Thailand Web Stat

กพฐ. ไฟเขียวให้แสดงออกทางการเมืองใน รร. ได้

ร่อนหนังสือด่วนที่สุด ให้ผู้บริหารโรงเรียน คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพนักเรียนภายใต้กฎหมาย เพื่อความปลอดภัย ย้ำ ห้ามคนนอกร่วมชุมนุม

วันนี้ (18 ส.ค. 2563) คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ส่งหนังสือด่วนที่สุด ลงนามโดย นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการ กพฐ. ถึง ผู้อำนวยการสำนักเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตทั่วประเทศ (สพท.) เรื่อง การชุมนุมของนักเรียนในสถานศึกษา โดยให้โรงเรียนในสังกัด เปิดพื้นที่ให้สถานศึกษาดำเนินกิจกรรมในการแสดงความคิดเห็นภายใต้หลักการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยขอให้ผู้บริหารโรงเรียนคำนึงถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและปลอดภัยของนักเรียน โดยไม่ให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมชุมนุม

โดยระบุรายละเอียดในหนังสือฉบับดังกล่าวว่า เป็นไปตามการขอความอนุเคราะห์พิจารณา ของคณะกรรมาธิการวิสามัญ รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ จึงขอให้เปิดพื้นที่ให้นักเรียนแสดงความเห็นหรือการชุมนุมภายในสถานศึกษาดังกล่าว

ด้าน องค์การยูนิเซฟ (องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายปกป้องเด็กและเยาวชนท่ามกลางการชุมนุมในประเทศไทย โดยระบุว่า รู้สึกกังวลต่ออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของเด็กและเยาวชน พร้อมร่วมกันปกป้องพวกเขาจากความรุนแรงและการถูกคุกคามทุกรูปแบบ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองมากที่สุดในโลก ที่รับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็ก เสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งรวมถึงการชุมนุมอย่างสันติ โดยประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กใน พ.ศ. 2532 โดยให้คำมั่นว่าจะดำเนินการเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เข้าถึงสิทธิที่พวกเขาพึงมี ซึ่งรวมถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นอย่างสันติโดยได้รับการรับฟัง

ก่อนหน้านี้ (17 ส.ค.) ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่นักเรียนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชู 3 นิ้วในโรงเรียนหลายแห่ง พร้อมกับเผยแพร่ภาพลงในสื่อสังคมออนไลน์ว่า นักเรียนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก แต่ต้องมีขอบเขต และควรระมัดระวังเรื่องการท้าทาย หรือการแสดงออกที่อาจทำให้เกิดความแตกแยก จึงอยากให้ทุกฝ่ายพิจารณาอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันก็พร้อมเป็นตัวแทนรัฐบาลพูดคุยกับนักเรียนและนักศึกษา

ส่วนกรณีที่ครูทำโทษนักเรียน ประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ทางโรงเรียนสามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ หากพบว่าครูลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ เพราะปกติแล้วการลงโทษนักเรียนสามารถทำได้ 4 สถาน คือ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548

Author

Alternative Text

The Active

กองบรรณาธิการ The Active