’54 ถึง ‘64 ประเทศไทยกับภัยพิบัติ “น้ำท่วม”

“อะไรทำให้เกิดน้ำท่วม ปี 64?” หลังมีหลายเสียงให้ข้อมูลตรงกันว่า “ปริมาณน้ำ” อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด หากเทียบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554

อิทธิพลของพายุหลายลูกในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่งผลต่อประเทศไทยช่วงปลายฤดูฝน ทำให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ กระทั่งมีข่าวใหญ่ “เขื่อนลำเชียงไกรแตก”

ภัยธรรมชาติที่กลายเป็นภัยพิบัติน้ำท่วมในปี 2564 กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคม ไม่กี่ชั่วโมง มวลน้ำมหาศาลค่อย ๆ เอ่อท่วม กินพื้นที่ 8 อำเภอ ในจังหวัดนครราชสีมา ประชาชนตั้งรับไม่ทันเกิดความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สิน

ปริมาณฝนที่ตกติดต่อกันหลายวัน และมีลักษณะการตกที่ต่างไปจากอดีต ทำให้หลายพื้นที่คาดการณ์ได้ยาก บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมน้ำได้รับผลกระทบ รถยนต์จมน้ำ การจราจรเป็นอัมพาตในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

หลายจังหวัดใกล้เคียง ยังอยู่ในภาวะ “จมน้ำ”

จนถึงเวลานี้ “น้ำท่วมและน้ำล้นตลิ่ง” ยังมีรายงานอยู่ในพื้นที่ 15 จังหวัด ในจำนวนนี้อยู่ในลุ่มเจ้าพระยา เช่น ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม ซึ่งเป็นผลจากร่องมรสุม รวมถึงอิทธิพลจากพายุคมปาซุและเตี้ยนหมู่ ที่ยังไม่คลี่คลาย

The Active คลี่ข้อมูลสำคัญ เปิดมุมมองเพื่อทำความเข้าใจเงื่อนไขที่ซับซ้อนของการจัดการสถานการณ์ “อากาศและภัยพิบัติน้ำท่วม” พร้อมชวนค้นหาคำตอบว่า อะไรจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เราอยู่และรับมือกับภัยธรรมชาติ ไม่ปล่อยให้ความรุนแรงขยายเป็นภัยพิบัติที่เกินกว่าจะแบกรับความเสี่ยงไว้ได้


อะไรทำให้เกิดภัยพิบัติน้ำท่วม ‘64 เมื่อ “น้ำท่วม” กลายเป็นเรื่อง “ไม่ธรรมชาติ”

ภาพความทรงจำของมหาอุทกภัยปี 2554 ถูกนำมาเปรียบเทียบกับปี 2564 ในหลายมิติ ทั้งด้านสาเหตุและการบริหารจัดการ อะไรคือความเหมือน ความต่าง ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงปัจจัยที่มองเห็นได้ชัดเจน คือ ความผันผวนของสภาพอากาศ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ปริมาณน้ำ แต่รวมถึงลักษณะของฝนที่ตก และพื้นที่ที่เกิดฝนตกหนักหรืออาจตกในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งต่างจากปี 2554 เพราะปีนี้ฝนตกหนักเป็นหย่อม ๆ ปัจจัยต่อมาที่สำคัญ คือ ความพร้อมในการป้องกันตนเองเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม เพราะหากดูจากพื้นที่ที่มีการปรับตัว พบว่าบางแห่งมีปริมาณน้ำสูงกว่าปี 2554 แต่ผลกระทบกลับไม่ได้เสียหายเทียบเท่าปี 2554

ขณะที่ ปัจจัยเรื่องการเตือนภัย ก็มีความสำคัญ เพราะมีความซับซ้อน แม้จะมีกลไกรับมือกับการอพยพล่วงหน้า แต่ก็สามารถจัดการได้ระดับหนึ่งเท่านั้น ต่างจากบางประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น และหลายประเทศในแถบยุโรป เมื่อเจอเหตุการณ์ที่รับมือไม่ได้ ก็ยังมีวิธีจัดการเพื่อลดความเสียหายในระดับต่อไปได้ นั่นคือ มีการ แจ้งเตือนภัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น 

ส่วน ปัจจัยเรื่องสิ่งก่อสร้าง รศ.สุทธิศักดิ์ มองว่า กำแพงป้องกันน้ำท่วม มีวัตถุประสงค์ชัดเจน ตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ที่ใช้ป้องกันตนเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิด แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ สิ่งก่อสร้างในภาพรวม นั่นหมายความว่า “การบริหารจัดการน้ำ” เป็นปัจจัยที่สำคัญกว่า ทั้งในระดับที่เหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นเป็นประจำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงเกินคาดคิด จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความชัดเจนของนโยบายในการจัดการสิ่งเหล่านี้ด้วยข้อมูลและความรู้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การจัดลำดับความสำคัญนี้ สอดคล้องกับ รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ จากภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่า สาเหตุสำคัญของเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2564 คือ มวลน้ำ จากปริมาณน้ำฝน รองลงมา คือ ความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ ระบบเตือนภัย คันกั้นน้ำที่แตก และมองว่าปัจจัยจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ อาจมีผลในอันดับรองลงมา

รศ.สุจริต อธิบายเพิ่มเติมว่า หากดูปริมาณฝนตั้งแต่กลางเดือนกันยายนจะพบว่า ฝนตกมากและตกเฉพาะจุดที่สำคัญ เช่น ตกในจุดที่ไม่มีเขื่อน เช่น จังหวัดสุโขทัย บางจุดแม้มีเขื่อนก็รับไม่ไหว ปริมาณน้ำมาก เขื่อนแตก ระบบเตือนภัยทำงานไม่ทัน ผลกระทบจึงหนัก ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกัน ส่วนการบริหารจัดการน้ำ เมื่อท่วมแล้วต้องระบายน้ำไปทางไหน ส่วนระบบเตือนภัยที่ใช้อยู่มีหลายระดับ แต่ในระดับพื้นที่ยังไม่มี เช่น ปริมาณน้ำในทุ่ง ฝนที่ตกในป่า ฯลฯ การเตือนภัยจึงยังมีจุดอ่อนและขาดข้อมูลในระดับพื้นที่ ขณะที่สิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำก็มีปัญหา คือ พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่รับน้ำ ปัจจุบันกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร ส่งผลให้พื้นที่รับน้ำหรือทางผ่านของน้ำหายไป เกิดน้ำท่วมขังไม่มีทางระบาย เพราะแต่ละหมู่บ้านต้องกันน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่ของตัวเอง แต่เมื่อน้ำท่วมก็ท่วมหนักกว่าเดิม

ขณะที่นักวิชาการด้านอากาศและภัยพิบัติ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และ อาจารย์ประเชิญ คนเทศ ภาคประชาสังคมจากลุ่มแม่น้ำท่าจีน 1 ใน 5 ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มเจ้าพระยา มองว่า สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้น้ำท่วมปี 2564 กลายเป็นภัยพิบัติ และเกินกว่าจะปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติ คือ ปัจจัยด้านการบริหารจัดการน้ำ

อาจารย์ประเชิญ มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับลุ่มแม่น้ำท่าจีนในปีนี้ มีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการเป็นหลัก เพราะปริมาณมวลน้ำที่ไม่มาก มีผลต่อการตัดสินใจไม่ประกาศภาวะฉุกเฉิน ส่งผลให้แต่ละหน่วยงานทำงานภายใต้อำนาจของตัวเองและไม่กล้าตัดสินใจ ขณะเดียวกัน หากมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน จะส่งผลต่อการบริหารจัดการที่ทุกคนต้องทำงานบูรณาการภายใต้การสั่งการแบบ single command 

ขณะที่สิ่งก่อสร้างเป็นปัจจัยรองลงมาในความเห็นของเขา ซึ่งมองว่าจากบทเรียนน้ำท่วมปี 2564 มีการยกความสูงของถนนและคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นกว่าเดิม เช่น ถนนตั้งแต่นครปฐม บางเลน มีการสร้างคันโอบสูงตลอดสองฝั่ง พอน้ำมา ก็ถูกบล็อก ไม่สามารถแผ่กระจายไปตามธรรมชาติได้ และที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า การสร้างคันกันน้ำให้สูงขึ้นไม่ใช่ทางออกของการจัดการน้ำท่วม และเมื่อปริมาณน้ำมากก็เกิดแรงปะทะและชำรุด แตกเสียหาย ทะลักท่วมพื้นที่และไม่มีทางระบายออก จึงท่วมขังสูงเป็นเวลานาน

นอกจากปัจจัยสำคัญตามลำดับดังกล่าวแล้ว คนพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนยังมองว่า ระบบการเตือนภัย ยังขาดเทคโนโลยีและการสื่อสารที่จะทำให้เข้าถึงและเข้าใจ ส่วนระบบการเตือนภัยไม่มีปัญหาเรื่องข้อมูล แต่ขาดเทคโนโลยีและการสื่อสารที่เข้าถึงและเข้าใจ ท้ายที่สุด อาจารย์ประเชิญ มองว่าภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนไป พฤติกรรมฝนเปลี่ยน

ส่วน รศ.เสรี ให้เหตุผลที่มองว่า การบริหารจัดการน้ำ เป็นความสำคัญลำดับต้น ๆ เพราะในเมื่อปริมาณน้ำมาน้อยกว่าปี 2554 แต่ทำไมปีนี้น้ำยกระดับสูงขึ้นผิดสังเกต นั่นเพราะมีช่องว่างในการประเมินความเสี่ยงและความรุนแรง ซึ่งหมายถึงระดับน้ำสูงขึ้น ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น นั่นส่งผลถึงปัจจัยถัดมา คือ ประชาชนเตรียมตัวไม่ทัน เพราะก่อนหน้านี้มีการยกระดับถนน คันกั้นน้ำ เมื่อน้ำมาเร็ว จึงเกิดการบีบตัวและยกตัวสูงขึ้น ทำให้บางพื้นที่มีความรุนแรงเท่า ๆ กับปี 2554 และมากกว่าในบางพื้นที่ ขณะที่บางจุดไม่เคยท่วม แต่กลับมาท่วมในปีนี้

“สุดท้าย เรื่องของฝน พบข้อมูลว่าน้ำเหนือน้อยกว่าปี 2554 ประมาณ 3 เท่าตัว นั่นหมายความว่าไม่ใช่เหตุผลแรก ๆ ที่ทำให้ท่วมมากถึงขนาดนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ปี 2564 ในเดือนกันยายน มวลน้ำไหลผ่านนครสวรรค์ ประมาณกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปี 2554 มีมากกว่า 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็เป็น 5 เท่าตัว”

รศ.เสรี ศุภราทิตย์

ขณะที่ ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองว่า ปัญหาน้ำท่วมปี 2564 เกิดจากความไม่พร้อมของการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำ เช่น ทุ่งรับน้ำไม่ได้ถูกใช้เต็มศักยภาพ ขณะเดียวกัน ปัญหาคันกั้นน้ำและคันป้องกันตลิ่งส่วนใหญ่ขาดการบำรุงรักษา จากปัญหางบประมาณซ่อมแซม และการถ่ายโอนอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ที่มักมีงบฯ ไม่เพียงพอ ขณะที่ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม มีลักษณะกระจุกตัว ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักและรุนแรง ส่วนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม พบว่ายังขาดการเชื่อมโยงข้อมูลเตือนภัย รายงานสถานการณ์ระดับน้ำที่ไม่เพียงพอและขาดคนประเมินวิเคราะห์ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจได้ทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบและความเสียหาย

ถึงแม้จะจัดลำดับความสำคัญของสาเหตุแห่งปัญหาน้ำท่วมปี 2564 ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาแตกต่างกันบ้าง แต่ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำท่วมและภัยพิบัติ ก็เห็นตรงกันว่า ทุกเงื่อนไขที่กล่าวมามีความซับซ้อนและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบแยกส่วน ต่างคนต่างทำ ปัญหาจะยังคงดำรงอยู่และต้องตามแก้เฉพาะหน้าในแต่ละปีเท่านั้น


น้ำท่วม ‘54 ถึง ‘64 ผ่านมา 10 ปี เราทำอะไรไปบ้าง

ความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่านับ “ล้านล้านบาท” จากการประเมินของธนาคารโลก (World Bank) ทำให้หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ มองเห็นความสำคัญของการวางแผนรับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

มีการทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างฟลัดเวย์ (Flood Way, Water Way) และจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อ ลดความเสียหายจากน้ำท่วม

แต่การขับเคลื่อนแผนแม่บทสู่ปฏิบัติ หลายฝ่ายประเมินว่ายังไม่คืบหน้า ล่าสุดปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลเสนอแผนบูรณาการด้านทรัพยากรน้ำ กว่า 48,600 โครงการ วงเงินกว่า 3.66 แสนล้านบาท ในส่วนนี้เป็นการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 5,143 โครงการ มูลค่า 1.17 แสนล้านบาท

หนึ่งในงบประมาณที่ถูกใช้เป็นจำนวนมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ งบประมาณในการศึกษาการก่อสร้าง หรือการบำรุงรักษาเขื่อนป้องกันตลิ่ง ของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่ปี 2554 – 2564 มีการใช้งบประมาณเฉพาะส่วนนี้ 5.9 พันล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชน ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักในปี 2554 ทุ่มงบประมาณ 6 พันล้านบาทในปี 2556 เพื่อสร้างเขื่อนสำเร็จรูป ใน 12 นิคมอุตสาหกรรม และในปี 2564 มีการสร้างคันกำแพงคอนกรีต ความยาว 79 กิโลเมตร มูลค่าประมาณ 3 พันล้านบาท

ลำน้ำสายต่าง ๆ ทั่วประเทศรวม 22 ลุ่มน้ำ มีความยาวรวมกันราว 490,000 กิโลเมตร ข้อมูลจาก กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า พนังกั้นน้ำที่อยู่ในความดูแลของกรมฯ มีความยาวรวมประมาณ 49,000 กิโลเมตร ขณะที่ กรมชลประทาน มีพนังกั้นน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ 4,027 กิโลเมตร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมยืนยันว่า คันกั้นน้ำที่ดีมีสภาพแข็งแรง จะมีอายุการใช้งาน 50 ปี

ก่อนปี 2546 คันกั้นน้ำเหล่านี้ จะมีเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจ แต่หลังปี 2546 มีการถ่ายโอนภารกิจในการบำรุงรักษาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พบว่ามักประสบปัญหาขาดการดูแล ไม่มีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอสำหรับมาตรกรดูแลรักษา จนเกิดความไม่ปลอดภัยเมื่อต้องรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่


คันป้องกันน้ำท่วม ไม่เท่ากับ คันป้องกันตลิ่ง

ทำไมหลายครั้งจึงเกิดเหตุการณ์ “คันแตก” ส่งผลเสียหายต่อบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่เศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่อสิ่งก่อสร้างที่หวังว่าจะเป็นเกราะกันภัยน้ำท่วมกลับเสียหาย ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงและยากจะรับมือได้ทัน เพราะไม่สามารถควบคุมได้ทั้งเวลาและปริมาณ

เหตุการณ์ คันกั้นน้ำชั่วคราวของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรเสียหาย ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ทำให้มีความเห็นต่างต่อคำนิยามว่าเหตุการณ์ดังกล่าวใช่ “เขื่อนแตก” หรือไม่

ผศ.ณัฐ มาแจ้ง ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ขึ้นอยู่กับการกำหนดความหมายของคำว่าเขื่อนแตก (dam break) เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่วนที่แตก คือ คันกั้นน้ำชั่วคราว ที่ใช้สำหรับกั้นน้ำไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งกำลังก่อสร้างทางระบายน้ำล้นแบบควบคุมได้ (Gated Spillway)

ความแตกต่างระหว่าง คันป้องกันน้ำท่วมและคันป้องกันตลิ่ง คือ

คันป้องกันน้ำท่วม มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันน้ำท่วมเป็นการเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบชั่วคราว กึ่งถาวร หรือถาวร

คันหรือเขื่อนป้องกันตลิ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง หรือป้องกันการเคลื่อนตัวของตลิ่ง ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นประจำ ภายหลังสามารถออกแบบแก้ไขทำพนังกั้นน้ำแบบถาวรเสริมในภายหลังได้

จากข้อมูลพบว่า เฉพาะแค่เขื่อนป้องกันตลิ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ของ กรมโยธาธิการและผังเมือง มีมากถึง 51 รูปแบบ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ เขื่อนป้องกันตลิ่งแนวลาด และเขื่อนป้องกันตลิ่งแนวตั้ง ซึ่งจากการศึกษารูปแบบเขื่อนป้องกันตลิ่ง ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ชี้ว่า การมีฐานข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ใช้วางแผนการบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วน ระบบคันป้องกันน้ำท่วม คือ การก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วม ด้วยการยกระดับถนนหรือกำแพงล้อมรอบพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการเอ่อล้นเข้าท่วม ข้อมูลจาก คู่มือแนะนำการทำคันป้องกันน้ำท่วมชุมชน โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า วิธีการนี้ เหมาะสำหรับพื้นที่ราบมีระดับดินต่ำ และไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยวิธีอื่นแล้ว เพราะมักส่งผลกระทบด้านทัศนียภาพและการใช้ชีวิตของประชาชนที่อาศัยใกล้คันกั้นน้ำ

คันป้องกันน้ำท่วมทั้ง 3 รูปแบบ คือ

คันป้องกันน้ำท่วมแบบชั่วคราว ได้แก่ แบบกระสอบทราย และแบบคันดินถม

คันป้องกันน้ำท่วมแบบกึ่งถาวร เป็นการนำวัสดุสำเร็จรูปมาใช้เป็นองค์ประกอบ เช่น แผงเหล็ก ผนังคอนกรีต ฯลฯ เมื่อต้องการป้องกันน้ำท่วมในบริเวณที่มีแนวป้องกันยาวตลอดลำน้ำ จะช่วยลดการสูญเสียวัสดุเมื่อมีการรื้อถอน เช่น คันป้องกันน้ำท่วมที่ใช้ระบบโครงโลหะชั่วคราว แบบผนังพับเก็บได้ และ แบบผนังแผ่นสอด

คันป้องกันน้ำท่วมแบบถาวร ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เศรษฐกิจ แต่การก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วมในลักษณะนี้ ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนในระยะยาวโดยเฉพาะหลังน้ำลด เช่น ออกแบบคันป้องกันน้ำท่วมที่ใช้เป็นทางเดิน ทางจักรยาน หรือถนน ในลักษณะที่สอดคล้องกับวิถีชุมชน


ข้อมูลแจ้งเตือนจากภาครัฐแบบไหน ที่จะทำให้เรารับมือได้ทัน?

องค์ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้าน อาจจะทำให้ชาวบ้านบางกลุ่มสามารถคาดการณ์สถานการณ์น้ำในภูมินิเวศ ท้องถิ่นของตัวเองได้ แต่ระบบการจัดการน้ำที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้การแจ้งเตือนและให้ข้อมูลของทางการมีส่วนสำคัญต่อการรับมือหรือเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะคนเมืองและประชาชนทั่วไปที่เดิมพันชีวิตและพื้นที่เศรษฐกิจในฤดูมรสุม ขึ้นอยู่กับฟ้าฝนและการสื่อสารข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้ว ข้อมูลแจ้งเตือนแบบไหน จะทำให้พวกเขารับมือได้อย่างทันท่วงที?

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ อธิบายว่า ประเทศไทยยังขาดการเตือนภัยที่ชัดเจน แม้จะมีการเตือนภัยจากหลายหน่วยงาน แต่เป็นชุดข้อมูลของหน่วยงานนั้น ๆ ขาดการบูรณาการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภัยให้แคบลงตรงกลุ่มเป้าหมายของการแจ้งเตือน เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็ว

“ต้องมีการฉายภาพอนาคตให้ประชาชนรู้ล่วงหน้า เพื่อเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจว่าเมื่อภัยมา จะอยู่ จะสู้ หรือหนี เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน”

เช่น การแจ้งเตือนอัตราระบายน้ำจากเขื่อน กรมชลประทาน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะแจ้งข้อมูลเป็นหน่วย “ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที” หรือ หากเป็นการแจ้งเตือนปริมาณฝน กรมอุตุนิยมวิทยา จะแจ้งข้อมูลเป็นหน่วย “มิลลิเมตรต่อวัน” หรือมากกว่านั้น การแจ้งเตือนเช่นนี้ หากประชาชนไม่สามารถประเมินข้อมูลร่วมกับลักษณะพื้นที่ของตัวเองได้ ก็น่าจะเป็นไปได้ยาก ที่จะนำมาสู่การตัดสินใจว่าต้องรับมือแบบไหน

รศ.เสรี ยกตัวอย่าง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 – 16 ตุลาคม 2564 เพื่อฉายภาพการบริหารความเสี่ยงจากพายุคมปาซุ (Kompasu) โดยจำลองภาพสถานการณ์ 7 แบบ โดย 4 แบบแรก เป็นการประเมินจากปัจจัยระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ส่วนอีก 3 แบบ เป็นการประเมินจากปัจจัยร่วมของการระบายน้ำจากเขื่อนฯ และปัจจัยฝนที่ตกลงมาในพื้นที่

ภาพแรก กรณี ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 2,500 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ 1,000 ลบ.ม. จะส่งผลให้บางอำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เห็นเป็นสีส้ม น้ำจะท่วมสูงไม่เกิน 1.5 เมตร ส่วนสีแดง น้ำจะท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร

ภาพสอง
กรณี ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,000 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ 1,000 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้บางอำเภอของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีบางส่วน ที่เห็นเป็นสีส้ม น้ำจะท่วมสูงไม่เกิน 1.5 เมตร สีแดง น้ำจะท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร

ภาพสาม กรณี ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,500 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ 1,000 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้บางอำเภอของจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีและนครปฐม ที่เห็นเป็นสีส้ม น้ำจะท่วมสูงไม่เกิน 1.5 เมตร สีแดง น้ำจะท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร

ภาพสี่ กรณี ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 4,000 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสัก 1,000 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้บางอำเภอของจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม ที่เห็นเป็นสีส้ม มีน้ำท่วมสูงไม่เกิน 1.5 เมตร สีแดง น้ำจะท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร

แต่หากคำนวณร่วมปัจจัยฝน จากพายุคมปาซุ และหย่อมความกดอากาศต่ำ พื้นที่ได้รับผลกระทบจะกว้างขึ้น โดยคำนวณจากกรณีฝนตกสะสม 3 วัน ภาพแรก 200 มิลลิเมตร และมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,000 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสัก 1,000ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อบางอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ

ภาพสอง กรณี 300 มิลลิเมตร และมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,000 ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสัก 1,000ลบ.ม./วินาทีจะส่งผลกระทบต่อบางอำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ

และ ภาพสาม กรณี ฝนตกสะสม 3 วัน 400 มิลลิเมตร และปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,500ลบ.ม./วินาที และปล่อยน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ 1,000ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อบางอำเภอของจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนครปฐม

ซึ่งหากมีการฉายภาพผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ประชาชนทราบ มีการเตือนภัยด้วยข้อมูลที่ง่าย เข้าถึงประชาชนและชุมชนได้ชัดเจนกว่าการเตือนด้วยข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน จะส่งผลให้ชุมชนและคนในพื้นที่ตัดสินใจประเมินความเสี่ยงว่าจะ อยู่ สู้ หรือหนี เพื่อลดปัญหาและลดความเสียหายได้อีกมาก

ส่วนปัจจัยเสริมอื่น ๆ เช่น คันกั้นน้ำ หรือพนังกั้นน้ำ ไม่ว่าจะก่อสร้างโดยหน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น หรือชุมชน รวมถึงถนนบางสาย ก็จะส่งผลให้ทิศทางน้ำเปลี่ยนไป และน้ำยกตัวสูงกว่าเดิมในบางพื้นที่ หรือหากสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ชำรุด เสียหาย ในบางพื้นที่ก็อาจควบคุมความสูงของน้ำไม่ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัยจึงจำเป็นต้องสื่อสารข้อมูลดังกล่าวอย่างรวดเร็วและชัดเจนถึงประชาชนด้วยเช่นเดียวกัน


คนลุ่มเจ้าพระยา กับพื้นที่การใช้น้ำ 6 ประเภท

จากการศึกษาของ โครงการเจ้าพระยาเดลต้า 2040 แบ่งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาออกเป็น 6 กลุ่ม ตามลักษณะทางกายภาพ ความต้องการใช้น้ำ ปัญหา และความเสี่ยงในการเผชิญน้ำท่วมที่คล้ายคลึงกัน

โซนที่ 1 พื้นที่ป่าไม้และภูเขา ปัญหาที่พบ คือ ภัยแล้ง ไฟป่า ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ลพบุรี สระบุรี ราชบุรี และฉะเชิงเทรา

โซนที่ 2 พื้นที่เชื่อมต่อทะเล มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เกี่ยวข้องกับทะเลและชายฝั่ง เช่น ประมง การเลี้ยงกุ้ง นาเกลือ เป็นพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง การรุกล้ำของน้ำเค็ม การกัดเซาะชายฝั่ง ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

โซนที่ 3 พื้นที่เชื่อมต่อกับภาคตะวันออก มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เกี่ยวข้องกับพืชสวนและไม้ยืนต้น มีความท้าทายทั้งเรื่องน้ำแล้งและน้ำท่วม ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา

โซนที่ 4 พื้นที่บนที่ดอน มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เกี่ยวข้องกับพืชไร่ เผชิญปัญหาภัยแล้ง ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี

ซนที่ 5 พื้นที่ชุมชนเมืองและอุตสาหกรรม มีการใช้ประโยชน์ที่ดินหลากหลาย เกี่ยวข้องทั้งเขตที่พักอาศัย อุตสาหกรรม การเกษตร เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นพื้นที่ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ประสบกับน้ำขัง น้ำรอระบาย น้ำเสียและน้ำท่วม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นครนายก และนครปฐม

โซนที่ 6 พื้นที่ทำนา มีการใช้ประโยชน์ที่ดินหลัก คือ การทำนา เผชิญปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี อยุธยา สระบุรี นครนายก และลพบุรี

การแบ่งกลุ่มแบบนี้ ทำให้เห็น “ความต้องการใช้น้ำ” และ “ปัญหาร่วม” ของพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อนำมาสู่การ “ร่วมกันตั้งคำถาม” ถึงแนวทางการจัดการน้ำในอนาคต บนพื้นที่ในกลุ่มเดียวกัน ผ่านแบบจำลองที่ถูกตั้งสมมติฐานขึ้น คือ

  • แบบจำลองการสื่อสารกรณีน้ำแล้ง เชิงพื้นที่ : การคำนวณปริมาณน้ำในพื้นที่กักเก็บ ปริมาณการใช้น้ำต่อพื้นที่ และแนวทางการรับมือกับกรณีน้ำแล้ง
  • แบบจำลองการสื่อสารกรณีน้ำท่วม เชิงพื้นที่ : การคำนวณปริมาณน้ำในพื้นที่กักเก็บน้ำ ความสามารถในการรับมือกับปริมาณน้ำท่วม

นักวิชาการโครงการเจ้าพระยาเดลต้าฯ หวังว่า หากมีการ “ระดมความคิด” จากการมีส่วนร่วมของคนในจังหวัดเดียวกัน และมีลักษณะการใช้พื้นที่ร่วมกัน ก็จะเข้าใจหัวอกกันและกัน นำไปสู่การ “แก้ปัญหาอย่างบูรณาการ” และ “มีทางออกร่วมกัน” สู่ความสามารถในการจัดการน้ำ พร้อมจัดการตัวเอง ได้ในอนาคต


ข้อเสนอ “เจ้าพระยาเดลต้าฯ” กับการวางแผนรับมือในอนาคต

นักวิชาการในโครงการเจ้าพระยาเดลต้า 2040 ได้ทบทวนแนวทางการพัฒนาแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย พบว่าสามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาสำคัญตามสถานการณ์ภัยน้ำที่เกิดขึ้น

ระยะที่ 1 การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือภัยพิบัติน้ำท่วม มีทั้งรูปแบบที่แข็งแรงคงทน และสำหรับใช้งานชั่วคราว เช่น การจัดวางกระสอบทราย กำแพงกั้นน้ำ ที่พักน้ำ เขื่อน

ในพื้นที่กรุงเทพฯ เริ่มมีโครงการ ”ก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วม” ตั้งแต่ปี 2526 จากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 หลังจากนั้นก็มีความพยายามของภาครัฐในการก่อสร้างคันป้องกันน้ำท่วม ต่อเนื่อง

จนกระทั่งปี 2554 เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศ เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ภาครัฐเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือภัยพิบัติ ในพื้นที่บริเวณกว้างขวางมากขึ้น เช่น การปรับปรุงกำแพงกั้นตลิ่งให้มีศักยภาพในการกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เขตเมือง อีกทั้งยังมีการก่อสร้างพื้นที่พักน้ำรวม 13 แห่ง เพื่อกักมวลน้ำและชะลอการไหลของน้ำก่อนไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็ได้มีการจัดสร้างพื้นที่แก้มลิงอีกหลายแห่ง รวมไปถึงการมีแผนบริหารจัดการน้ำตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติ ทรัพยากรน้ำปี 2561 นับเป็นแนวทางจัดการน้ำในระยะที่ 2

“แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอีก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ศักยภาพในการรองรับน้ำย่อมมีขีดจำกัด หมายความว่าหากมีมวลน้ำจำนวนมาก น้ำไหลบ่าเกินความสามารถในการรองรับ ก็ยากที่จะเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม และปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มมากขึ้น จากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ เป็นสิ่งที่ยากจะควบคุม”

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ มองว่านี่เป็นความจำเป็นที่ต้องมีแนวทางบริหารจัดการน้ำในระยะที่ 3 คือ ความสามารถในการปรับตัวและอยู่ร่วมกับน้ำ โดยยกตัวอย่างหลายประเทศทั่วโลก ที่เริ่มประเมินว่าหากเกิดกรณีที่มีมวลน้ำมหาศาลเกินการรองรับจะต้องใช้วิธี หลีกเลี่ยงเผชิญความเสียหายแทน

“ประเทศทางฝั่งยุโรป เมื่อเขารู้ว่าจะมีพายุเข้ามาในพื้นที่ประเทศและประเมินได้ว่าเอาไม่อยู่ เขายอมรับว่ารับมือไม่ไหว ก็ใช้วิธีการ อพยพผู้คนออกจากพื้นที่ โดยสามารถเคลื่อนย้ายคนทั้งเมืองให้ไปอยู่ศูนย์อพยพที่ปลอดภัย”

นั่นหมายความว่าหัวใจสำคัญคือการยอมรับว่า ศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานหรือกฎระเบียบกติกามากมาย อาจไม่เพียงพอต่อการรับมือกับมวลน้ำมหาศาลในกรณีผิดปกติที่มีโอกาสเกิดขึ้น เพื่อที่จะคิดหาวิธีการ ความสามารถ และศักยภาพในการปรับตัวและอยู่ร่วมกับน้ำให้ได้

“ในประเทศไทย ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในแนวทางที่ 3 นี้ก็มีอยู่ เช่น ผู้ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำท่วมบ่อย หลายคนหลายหลังคาเรือนเมื่อถึงฤดูน้ำหลากก็จะนำเรือมาผูกไว้ที่เสาบ้าน เตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมตามธรรมชาติ แต่คนในกรุงเทพฯ อาจไม่ได้มองถึงเรื่องนี้”

ทำอย่างไรกับอนาคตที่ไม่แน่นอน เมื่อเราเอาแน่เอานอนกับ ปริมาณน้ำไม่ได้

การย้อนกลับไปพิจารณาการเพิ่มจำนวนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือภัยพิบัติ เพื่อเป็น “เข็มขัดนิรภัย” เมื่อน้ำมา พร้อมวางแนวทางในการบำรุงรักษาและดูแลโครงสร้างพื้นฐานให้ยังคงสมบูรณ์ รวมถึงการยกระดับให้มีศักยภาพในการรองรับน้ำได้มากขึ้น คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพีและฐานรากประเมิน

แต่ข้อสังเกตและกังวล คือ ประเทศไทยไม่มีหน่วยงานกลางในการศึกษาข้อมูล วางแผนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือภัยพิบัติในภาพรวมของประเทศ ซ้ำยังมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานอย่างไม่เป็นระบบ

“คันกั้นน้ำริมแม่น้ำโดยทั่วไป หากช่วงใดมีมวลน้ำไหลผ่านเกินความสูงของคัน น้ำก็จะล้นและข้ามคันกั้นน้ำไป แต่ในบางพื้นที่ เมื่อท้องถิ่นเห็นว่ามีมวลน้ำมามาก จะใช้วิธีเอาดินไปถมให้คันกั้นน้ำมีความสูงมากขึ้นไป แต่ไม่ได้คำนึงถึงความแข็งแรงและศักยภาพการรองรับของโครงสร้างคันกั้นน้ำ จึงเสี่ยงทำให้คันกั้นน้ำพังและเกิดความเสียหายที่รุนแรงมากกว่าเดิม”

ประเด็นถัดมา คือ การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความมั่นคงแข็งแรงมีประสิทธิภาพในการรองรับน้ำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในเรื่องนี้ ต้องอาศัยต้นทุนและงบประมาณ จำนวนมาก

“เขื่อนในสหรัฐอเมริกา 2,000 เขื่อน อยู่ในระดับที่อันตราย เสี่ยงต่อการแตก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานมีอายุมากถึง 60-70 ปี สร้างตั้งแต่หลังสงครามโลก รัฐจึงต้องใช้เงินมากถึงสองล้านล้านบาท เพื่อซ่อมแซมเขื่อนที่เสี่ยงต่อการแตก ให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น”

ขณะที่เขื่อนในประเทศไทยหลายแห่งมีอายุราว 50 ปี และไล่หลังลงมา ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปฐพียืนยันว่า จำเป็นต้องคำนึงถึงการปรับปรุงและบำรุงรักษาโครงสร้างเหล่านี้ แต่โจทย์สำคัญคือ “จะเอาเงินจำนวนมหาศาลที่ต้องใช้ในภารกิจนี้มาจากที่ไหน?”

ใครบ้างที่ควรมีส่วนร่วมลงขันสร้าง “กองทุนเพื่อการรับมือภัยพิบัติ กองทุนเพื่อบำรุงรักษาระบบ และการวางแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวม”

ปัจจัยสุดท้ายที่สำคัญ คือ “แผนการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดกับวิกฤตน้ำท่วม” จากการวางแผนร่วมกันและความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคประชาชน เช่น ภาครัฐ มีการให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงกับประชาชน เพื่อให้ยอมรับกับความเสี่ยงที่จำเป็นต้องเกิดขึ้น เพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน วางแผนในการเอาตัวรอด ปรับตัว พร้อมสร้างระบบการอพยพอย่างเป็นระเบียบและป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบ้านเรือนประชาชน

ขณะที่ ภาคประชาชน ยอมรับถึงความเป็นจริงของธรรมชาติ ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และมวลน้ำที่ต้องเจอ พร้อมร่วมกันหาวิธีการชะลอน้ำ การกักเก็บน้ำด้วยตัวเอง เพื่อใช้ประโยชน์ในยามแล้ง และเพื่อไม่ให้น้ำไหลไปโดยไม่มีอะไรกั้น เช่น การจัดสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำฝนประจำบ้าน


งบประมาณที่เพิ่มขึ้นหลังปี ’54 แก้ปัญหา “ท่วม – แล้ง” ได้หรือยัง?

หลังเหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 จำนวนเงินงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำและชดเชยภัยพิบัติ และงบประมาณป้องกันตลิ่ง เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่น ในปี 2555 งบฯ กลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และงบประมาณเพื่อฟื้นฟู เยียวยาความเสียหายจากอุทกภัย มีจำนวนรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท  

จากนั้น ในปี 2557 – 2559  มีการจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำโดยตรงปีละกว่าแสนล้านบาทต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ตามข้อมูลงบประมาณด้านยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ, แผนงานบูรณาการการฟื้นฟู ป้องกัน และจัดการภัยพิบัติ และแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้ ยังไม่นับงบประมาณของกระทรวงต่าง ๆ ที่ถูกใช้เพื่อรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วม – น้ำแล้ง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

เงินงบประมาณที่ใช้ไปจำนวนมากนี้ ถูกยืนยันว่า มีส่วนทำให้การจัดการน้ำในบางพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ยังปรากฏข่าวสถานการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นเป็นประจำซ้ำซาก โดยเฉพาะหลายพื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่าง นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา

ข้อเสนอ 3 มุมมอง พูดอีกครั้งหนึ่ง

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ในฐานะประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ วช. ทบทวนความพยายามแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งของประเทศไทย พบว่าก่อนปี 2554 เน้นการแก้ปัญหาด้วยโครงการเฉพาะหน้า แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เริ่มทำเป็นชุดโครงการ และแผนเชิงพื้นที่ ต่อมาหลังจากที่มีการใช้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 จึงมีการจัดกระบวนการทำแผนแม่บท และแผนเชิงพี้นที่ แต่ยังเป็นในระดับโครงสร้างที่ยังไม่ลงมาระดับจังหวัด ชุมชน เนื่องจากการจัดการปัญหาในพื้นที่แต่ละประเภท ไม่เหมือนกัน จึงต้องแยกกลุ่มและเป้าหมายให้ชัดระหว่าง ชนบทที่น่าอยู่ – เมืองรอง ที่สมดุล- เมืองหลัก ที่ทันสมัย – และมหานครที่ก้าวหน้าและยั่งยืน

ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ประเภทใดก็ตาม ต้องใช้หลักการ 5 ข้อ เริ่มจากการสร้างความมั่นคงให้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ (secure) มีความยืดหยุ่นตามสภาพพื้นที่ ตรงไหนท่วมได้ ท่วมไม่ได้ แต่ก็ต้องฟื้นตัวให้เร็ว (resilient) สร้างภูมิคุ้มกัน ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (robust) ธรรมาภิบาล ที่ใช้กฎ กติกา ฐานข้อมูล (good governance) และการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ (Innovation)

รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

ปัญหาน้ำต้องไม่ใช่ปัญหาการเมือง อุทกภัย ไม่มีพรมแดน ไม่มีเขตการปกครอง ไม่มีพรรคการเมือง  “ผู้นำ” ต้องกล้าตัดสินใจในภาวะวิกฤต เน้นจัดการแบบองค์รวม ไม่แก้ปัญหาจุดหนึ่ง แล้วสร้างปัญหาให้อีกจุดหนึ่ง ส่วน การกระจายอำนาจจัดการน้ำท่วมเป็นสิ่งดีงาม แต่ “ผู้นำ” และชุมชน ต้องไม่อ่อนแอ ต้องสามารถ “ช่วยตัวเองก่อน” ได้   

รศ.เสรี ศุภราทิตย์

ให้ยอมรับว่าน้ำท่วมใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้ทุก ๆ 10 ปี เเล้วทบทวนภูมิคุ้มกันของตนเอง ของหน่วยงาน ของเมือง ของประเทศ ให้รองรับภัยหนักทุก ๆ 10 ปี  ถ้าเราทำได้ ภัยหนักก็จะยังคงหนัก เเต่เราจะไม่เจ็บหนักไปพร้อมกับภัย

รศ.สุทธิศักดิ์  ศรลัมพ์

3 มุมมองจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน ที่กล่าวให้ฟังท่ามกลางฤดูฝนและสถานการณ์น้ำท่วมปี 2564 เป็นข้อเสนอที่ไม่ต่างจากช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา หากแต่ตกผลึกชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วยเหตุการณ์อ้างอิงที่พบอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาจากมหาอุทกภัยเมื่อ 10 ปีที่แล้วจวบจนวันนี้

บทส่งท้าย

จากข้อมูลที่ The Active เรียบเรียงมาอาจจะกล่าวได้ว่า ทุกรัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติ ได้พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาจนเกิดแผนปฏิบัติการจำนวนมาก และอาจมีส่วนช่วยให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีบางจุดที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม และบางส่วนก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งเรื่องความหนาแน่นของประชากร การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่บางโครงการถูกต่อต้านคัดค้านหรือดำเนินการไป โดยก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมา  

หากยอมรับและเป็นฉันทามติที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปัญหาภัยธรรมชาติ เป็นปัญหาสำคัญที่สร้างความถดถอยในการพัฒนา ทั้งทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนจนไม่อาจละเลยได้ คงจำเป็นต้องร่วมกันพัฒนาแนวทางจากปัญหาสู่นโยบายสาธารณะ โดยกำหนดให้เป็นวาระทางสังคม ก่อนแนวร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ด้วยการสื่อสารเชิงเหตุผลอย่างชัดเจนและเพียงพอ เพื่อยอมรับร่วมกันว่า ทำไมต้องทำ ทำอย่างไร และจะนำไปสู่เป้าหมายอะไร


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active