หวั่น​ ‘ภูเก็ต​โมเดล’​ เม็ดเงินไหลไม่ถึงรายย่อย

ผู้ประกอบการ กังวล โควิด-19 ระบาดซ้ำ ดึง ศก. แย่กว่า​เดิม​ แนะรัฐตั้งกองทุนเยียวยา ด้านนายกฯ เมืองป่าตอง หนุนเปิดเมืองปลอดภัย​

จากกรณีรัฐบาลเตรียมนำร่องเปิดประเทศ ที่จังหวัดภูเก็ต​ หรือ ‘ภูเก็ตโมเดล’ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่​ เริ่มวันที่ 1 ต.ค. นี้​ ล่าสุด กลุ่มภาคประชาสังคม​ Phuket For​ All ซึ่งมีทั้งประชาชนและนักธุรกิจในพื้นที่ ต่างแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามถึงความพร้อมของมาตรการรองรับการเปิดประเทศตามโมเดลดังกล่าว

‘ปรีชา​ ใจอาจ’ ตัวแทนกลุ่ม​ Phuket For​ All ผู้ประกอบการภาคเอกชน กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลจะนำร่องเปิดประเทศที่จังหวัดภูเก็ต​ แต่ก็มีคำถามว่าหากเกิดระบาดซ้ำ ​จะมีแผนรองรับอย่างไร​ โดยเฉพาะแนวทาง​ 5T ที่รัฐบาลประกาศออกมาว่ามาตรการเปิดเมืองปลอดภัย​ แต่ยังไม่มีใครพูดถึงแผนรองรับ​ หากมีผู้ติดโควิด​-19 เล็ดลอดออกจากสถานที่กักกันโรค โดยหากต้องล็อกดาวน์บางพื้นที่จะสร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการรายย่อย

“เมื่อครั้งโควิดระบาดรอบแรกที่ภูเก็ต เอกชน​ ท้องถิ่นต้องช่วยเหลือตัวเอง และภาครัฐไม่ได้ลงมาดูแลเยียวยาอย่างจริงจัง​ มีการการล็อกดาวน์ทั้งจังหวัดส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง​ หากมีการระบาดซ้ำหลังเปิดรับนักท่องเที่ยว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ​”

นายปรีชา​ ยังเห็นด้วยว่าภูเก็ตโมเดลในระยะสั้น​ จะมีกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นสถานที่กักตัวทางเลือก ที่ได้รับประโยชน์ แต่ว่ารายย่อย​ ร้านค้าทั่วไป​ แท็กซี่รายวัน​ รถเช่า​ กรุ๊ปทัวร์ และอุตสาหกรรมในห่วงโซ่การท่องเที่ยวต่าง ๆ รอบนอกจะยังไม่ได้รับ​มากนัก หากจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดคือต้องเร่งเยียวยา ผู้ประกอบการรายย่อยที่กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สิน ที่หลายแห่งเริ่มปิดกิจการ บางแห่งก็มีนายทุนต่างชาติเข้ากว้านซื้อ​ ซึ่งจะกระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจภูเก็ต​ในระยะยาว

ขณะที่ ‘อมร อินทรเจริญ’​ ผู้ประกอบการธุรกิจด้านเครื่องประดับจากไข่มุกและมีฟาร์มหอยไข่มุก ระบุว่ส ได้รับผลกระทบจากโควิด​-19 โดยตรง​ ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อสินค้า​ ปัจจุบันปรับตัวขายสินค้าในรูปแบบออนไลน์​แทน

“การปรับตัวครั้งนี้มีบทเรียนที่ได้จากวิกฤต​สึนามิ​ เมื่อปี​ 2547 ที่ทำให้ต้องคิดแผน 1 แผน 2 รองรับเอาไว้เสมอ​ เมื่อเกิดวิกฤตโควิดก็ยังมีแผนสองไว้รองรับ”

นายอมร​ บอกว่า​รัฐบาลควรตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการ​ SMEs ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบ โดยในแต่ละปีจังหวัดภูเก็ตสามารถเก็บภาษีที่ได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 4 แสนล้านบาท หากนำเงินส่วนนี้แบ่งออกมาร้อยละ 10-20​ ตั้งเป็นกองทุนเยียวยาก็จะช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบได้

และอีกมาตรการสำคัญอยากให้มีการพักชำระหนี้ ส่งเสริมมาตรการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมถึงอาจจะให้หาดป่าตองเปิดตลอด 24 ชั่วโมง จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย อย่างจริงจัง

ด้าน​ ‘​วิทยา วงศ์วิเชียรกุล’​ เลขาธิการหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน​ กล่าวว่า​ สัดส่วนนักท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เป็นคนไทยเพียงร้อยละ 13 ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เป็นส่วนน้อย ก็สามารถเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นหากรัฐมีมาตรการส่งเสริมต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน​ กรณีสินเชื่อฉุกเฉิน หรือ Soft loan ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาว่าธนาคารไม่ได้อนุมัติปล่อยกู้​ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีประวัติค้างชำระหนี้ ราว 1-3 เดือน ธนาคารอาจเกิดความกังวลว่าจะเกิดหนี้เสีย​ จึงเห็นสอดคล้องว่ารัฐควรจะตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ​

สำหรับการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในวันที่ 4-6 ก.ย. นี้ ในนามหอการค้าอันดามัน​ และกลุ่มภาคประชาชน​ Phuket For​ All ก็จะเข้าพบ เพื่อหารือถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภูเก็ตที่ตรงจุดและปลอดภัยกับประชาชนภูเก็ต อย่างรอบด้านด้วย

“หาดป่าตอง” เปลี่ยนโฉม รับ​ “ไทยเที่ยวไทย​“

‘เฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์’ ​ นายกเทศมนตรี​เมืองป่าตอง​ กล่าวว่า​ การเปิดเมืองนั้น อย่างไรก็ต้องเปิด แต่เปิดอย่างไรจึงจะปลอดภัย มาตรการที่วางไว้จะบังคับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน​ นักท่องเที่ยวที่เข้าในโรงแรมกักตัวทางเลือกจะเล็ดลอดออกมาหรือไม่​ เชื่อว่าช่วงแรกของโมเดลเปิดเมืองภูเก็ต อาจจะยังไม่ส่งผลต่อรายย่อย​ แต่อย่างน้อยพนักงานที่ทำงานในโรงแรมขนาดใหญ่ก็ได้ผลประโยชน์ตามไปด้วย และหลังจากพ้นช่วงกักตัว 14 นักท่องเที่ยว​กลุ่มนี้ก็จะออกมาใช้จ่ายรอบ ๆ​ ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน​ อาจต้องใช้เวลาหน่อยแต่อย่างไรก็ต้องเริ่มเปิดเมือง เพื่อทดลองระบบการป้องกันโรค

สำหรับการปรับตัวในช่วงที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหายไป​ เทศบาลมีการจัดกิจกรรม “หรอย ริม เล​” ซึ่งจัดมา 3 ครั้ง​ ได้รับการตอบรับดีมาก

“เรายอมรับว่าที่ผ่านมา หาดป่าตองมีแต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อย​ พ่อค้า​ แม่ค้าอยู่รอด​ จึงต้องปรับตัวเปลี่ยนโฉมให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น​ เพื่อดึงดูดคนไทยให้มาท่องเที่ยว โดยหลังจากที่ประสบความสำเร็จก็วางแผนจะจัดอีเว้นท์ทุกอาทิตย์ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานราก​”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS