“รุ้ง” แกนนำนักศึกษา โพสต์ ยังปลอดภัย

ขอให้ช่วยจับตาห่วงถูกคุกคาม เครือข่ายนักวิชาการฯ เรียกร้อง “มหาวิทยาลัย” ต้องเป็นพื้นที่ตั้งคำถามและแสวงหาทางออกอย่างสันติ


ช่วงสายของวันนี้ (18 ส.ค. 2563) ‘ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล’ หรือ รุ้ง แกนนำนักศึกษาที่ขึ้นปราศรัยในกิจกรรมธรรมศาสตร์จะไม่ทน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Panusaya Sithijirawattanakul ระบุยังปลอดภัยดี มาเรียนหนังสือ แต่ขอให้ช่วยจับตา ห่วงถูกคุกคาม ขณะที่เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เรียกร้อง 3 ข้อมหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ในการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกอย่างสันติ ด้านท่าทีจากฝ่ายความมั่นคง แสดงออกชัดเจนว่าไม่สบายใจสถานการณ์การชุมนุม

ตอนนี้รุ้งยังปลอดภัยดี

หลังจากเมื่อคืนนี้ (12 ส.ค.) ปนัสยา และ ‘พริษฐ์ ชิวารักษ์’ หรือ เพนกวิน แกนนำ สหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) โพสต์ข้อความว่าตนถูกเจ้าหน้าที่ในและนอกเครื่องแบบมาเฝ้าอยู่หน้าหอพัก และได้รับข้อมูลว่าจะมีการจับกุมตัวเมื่อเวลา 05.00 น.

ข้อความระบุว่า “ตอนนี้รุ้งยังปลอดภัยดีนะคะทุกคน ขอบคุณทุกคนมาก ๆ ที่ช่วยกันติดตามสถานการณ์ ตอนนี้เรามาเรียนที่มอตามปกติค่ะ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตอนนี้ยังน่ากังวลมาก คงต้องรบกวนทุกคนให้ช่วยกันติดตามสถานการณ์ต่อ เพราะเขาคงไม่ปล่อยเราไว้นานแน่ ตัวรุ้งเองสภาพจิตใจตอนนี้ดีมากค่ะไม่ต้องห่วง เพราะยิ่งเขากดเรามากเท่าไหร่ ยิ่งเขากระทำกับเรามากเท่าไหร่ มันยิ่งตอกย้ำว่า เราต้องสู้กับใคร เพราะอะไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”

เครือข่ายนักวิชาการ ร่อนแถลงการณ์ ยันสิทธิแสดงออกในสถานศึกษา

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องมหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติของสังคม

โดยแถลงการณ์ระบุว่า ข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการหยุดคุกคามประชาชน การยุบสภา หรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการตั้งคำถามและพยายามพาสังคมไทยไปให้พ้นจากวิกฤตทางการเมืองที่สั่งสมมากว่าทศวรรษ เช่นเดียวกับข้อเสนอ 10 ข้อของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นการตั้งคำถามและพยายามหาทางออกให้กับความขัดแย้งในสังคมและการเมืองไทยอย่างสันติเช่นเดียวกัน

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงไม่ควรพุ่งเป้าไปที่ประเด็นการปราศรัยเกินกว่าที่แจ้งไว้ ด่วนตัดสินว่าการปราศรัยไม่เหมาะสมขัดศีลธรรม หรือจะไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยต่อไป หากแต่ควรคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้เป็นหลัก

โดย คนส. มี 3 ข้อเรียกร้องไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยรวมถึงภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมและรัฐ คือ 1) ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องอนุญาตให้นิสิตนักศึกษารวมถึงประชาชนได้ใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ ไม่หวาดกลัวต่ออำนาจอธรรม ความไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะมาในรูปแบบใด อีกทั้งเป็นการป้องกันนิสิตนักศึกษาจากความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

2) ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมพึงพิจารณาข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาอย่างมีสติ ด้วยเหตุด้วยผล ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร โดยมีประโยชน์ของสังคมเป็นตัวตั้ง พร้อมกับแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ

และ 3) รัฐต้องเคารพในสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยสันติของประชาชนที่ได้รับการรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ ต้องไม่ขัดขวางการจัดกิจกรรมทางการเมืองในสถานศึกษา ต้องบังคับใช้กฎหมายตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่ตั้งข้อหาหรือดำเนินคดีกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสันติและแสดงความเห็นโดยสุจริต รวมถึงต้องอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมชุมนุม และป้องกันไม่ให้มีการประทุษร้ายนิสิตนักศึกษาเพียงเพราะพวกเขาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในครรลองระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ออกแถลงการณ์ ระบุ ประเด็นการปราศรัยไม่ขัดกฎหมาย เป็นการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ขอให้คณะผู้บริหารยืดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ความถูกต้องและเป็นธรรม โดย อมธ. ขอยืนหยัดอยู่เคียงข้างนักศึกษาและพร้อมจะเผชิญปัญหาเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย ความถูกต้องและเป็นธรรม

“ธรรมศาสตร์” ขอแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์

ก่อนหน้านี้ (11 ส.ค.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เนื้อหาระบุว่า จากกรณีที่เครือข่ายนักศึกษาและประชาชนจัดการชุมนุมทางการเมือง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน มธ. ขอแสดงความเสียใจและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

พร้อมยืนยัน ตลอดระยะเวลา 86 ปี ที่ผ่านมา มธ. ได้ดำรงตนอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์สังคม และการเมืองบนหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดกว้างทางความคิดเห็น และส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จึงได้อนุญาตให้ใช้สถานที่ใน มธ.ศูนย์รังสิต จัดกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่ขอไว้

แต่เมื่อเกิดการแสดงออกนอกเหนือขอบเขตที่ได้ขออนุญาต มธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะดำเนินการตามมาตร การภายใต้บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่รับผิดชอบต่อสังคม โดยระบุ การแสดงออกที่เกินกว่าขอบเขตเป็นเรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคลของผู้ที่แสดงออก ซึ่งได้มีการตกลงระหว่างผู้จัดและเจ้าหน้าที่ตารวจในประเด็นนี้ก่อนการจัดชุมนุมแล้ว

ส่วนการแสดงออกของผู้ที่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ไม่เหมาะสมนั้น มหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างเป็นธรรมตามข้อเท็จจริงภายใต้ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และจะป้องกันมิให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยจะเคร่งครัดเรื่องการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัย และจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมที่มีลักษณะเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย

กองทัพเรือ – กลาโหม “ไม่สบายใจ”

สำหรับท่าทีของฝ่ายความมั่นคง ชัดเจนว่าไม่สบายใจสถานการณ์การชุมนุมทั้งกระทรวงกลาโหม และกองทัพเรือ โดยเฉพาะการเรียกร้องในประเด็นละเอียดอ่อน ซึ่งอาจนำมาสู่ความแตกแยกของสังคม

พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ แสดงท่าทีไม่สบายใจต่อการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา โดยเฉพาะความแตกต่างทางความคิดของกลุ่มคน 2 กลุ่มที่เป็นเยาวชน จึงต้องชี้แจงทำความเข้าใจถึงหลักการและเหตุผลร่วมกัน โดยเปรียบเทียบว่า ประเทศไทยก็เหมือนครอบครัวใหญ่อาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้าง แต่อย่าให้มองเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือคู่ขัดแย้งกัน ยืนยันว่ากองทัพเรือพร้อมที่จะร่วมแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาล

ขณะที่ พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่า ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลกับสถานการณ์การชุมนุมที่มีการเรียกร้องในประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งอาจนำมาของความแตกแยกของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่เกินขอบเขตของกฎหมาย จึงอยากเตือนสติที่ต้องระมัดระวังต่อการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม

โฆษกกระทรวงกลาโหมชี้ว่า ฝ่ายความมั่นคงยึดมั่นเคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ที่ถูกกำหนดควบคู่กับหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการชุมนุมและการแสดงออกถือเป็นสิทธิและเสรีภาพของทุกคนที่สามารถทำได้ภายใต้กรอบกฎหมาย ขณะเดียวกันทุกคนต้องมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความแตกแยกเกลียดชังกันในสังคม และจากเหตุชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อค่ำคืนวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมาทำให้เกิดปฏิกิริยาที่มีทั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนและคัดค้าน

Author

Alternative Text

The Active

กองบรรณาธิการ The Active