โหวตรับ-ไม่รับ ร่าง รธน. ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ แนะรับทั้ง 7 ร่าง แก้การเมืองด้วยการเมือง

จับตา ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ นักรัฐศาสตร์แนะผู้มีอำนาจต้องตัดสินใจให้ดี ไม่ส่งสัญญาณปิดประตูรับข้อเสนอสันติในระบบ เปิดทางความขัดแย้งทะลักสู่ท้องถนน

วันนี้ (17 พ.ย. 2563) การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับ หรือไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 7 ฉบับเริ่มขึ้นแล้ว ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลยืนยันจะลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือร่างแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.ของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่จะไม่เห็นชอบร่างแก้ไขรายมาตราอีก 4 ฉบับ ขณะที่ร่างของภาคประชาชน หรือ ฉบับไอลอว์ แม้จะมีหลักการคล้ายกันคือให้แก้มาตรา 256 แต่มีความต่างที่เปิดกว้างแก้ทุกหมวด ขณะที่ร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านกำหนดชัดเจนไม่ให้แก้ไขในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านระบุจะโหวตรับหลักการทั้ง 7 ฉบับ รวมถึงร่างฉบับไอลอว์ ด้วยเหตุผลเป็นร่างที่ประชาชนเสนอ และหวังให้รัฐสภาเป็นกลไกแก้ปัญหาทางการเมือง

ส่วนสมาชิก ส.ว. ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการชี้ขาดว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านวาระแรก ยังคงมีความเห็นแตกต่างกัน ทั้งไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ เห็นด้วยกับร่างแก้ไข 2 ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล และเห็นด้วยเฉพาะการแก้รายมาตรา ซึ่งเป็นร่างของพรรคฝ่ายค้าน เช่น ตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และยกเลิกบัตรเลือกตั้งใบเดียว กลับไปใช้แบบ 2 ใบ

ขณะที่ ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การประชุมร่วมรัฐสภาครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้มีอำนาจ และพรรคการเมือง ต้องตัดสินใจให้ดี เพราะ พรรคการเมือง และ ส.ส.ในสภาฯ คือตัวแทนประชาชน ต้องฟังเสียงประชาชน ซึ่งขณะนี้ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญเริ่มก่อตัวเป็นฉันทามติแล้ว พร้อมแนะให้รับหลักการร่างแก้ไขทั้ง 7 ฉบับ เพื่อส่งสัญญาณ ไม่ปิดประตูในระบบ ไม่เช่นนั้นการเมืองบนท้องถนนจะรุนแรงขึ้น

“ทางออกที่ดีที่สุด คือรับทั้ง 7 ร่างแล้วค่อยไปปรับแก้ในชั้นแปรญัตติ แต่หากไม่รับเลย หรือ รับบางร่าง จะทำให้เกิดความตึงเครียด ผู้ชุมนุมอาจรู้สึกว่า แม้แต่ข้อเสนอที่สันติที่สุด เพื่อปฏิรูปการเมืองผ่านระบบรัฐสภา ก็ยังถูกปิดกั้น ถ้าประตูในระบบถูกปิด ความขัดแย้งจะทะลักลงท้องถนน”

ผศ.ประจักษ์ ระบุด้วยว่า การเมืองทั่วโลกมีความเหมือนกันคือ หากประตูในระบบปิดลง การเมืองบนท้องถนนก็จะรุนแรง เราจึงต้องพยายามหาทางออกในระบบให้มากที่สุด

สำหรับร่างรัฐธรรมนูญที่จะผ่านความเห็นชอบในวาระแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดไว้ว่า ต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกทั้งหมด 732 คน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง คือต้องมีสมาชิกเห็นชอบด้วย 366 คนขึ้นไป โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 245 คน นั่นเท่ากับต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วย 82 คนขึ้นไป โดยการออกเสียงลงคะแนนวาระหนึ่ง ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พเยีย พรหมเพชร