้มีการปิดร้านเป็นเวลา 14 วัน เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรค สำนักอนามัยได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคติดตามให้คำแนะนำ และเก็บสิ่งส่งตรวจ ซึ่งจะทราบผลภายใน 2 วัน

สำหรับอาคารสถานที่ ทั้งที่พักอาศัย และสถานที่ต่าง ๆ ที่ผู้ติดเชื้อได้เดินทางไป เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อตามมาตรฐานที่กำหนด ก่อนเจ้าหน้าที่จะฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้ออีกครั้ง โดยร้าน 3 วัน 2 คืน พระราม 3 และร้านเฟิร์สคาเฟ่ สำนักงานเขตพื้นที่ได้สั่งปิดให้บริการอย่างน้อย 14 วัน

นอกจากนี้สำนักอนามัยได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้คำแนะนำในการดูแลประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ทั้งนี้หากประชาชนมีความกังวลใจว่าตนเองจะเสี่ยงติดโควิด-19 หรือไม่ สามารถทำแบบประเมินความเสี่ยงได้จากระบบคัดกรองความเสี่ยง BKK COVID-19 ด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ http://bkkcovid19.bangkok.go.th/ หรือขอคำปรึกษาแนะนำได้ที่เบอร์โทร. 0 2203 2393 และ 0 2203 2396 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดย 1. ตรวจสอบและกำกับดูแลให้สถานประกอบการต่าง ๆ ที่ได้รับการผ่อนปรนอนุญาตให้เปิดกิจการดำเนินการตามมาตรการควบคุมที่ กทม. ได้มีประกาศออกไป โดยคณะทำงานด้านการประสานงานการดูแลความสงบเรียบร้อยได้จัดให้มีชุดตรวจร่วม ระหว่าง บช.น., กอ.รมน. และสำนักงานเขต โดยแยกพื้นที่ปฏิบัติการออกเป็น 9 บก.น. ทั่วพื้นที่ กทม. ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. – 3 ก.ย. มีการตรวจสอบสถานประกอบการทั้งหมด 116,726 ครั้ง มีการให้คำแนะนำเพิ่มเติม 83 แห่ง และตรวจสอบซ้ำ 190 แห่ง ซึ่งในปัจจุบันมีการตรวจสถานประกอบการประมาณวันละ 500 แห่งต่อวัน โดยหากเป็นการตรวจสอบเฉพาะสถานประกอบการประเภทสถานบริการ ผับ บาร์ และคาราโอเกะ ได้มีการตรวจสอบไปแล้วทั้งหมด 4,225 แห่ง ซึ่งสถานประกอบการต่างๆ ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการด้วยดี

2. คณะทำงานด้านการประสานงานการดูแลความสงบเรียบร้อยได้มีการสุ่มตรวจ Home quarantine ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. – 3 ก.ย. รวม 243 แห่ง และ 3. เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสถานบันเทิง และสถานบริการ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ปฏิบัติตามมาตรการหลักและมาตรการเสริมอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดในระลอกสองต่อไป

สธ.ยังไม่สรุปต้นตอเชื้อมาจากในประเทศ​หรือต่างประเทศ

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต​ ว่าที่ปลัดกระทรวง​สาธารณสุข​ กล่าวว่า​ สำหรับประเด็นการติดเชื้อรายนี้ จากการสอบสวนโรคคาดว่าติดมาจากการสัมผัสคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่พบกันในช่วงเวลากลางคืนในที่ทำงาน หรืออาจติดภายในประเทศจากคนที่มีเชื้อแต่ไม่มีอาการ ที่สำคัญผู้ติดเชื้อรายนี้ มีอาการน้อย และทุกคนมีการป้องกันตัวเอง จึงคาดว่าการแพร่เชื้อจะไม่รุนแรง สำหรับกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสติดเชื้อและเกิดการระบาดหรือไม่ ขอเรียนว่ากระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ได้ช่วยกันควบคุมผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงไว้ในพื้นที่กักกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดการแพร่กระจายเชื้อ โดยในวันนี้ได้มอบมอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ส่งรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานไปให้บริการที่ถนนข้าวสาร ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

“ขอยืนยันว่าสิ่งที่ประชาชนปฏิบัติอยู่ทำให้การแพร่เชื้ออยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ขอให้ช่วยกันรักษาวินัย สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง เราต้องอยู่กับโรคโควิด-19 จนกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่อาการไม่รุนแรง ควบคุมโรคได้ ส่วนการรักษาเรามีเวชภัณฑ์ ยา บุคลากรรองรับได้ ประชาชนเป็นผู้สำคัญที่สุดในการดูแลป้องกันตัวเอง ลดการติดเชื้อ ป้องกันการแพร่เชื้อ ก้าวไปสู่การใช้ชีวิตแบบ New Normal เพื่อให้สามารถอยู่กับเชื้อนี้ได้อย่างปลอดภัยจนกว่าจะมีวัคซีน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS