โจทย์ท้าทาย เปิดเทอม(ระลอก)ใหม่

: เช็กความพร้อม ชั่งน้ำหนัก ก่อนเปิดโรงเรียน

“หนูอยากไปโรงเรียน” ประโยคสะท้อนใจ จากเด็ก ๆ หลายคนที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อ กำลังบอกว่า พวกเขารอคอยและนับถอยหลังให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่แสนเนิ่นนานนี้ เพื่อให้ได้กลับเข้าโรงเรียนอีกครั้ง

เด็ก ๆ หลายพื้นที่ ต้องอยู่กับการเรียนออนไลน์มานานกว่า 1 ภาคเรียน โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดของโควิด-19 ที่ “ปิด ๆ เปิด ๆ โรงเรียน” ทำให้การเรียนรู้ของพวกเขา ขาดช่วง

ยังไม่นับว่ามีเด็กอีกมากกว่า 4 หมื่นคน ที่ไม่สามารถกลับเข้าโรงเรียนได้ในเทอมนี้ เพราะ “ความไม่พร้อม” และ “ความยากจน” ข้อมูลนี้ ยืนยันโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่า ครอบครัวเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศไทย ไม่พร้อมที่จะให้ลูกเรียนออนไลน์ และ ไม่มีเวลาคอยช่วยลูกให้เรียนออนไลน์ได้

การศึกษาหลายฉบับพบว่า ประสบการณ์เชิงบวกในโรงเรียนของเด็ก จะเป็นตัวบ่งชี้อนาคตด้านสังคม อารมณ์ และการศึกษาของเด็ก ๆ ขณะเดียวกัน หากพวกเขาขาดการเรียนรู้และพัฒนาการในช่วงปีแรก จะส่งผลไปตลอดช่วงการศึกษา และช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างเด็กสองกลุ่มก็จะกว้างขึ้นเรื่อย ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น เด็กเล็ก รวมถึง การเข้าเรียนปีแรกในชั้นประถมศึกษา ยังเป็นการวางรากฐานสำหรับการเรียนรู้ในอนาคต ตั้งแต่การเริ่มหัดอ่าน เขียน และคำนวณ ซึ่งถูกชะลอออกไป อีกทั้งการเรียนในชั้นเรียน ยังช่วยให้เด็กได้ฝึกฝนการเป็นตัวของตัวเอง ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และสร้างความสัมพันธ์กับคุณครูและเพื่อน ๆ

เฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูนิเซฟ บอกว่า การเรียนในห้องเรียนจะช่วยให้ครูสังเกตเห็นว่า เด็กคนใดมีการเรียนรู้ช้า หรือมีปัญหาทางจิตใจ หรือถูกทำร้าย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาวะของเด็กอย่างมหาศาล

สำหรับเด็กไทยแล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 7 ใน 10 คน มีความเครียด วิตกกังวล และเบื่อหน่าย และมาตรการปิดโรงเรียนทำให้เด็กและเยาวชนเกินครึ่งรู้สึกกังวลด้านการเรียน การสอบ โอกาสในการศึกษาต่อ และการจ้างงานในอนาคต

อีก 1 สัปดาห์กว่า หลายโรงเรียนที่พร้อม จะเปิดประตูต้อนรับเด็ก ๆ กลับสู่รั้วโรงเรียนอีกครั้ง แม้กระทรวงศึกษาธิการจะยืนยันว่า “ไม่บังคับ” หากมีโรงเรียนใด “ยังไม่พร้อม”

The Active รวบรวมข้อมูล ที่เป็นผลจาก “การศึกษา” ที่ชะงักงันมาเป็นเวลานาน นำมาสู่ความพยายามของหลายหน่วยงาน เพื่อจะทำให้ “เด็ก ๆ” ได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกัน การที่พวกเขาจะกลับเข้าสู่รั้วโรงเรียนอย่างปลอดภัย อาจต้องเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการมีแผนรับมือที่ดี ดังนั้น มีข้อเสนอหรือทางเลือกอย่างไรบ้าง ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้


“Learning loss” หรือ “ความรู้ถดถอย” หลักไมล์แรกของความหวัง “คืนโรงเรียนให้เด็ก”

หากเปรียบการรับมือสถานการณ์โควิด-19 เป็นการยื้อชีวิตผู้คนทั้งประเทศจากโรคร้าย “ปิดสถานศึกษา” เพื่อจำกัดจำนวนคน เป็นเหมือนยาเม็ดแรกที่ใช้ประคองความสูญเสีย แต่ไม่สามารถประคองอาการบางอย่าง

“เลื่อนเปิดเทอม” ครั้งแรก ได้เริ่มต้น เมื่อภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 อยู่บนเส้นยาแดงของการระบาด ทำให้ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เลื่อนภาคเรียนใหม่ จาก 16 พฤษภาคม เป็น 1 กรกฎาคม ที่เด็ก ๆ สลับฟันปลาไปโรงเรียนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง กระทั่งการระบาดใหญ่เกิดขึ้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ช่วงธันวาคม 2563 ที่ทำให้ ‘กระทรวงศึกษาธิการ’ ประกาศปิดสถานศึกษา 28 จังหวัด ด้วยเหตุพิเศษ 4-31 มกราคม 2564

200 วันของการกำหนดวันเรียน เหลือราวครึ่งเดียว ความไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ และความยากจน ทำให้การศึกษาไทยเดินทางมาเจอคำว่า “Learning loss” หรือ “ความรู้ถดถอย” ที่ ‘กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ นำสถานการณ์ในสหรัฐอเมริกาช่วงปิดเรียน Summer 6 สัปดาห์ พบว่า ความรู้ถอยหลังถึงครึ่งปีการศึกษา ขณะที่ไทยปิดเทอมยาว 4 เดือน ความรู้ของผู้เรียนจึงมีแนวโน้มสูญหายมากกว่านั้น

หลักฐานปรากฏชัดว่า “Learning loss” ในไทยมีจริง เมื่อ ‘รศ.วีระชาติ กิเลนทอง’ คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำทีมนักวิจัยเข้าทดสอบเด็กปฐมวัยในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 25 จังหวัด ช่วงมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ทักษะโดยรวม “ด้านภาษา, ความรู้สึกเชิงจำนวน, ความสามารถในการอ่าน, การปฏิบัติตามคำสั่ง, ความรู้สึกเชิงจำนวน, ความจำ, การจัดเรียงลำดับข้อมูล, การเคลื่อนไหวร่างกาย, การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และทักษะสมองขั้นสูง EF และการจัดการตนเอง” ของเด็ก 3-6 ขวบ “ถดถอย”

“ถดถอย” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามีความรู้น้อยลง แต่หมายถึง ถ้าเปิดโรงเรียนทักษะเด็กจะไปได้ไกลขนาดไหน เช่น จดจำเลขและตอบได้ว่า เลขนั้นคืออะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “หยุดเรียนไป 1 เดือน ทักษะด้านต่าง ๆ ก็หายไปเกือบ 1 เดือน” ยิ่งปิดนานเท่าไร ทักษะก็หายไปเกือบเท่านั้น โดยเฉพาะภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 “นักเรียนในพื้นที่สีแดงเข้ม ไม่ได้ไปโรงเรียนเลย”

ถึงแม้ ‘กระทรวงศึกษาธิการ’ จะพยายามปรับไปสู่รูปแบบการเรียนรู้ทางไกล แต่ก็ช่วยพยุงได้เพียงส่วนน้อย ยืนยันจากผลการศึกษา ‘ธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย’ เกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ตั้งแต่มกราคม 2563 ถึงปัจจุบัน ประเทศที่ถือว่าจัดการศึกษาออนไลน์ในระดับที่ประสบความสำเร็จ เช่น จีน ครูกว่า 70% ยืนยันว่า เครื่องมือและระบบที่พร้อม มีความเสถียร ช่วยให้การจัดการศึกษาเข้าถึงนักเรียนได้เพียง 60%

ผลการศึกษาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า “การจัดการศึกษาทางไกล” ทำให้ความรู้ของเด็กนักเรียนสูญหายไปราว 50% หรือประมาณครึ่งปี หากสถานการณ์ยังต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี 2564 อัตราการสูญหายทางการเรียนรู้ของเด็ก จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ปี คาดการณ์ผลที่จะเกิดกับเศรษฐกิจในอนาคตว่ามีมูลค่าความสูญเสียมากกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ 

สำหรับ ‘ประเทศไทย’ ที่มีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง ผลกระทบจะมากกว่านั้น ถ้าธันวาคมนี้ ยังไม่สามารถไปโรงเรียนได้ อัตราการสูญเสียการเรียนรู้จะอยู่ที่ประมาณ 1.27 ปี คิดความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 3.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่ากับ 30% ของ GDP  ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ได้สูญเสียทักษะประสบการณ์ในช่วงวัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่จะทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยทุนมนุษย์ที่สูญเสียไปในช่วงนี้ จะลดทอนศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจโดยตรง

นี่จึงเป็นเหตุผลของการอยาก “เปิดโรงเรียน” ที่หลายฝ่ายตั้งความหวังไปที่ฟื้นคืนศักยภาพของทุนมนุษย์รุ่นนี้


การเปิดโรงเรียนมีความเสี่ยง! เช็กความพร้อมรับมือ “ระลอกใหม่”

เปิดเทอมใหม่ อาจมีความหมายมากกว่าการได้กลับไปใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียน รวมไปถึงความรู้และทักษะที่จะได้รับจากห้องเรียน แต่ข้อห่วงกังวลในมุมการแพทย์และสาธารณสุข ที่เพิ่งผ่านพ้นช่วงวิกฤตของระบบสุขภาพจากการระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้การเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์ “ที่อาจจะเกิดขึ้น” เป็นเรื่องที่สำคัญ

ในภาวะปกติ เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐ ก็มีอัตราครองเตียงที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ยังไม่นับว่าในโรงพยาบาลหลายแห่งมีอัตราผู้ป่วยครองเตียงสูงเกิน 100%

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกรุงศรี ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2563 ระบุว่า แม้จำนวนสถานพยาบาลของรัฐจะมีอยู่มาก แต่ยังไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วยในบางพื้นที่ โดยพิจารณาจาก (1) อัตราการครองเตียง (Bed occupancy rate) ของโรงพยาบาลรัฐในบางจังหวัด ใกล้เคียง 100% หรือสูงกว่า เช่น เลย (126%) มุกดาหาร (100%) กาญจนบุรี (97%) ปทุมธานี (94%) และสุราษฏร์ธานี (90%) สะท้อนถึงจำนวนผู้ป่วยในมีมากกว่าจำนวนเตียงที่ให้บริการ และ (2) การใช้บริการกรณีเป็นผู้ป่วยนอก ยังต้องใช้เวลารอนาน

แต่หากมองทางเลือก จากศักยภาพของเตียงในโรงพยาบาลเอกชน ที่พอจะมีความพร้อมรองรับผู้ป่วยที่มีกำลังในการเข้าถึง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีมากถึง 116 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 31.4% ของจำนวนโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดของประเทศ ในจำนวนนี้ มีจำนวนเตียงอยู่ 1.4 หมื่นเตียง แต่นอกจากกำลังในการเข้าถึงการรักษาของโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ความพร้อมเหล่านี้ อาจไม่เพียงพอรองรับในจังหวัดสีแดงเข้มอื่น ๆ นอกจากกรุงเทพมหานคร

ช่วงโควิด-19 ระบาดสูงสุดกลางเดือนสิงหาคม 2564 ประเทศไทยพยายามเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลสนามได้มากกว่า 2 หมื่นเตียง ยังไม่นับการรักษาในรูปแบบ Home Isolation และ Community Isolation แต่เมื่อเริ่มมีการปรับตัว กล่าวคือ มากไปกว่าศักยภาพของเตียงแล้ว ยังมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่อยู่ในภาวะเหนื่อยล้า ทางเลือกแบบรักษาตัวเองที่บ้านหรือชุมชน จึงถูกเข้ามาแทนที่ สิ่งนี้ทำให้โรงพยาบาลสนามหลายแห่งทยอยปิดตัวลง นับตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา

ล่าสุด คือ โรงพยาบาลสนามภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ที่เพิ่งประกาศปิดโรงยิมเนเซียมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามสำรองมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564

ขณะที่สถานการณ์โรงพยาบาลสนามที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ศูนย์ปฏิบัติการและบริหารสถานการณ์การระบาดฯ ของ ศปก.อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ข้อมูล ณ วันที่ 17 ตุลาคม ระบุว่า ทั่วประเทศ มีศักยภาพในการรองรับได้อีก 10,482 เตียง จากทั้งหมด 15,432 เตียง

หากดูจากภาพรวมสถานการณ์เตียง จะเห็นว่าในจังหวัดที่ยังคงพบการระบาด เช่น กลุ่มจังหวัดสีแดงเข้ม ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคกลาง มีอัตราครองเตียงอยู่ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 20 หมายความว่า ยังพอมีศักยภาพในการรองรับได้อีกระดับหนึ่ง แต่ในกลุ่มจังหวัดระบาดสีแดงเข้ม ยังมีจังหวัดในภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งในจังหวัดเหล่านี้ มีโรงพยาบาลสนามของ ศปก.อว. อยู่แต่ก็ถูกใช้ไปมากกว่าครึ่ง และในบางจังหวัด มีเตียงว่างอยู่ในหลักสิบเท่านั้น เช่น ภาคตะวันออก ในจังหวัดฉะเชิงเทรา จันทบุรี และจันทบุรี หรือ ภาคใต้ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

คำถามสำคัญ คือ นอกจากโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามในสังกัดของ อว. แล้ว หน่วยงานอื่น ๆ เช่น หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด หรือ สีแดงเข้ม ทั้ง 23 จังหวัด มีการเตรียมความพร้อม และแผนรับมือความเสี่ยงการระบาดระลอกใหม่หลังเปิดโรงเรียน ที่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ไว้อย่างไร?

ศ. นพ.ขจรศักดิ์ ศิลปโภชากุล หน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยกตัวอย่างสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายประเทศ ที่สัมพันธ์กับการเปิดโรงเรียนในมิติต่าง ๆ แม้ข้อมูลส่วนใหญ่จะแสดงว่า การเปิดโรงเรียนไม่ใช่จุดเริ่มต้น (Initiator) ของการระบาด และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการระบาดในชุมชนมากขึ้น

แต่สำหรับประเทศไทย แม้การระบาดในโรงเรียนอาจไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาดในระลอกใหม่ แต่ ศ.นพ.ขจรศักดิ์ มองว่า “น่าจะมีการเพิ่มของเคสหลังจากโรงเรียนเปิดมากกว่าการไม่เพิ่ม” โดยยกปัจจัยเรื่อง ภูมิคุ้มกัน (ทั้งจากวัคซีนและแอนติบอดีหลังติดเชื้อ) และ ข้อมูลการระบาดในเด็ก ทั้งที่ยังไม่เปิดโรงเรียน เช่น ในจังหวัดหนองคาย ขอนแก่น และกระบี่ พร้อมข้อมูลจากกรมอนามัย ที่ระบุว่าเฉพาะแค่เดือนสิงหาคม มีเด็กติดเชื้อมากกว่า 6 หมื่นคน


เช็กวัคซีนที่แขนเด็ก พร้อมเปิดโรงเรียนไหม?

ตั้งแต่ 4 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา นักเรียนอายุระหว่าง 12 – 18 ปี ที่มีความพร้อมและประสงค์จะฉีดวัคซีน 3.72 ล้านคน จากทั้งหมดกว่า 5 ล้านคน ทยอยรับการฉีดวัคซีนชนิด mRNA “ไฟเซอร์” แล้วในหลายจังหวัด โดยเริ่มจากนักเรียนในสถานศึกษา พื้นที่สีแดงเข้ม 15,465 แห่งใน 29 จังหวัด (ณ ขณะนั้น) เช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก 2 ล้านโดสกระจายให้ทุกจังหวัด และไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดของการฉีด

หากนับจากวันแรกของการฉีดวัคซีนในเด็ก ผ่านไปสองสัปดาห์ ข้อมูล ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กนักเรียนไปแล้ว 1,106,202 คน หรือคิดเป็น 22% ของนักเรียนทั้งหมด โดยพบว่าในภาคตะวันออก มีจำนวนนักเรียนได้รับวัคซีนมากที่สุด คือ 28%

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุความคืบหน้าการฉีดวัคซีนให้นักเรียนจนถึงเวลานี้ (21 ต.ค.) ว่าฉีดวัคซีนให้นักเรียนแล้ว 2 ล้านโดส ส่วนเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนนั้น เขาอ้างถึงการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่นำมาฉีดให้นักเรียนอายุ 12-18 ปี นั้น ต้องฉีด 2 เข็ม จึงจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ส่วนความกังวลเรื่องการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ผู้เชี่ยวชาญได้ประชุมหารือกันพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลข้างเคียง แต่อาการที่เกิดขึ้นนั้นค่อนข้างน้อย หากเทียบกับเด็กที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย (MIS-C) รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการจากโรคจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าการฉีดวัคซีน อีกทั้งผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมักจะหายเองได้ จึงได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 ในเด็กผู้ชายต่อไป แต่เป็นไปตามความสมัครใจ ขึ้นกับความประสงค์ของผู้ปกครองและนักเรียน

ส่วน สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้การฉีดวัคซีนไฟเซอร์แก่เด็กนักเรียน ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากส่วนหนึ่ง เกิดจากวัคซีนกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ล่าช้า ซึ่งเข้ามาเพียงสัปดาห์ละ 1.5 ล้านโดสเท่านั้น และบางจังหวัดอาจจะไม่ได้รับวัคซีนตามวัน เวลาที่กำหนด รวมถึงมีความเข้าใจผิดในบางเรื่อง เช่น ทางสาธารณสุขเข้าใจว่านักเรียนอายุ 18 ปี ตามบัญชีรายชื่อไม่ต้องฉีดไฟเซอร์ก็ได้ พร้อมกับระบุว่า เงื่อนไขการฉีดวัคซีนดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับการเปิดเทอมในภาคเรียนที่ 2/2564 เนื่องจากหากสถานศึกษาไหนไม่พร้อม ก็สามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสมได้ โดยคาดว่า วัคซีนเข็มแรกจะฉีดแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม และคาดว่าจะฉีดวัคซีนเข็มสองได้ในสิ้นเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนชนิดเชื้อตาย “ซิโนฟาร์ม” ในโครงการ “VACC 2 School” ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทยอยฉีดวัคซีนให้นักเรียนมาตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2564 ในกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ 108,319 คน จาก 132 โรงเรียน

สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น ได้รับวัคซีนแล้ว ร้อยละ 82 และยังมีการขอรับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง รมว.ศธ. ระบุว่า ได้ประสานงานร่วมกับกรมควบคุมโรค เพื่อที่จะขอรับการจัดสรรวัคซีนให้แก่กลุ่มครูที่ยังไม่ได้รับวัคซีนต่อไป


“อิสราเอล” กับคลัสเตอร์เปิดโรงเรียน ปัจจัยเสริมนำไปสู่การระบาดใหม่

แม้ อิสราเอล จะเป็นประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ขนานใหญ่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 และฉีดครบ 2 โดสให้แก่ประชากรเกิน 50% เมื่อสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2564 แต่เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากวัคซีนไฟเซอร์ จะเริ่มลดลง 6-8 เดือนหลังจากการฉีดโดสที่ 2 ทำให้ประชากรเหล่านี้เริ่มสูญเสียภูมิคุ้มกันจากวัคซีน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564

ขณะเดียวกัน ไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา (Delta Variant) กำลังเริ่มระบาด ทำให้การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ตั้งแต่การยกเลิกบังคับใส่หน้ากากภายในอาคาร ในโรงเรียน และในขนส่งสาธารณะ หรือการยกเลิกการบังคับเปลี่ยนหน้ากากบนเครื่องและการบังคับลดการให้บริการบนเครื่องบิน ฯลฯ ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนเมื่อการระบาดกลับมา

ส่วนการกลับมาเรียนในโรงเรียนของนักเรียน ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม 2564 แม้ว่าครูและบุคลากรทุกคนในโรงเรียนจะได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว แต่นักเรียนส่วนน้อยเท่านั้นที่เคยได้รับวัคซีน นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การระบาดสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าโรงเรียนในอิสราเอลจะปิดเทอมช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม

การระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นจากหลายปัจจัย “อิสราเอล” มีวิธีรับมืออย่างไร?

หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน จนมีจำนวนเกิน 1,000 คนต่อวันในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม และเกิน 2,000 คนต่อวันเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม รัฐบาลอิสราเอลใช้มาตรการเหล่านี้

  • มิถุนายน เริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียนอายุ 12-15 ปี
  • ตั้งแต่ 25 มิถุนายน กลับมาบังคับใส่หน้ากากภายในอาคาร
  • ตั้งแต่ 29 มิถุนายน กลับมาบังคับให้ใช้ Green Passport กับงานอีเวนต์ภายในอาคารที่มีผู้เข้าร่วมงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป และอนุมัติให้มีการฉีดโดสที่ 3 แก่ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ตั้งแต่ 27 กรกฎาคม อนุมัติให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 1 ml (ปกติ 3 ml) ให้เด็กอายุ 5-11 ปี ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง คือ มีอาการของโรคอ้วน (Body Mass Index มากกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 99 โดยจำแนกตามอายุและเพศ) โรคปอดเรื้อรัง ความผิดปกติของพัฒนาการระบบประสาท ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure) ภาวะโลหิตจางเซลเคียว (Sickle Cell Anemia) หรือโรคภูมิต้านทานตนเองแบบรุนแรงชนิดต่าง ๆ
  • ตั้งแต่ 8 สิงหาคม ฟื้นฟูระเบียบต่าง ๆ เพื่อชะลอการระบาด”

สำหรับปัจจัยที่ทำให้อิสราเอลควบคุมการระบาดให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทยอยลดลงหลังการเปิดโรงเรียนในเดือนกันยายน คือ การที่รัฐบาลออกมาตรการต่าง ๆ ได้ทันท่วงที แต่อีกปัจจัยสำคัญและน่าจะมีผลเป็นอย่างมาก คือ เดือนกันยายนเป็นเดือนแห่งวันหยุดสำคัญทางศาสนา (Major Holidays) ต่อเนื่องหลายวัน ซึ่งห้ามทำงาน ห้ามเขียนหนังสือ ห้ามขับรถ

เยอรมนี ไม่เลือกวิธีปิดโรงเรียน เพราะ “ไม่คุ้ม”

ขณะที่นักวิชาการด้านการศึกษาในเยอรมนี ร่วมกันเผยแพร่บทความ “การปิดโรงเรียนไม่จำกัดการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัสในเยอรมนี” ที่แสดงข้อมูลว่า ประโยชน์ของการปิดโรงเรียน อาจไม่มีค่าสูงพอกับความสูญเสียที่เกิดแก่เยาวชนและผู้ปกครอง อีกทั้ง การปิดโรงเรียนเป็นหนึ่งในนโยบายในการต่อสู้กับโรคระบาดที่มีความย้อนแย้งมากที่สุด เพราะมีต้นทุนที่สูงมาก หนึ่งในนั้น คือ กระทบต่อการเรียนการสอนต่อเนื่องยาวนาน และกระทบกับการเรียนรู้ของเด็ก


“Safety zone in School” หลักเกณฑ์เปิดโรงเรียนของ ศธ.

“เปิดโรงเรียนปลอดภัย” ถ้าโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาผ่านเกณฑ์ความความพร้อม 1 พฤศจิกายน นี้ ก็จะสามารถเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ที่โรงเรียนได้

โดยเกณฑ์การประเมิน ยึดตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 20 กันยายน 2564 “หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา” ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) แบ่งความเข้มข้นตามระดับสีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระบาด

“ด้านกายภาพ” ทุกโรงเรียน ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เช่น ตรวจวัดอุณหภูมิ มีแอลกอฮอล์ล้างมือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากป้องกันตลอดเวลา สำหรับ “โรงเรียนพื้นที่สีแดงถึงสีแดงเข้ม” จัดการเรียนไม่เกินห้องละ 25 คน

“ด้านการเข้าถึงวัคซีน” โรงเรียนในพื้นที่สีเขียวถึงเหลือง “ครูและบุคลากร” ต้องได้รับวัคซีนครบโดสไม่น้อยกว่า 85% ส่วนพื้นที่สีแดงถึงสีแดงเข้ม “ครูและบุคลากร” ต้องได้รับวัคซีนครบโดส 85-100% และคาดหวังให้นักเรียนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70%

“ด้านการคุมระบาดด้วยชุดตรวจ ATK” ระบุให้ โรงเรียนในพื้นที่สีแดงเข้ม ตรวจสัปดาห์ละ 2 ครั้ง พื้นที่สีแดงถึงสีเหลือง สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง สีเขียวไม่ตรวจได้ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า การตรวจ ATK อาจไม่นำมาเป็นตัวกำหนดหลักของการเปิดโรงเรียน

ประเด็นสำคัญ คือ “นักเรียน ครู และ บุคลากรทางการศึกษา” จะต้องได้รับการวัคซีนให้ครบโดส โดยการตรวจ ATK อาจใช้เฉพาะโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยง หรือ มีการติดเชื้อในโรงเรียนเกิดขึ้น


แล้วมีทางเลือกอย่างไรบ้าง เพื่อเปิดเรียนในเทอม 2

สำหรับการเปิดเทอมใหม่ ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ แม้ กระทรวงศึกษาธิการ จะมีมาตรการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ตาม คู่มือการปฏิบัติมาตรการ Sandbox Safety Zone in School แต่บริบทของโรงเรียนมีความแตกต่างกัน ทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ก็เป็นความท้าทายของแต่ละพื้นที่

นั่นหมายความว่า หากไม่ได้เปิดภาคเรียนแบบ On Site พร้อมกัน ก็อาจใช้มาตรการสลับวันมาเรียน โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด แม้สัดส่วนนักเรียนที่รับวัคซีนจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนี้

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอและความพยายามสร้างทางเลือกจากภาคประชาสังคม เพื่อให้โรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการ ใช้พิจารณา ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดที่ยังไม่น่าไว้วางใจ

เช่น ข้อเสนอของ ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ที่มองว่า ชุมชนคือคำตอบในการจัดการโควิด-19 และพร้อมรับมือภัยพิบัติซ้ำซ้อน ที่รวมถึงมิติด้านการศึกษา

เขาเสนอให้สนับสนุน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน และชุมชน ร่วมกันจัดการศึกษาในรูปแบบการศึกษาระดับครอบครัว (Home School) และการศึกษาระดับชุมชน (Community School) โดยจัดสรรงบประมาณ (จากเงินกู้) เพื่อจัดจ้างนักศึกษาหรือบัณฑิตจบใหม่ ผู้ปกครองอาสา คนตกงาน ในการส่งเสริมการศึกษาให้กับนักเรียนในท้องถิ่นของตัวเองในช่วงที่มีการเรียนออนไลน์ โดยอาจกำหนดพื้นที่การเรียนรวมเป็นจุดเล็ก ๆ ในชุมชน กรณีชุมชนที่มีเด็กเรียนร่วมกัน 4-5 คน หรืออาจจะมีระบบสนับสนุนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ปกครองได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนให้กับบุตรหลานตัวเองได้

คำถามสำคัญก็คือว่า ในบรรดาข้อเสนอที่สังคมพยายามส่งเสียงนี้ โรงเรียนแต่ละแห่ง ท้องถิ่นแต่ละที่ มีอำนาจตัดสินใจมากน้อยเพียงใด ที่จะออกแบบหรือจัดการศึกษาตามความพร้อมด้านสาธารณสุข ขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ที่จะช่วยนำพาให้เด็ก ๆ ได้กลับคืนสู่ห้องเรียน ทั้งปัจจัยเรื่องการเปิดตามเกณฑ์พื้นที่ระบาด, ตามระดับชั้น เช่น เด็กเล็กที่อ่อนไหวต่อพัฒนาการเรียนรู้ หรือตามสัดส่วนการฉีดวัคซีน ที่จะใช้เป็นเกราะป้องกัน

หรือหากปัจจัยเหล่านี้ไม่พร้อม แม้ 1 พฤศจิกายน จะถูกกำหนดให้เป็นวันเปิดเทอมใหม่ แต่บางพื้นที่อาจเลือกที่จะเลื่อนการเรียนการสอนแบบ On Site ออกไป จนกว่าสถานการณ์ระบาดและการฉีดวัคซีนจะอยู่ในสัดส่วนที่ทำให้มีความมั่นใจมากกว่านี้

คำถามก็คือ เด็ก ๆ ที่ “รับไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว” กับการเรียนที่บ้านหรือเรียนออนไลน์ จะมีทางเลือกให้พวกเขาอย่างไรบ้าง?


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active