นปป. ประกาศ “ไทบ้านสิบ่ทน”

จัดปราศรัยกลางเมืองขอนแก่น สะท้อนปัญหาผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล คสช. พร้อมหนุน 3 ข้อเรียกร้อง นศ. ‘ไผ่ ดาวดิน’ เผาหมายเรียก สภ.ขอนแก่น

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2563 กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมประชาชนอีสานเพื่อประชาธิปไตย หรือ นปป จัดเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จังหวัดขอนแก่น โดยมีเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐร่วมสะท้อนปัญหา ทั้ง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ประเทศไทย กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และ กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล

ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของภาครัฐ ทั้งการจัดสรรที่ทำกิน การจัดการป่าไม้ ที่เป็นปัญหายืดเยื้อมานานหลายปี มีการดำเนินคดีกับคนยากไร้ และการรื้อถอนที่อยู่อาศัย ที่ทำกินตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งเกิดในยุครัฐบาล คสช. ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้น เครือข่ายภาคประชาชนอีสานจึงประกาศแสดงจุดยืนสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา คือ เรียกร้องให้ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ขณะที่ตัวแทนผู้หญิงอีสาน ปราศรัยโจมตีบทความของ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ที่เขียนดูถูกผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ ทำให้ผู้หญิงอีสานถูกเกลียดชัง ทั้งที่การแต่งงานถือเป็นสิทธิของทุกคนที่สามารถเลือกได้ โดยหลังการปราศรัยได้มีการรณรงค์ให้ทุกคนคำนึงถึงสิทธิของการแต่งงานของคนอีสานที่ควรมีความเท่าเทียม “Isaan Lives Matter”

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมได้จัดกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยการเขียนข้อความลงในผ้าขาว เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และสะท้อนความต้องการของประชาชนสื่อถึงรัฐบาลและผู้มีอำนาจใน 3 ข้อเรียกร้องหลักประกอบด้วย การหยุดคุกคามประชาชน การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและ ยุบสภา

ช่วงท้ายของการชุมนุม สมปอง เวียงจันทร์ แกนนำสมัชชาคนจน เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ “หยุดทุนนิยมถือปืน คืนอำนาจให้ประชาชน” เพื่อสนับสนุนแนวคิดของกลุ่มประชาชนปลดแอก โดยระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ปรากฏในขณะนี้ เกิดจากความอึดอัด คับแค้นใจของประชาชนต่อเผด็จการอำนาจนิยม ที่มุ่งสถาปนาอำนาจนำในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดยระบุถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายและการพัฒนาในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ประเภทต่าง ๆ โรงงานน้ำตาล พ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล เขตเศรษฐกิจพิเศษ การบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ นโยบายทวงคืนผืนป่าที่สร้างผลกระทบต่อคนจน ปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง และการทำลายสิทธิเกษตรกร และสิทธิบัตรยา ผ่านข้อตกลง CPTPP เป็นต้น

พร้อมแสดงจุดยืนว่า นปป. ไม่สามารถยอมรับอำนาจการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ได้อีกต่อไป และประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของคณะประชาชนปลดแอกอย่างถึงที่สุด พร้อมสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสุจริตชน ในประเด็นการแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเปิดพื้นที่ของการแสดงความคิดเห็นในประเด็น “สถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เพื่อยกระดับการสร้างสังคมประชาธิปไตยร่วมกัน และยืนยันไม่ขอยอมรับ “การทำรัฐประหาร หรือ รัฐบาลแห่งชาติ”

หลังจบกิจกรรมของกลุ่ม นปป. จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเผาหมายเรียกให้ไปรายงานตัวของ สภ.เมืองขอนแก่น ในวันที่ 28 ส.ค. 2563 จากกรณีทำกิจกรรมทางการเมือง พร้อมประกาศเชิญชวนให้ประชาชนร่วมปักหลักชุมนุมแบบค้างคืนที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ แยกคอกวัว กรุงเทพฯ วันที่ 27 ส.ค. นี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active