จากมือถึงมือ: ความมั่นคงทางอาหาร คือความมั่นคงของมนุษย์

เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม

เรามีอาหารเพียงพอ แต่กระจายไม่ทั่วถึง

บางครั้ง “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” ก็เกิดจากการ “ใช้ชีวิต”

คือ เสียงสะท้อนในเวทีสาธารณะ “ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของมนุษย์” ส่วนหนึ่งของงานสมัชชาพลเมืองอีสาน​ “ตุ้มโฮมฮักแพงแบ่งปันไทยอีสานหนึ่งเดียว”

พร้อมประกาศดัน “ตลาดชุมชน” ทุกตำบล เป็นกลไกเสริม ความมั่นคงทางอาหาร

จากมือถึงมือ ความมั่นคงทางอาหาร

อุบล​ อยู่หว้า​ เครือข่าย​เกษตรกรรม​ทางเลือกภาคอีสาน​ บอกว่า​ การเข้าไม่ถึงทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศขนาดใหญ่​ และ แบบแผนการผลิตที่ไม่ยั่งยืน​ พึ่งพาการใช้สารเคมี เป็นปัจจัยคุกคามความมั่นคงทางอาหารของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สะท้อนให้เห็นชัดว่าชุมชนเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่โอบอ้อมทุกชีวิต มีแรงงานกลับบ้านเพราะโรงงานในเมืองปิด หรือได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ​ ชุมชนยังคงมีความอ่อนตัวด้วยความมั่นคงทางอาหาร คือ 1.​ มีทรัพยากรให้พึ่งพาอาศัย 2.​ มีการผลิตอาหารที่หลากหลาย เลี้ยงตัวเองได้​ และ 3. ยังเป็นสังคมของการมีน้ำใจเอื้ออารี มีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น

จากจุดแข็งเหล่านี้ นำมาสู่ข้อเสนอว่าควรมีการเปิดตลาดเพื่อเชื่อมโยงอาหารที่หลากหลาย ที่ผ่านมาในช่วงเกิดวิกฤตหลายชุมชนก็มีการเปิดกลุ่ม LINE เพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า

“สิ่งสำคัญคือการสร้างสายพานอาหารในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาถูกเบียดบังด้วยสายพานอาหารขนาดใหญ่จากบริษัทอาหารขนาดใหญ่”

ด้าน​ สุภา​ ใยเมือง​ ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน มองว่า​ ชนบทยังมีที่ดิน แต่คนจนเมืองไม่มีที่ดิน และบางคนมีรายได้อยู่เพียงแค่ 3 วัน เครือข่ายที่ลุกขึ้นมาช่วยเหลือกัน ทำเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งปันอาหาร​ ซื้ออาหารทางเลือก เช่น ข้าวอินทรีย์​ ไปทำอาหารบริจาคคนจนกลุ่มนีี้

อีกความมั่นคงทางอาหาร ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ พื้นที่สวนผักคนเมือง ซึ่งใช้พื้นที่ไม่มากแต่สามารถผลิตอาหารเกื้อกูลกับคนในชุมชน​ ปัจจุบัน​ผู้คนตื่นตัวเรื่องนี้มากขึ้น​ เห็นได้จากการเปิดอบรมสวนผักคนเมือง​ก็จะมีผู้คนเข้ามาสมัครเต็มตลอด

แต่เห็นเหมือนกันว่า สิ่งที่คุกคามความมั่นคงทางอาหารคือ 1. ระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมลง 2. พื้นที่เกษร​ตรเชิงเดี่ยวจะมีปัญหามากกว่าพื้นที่เกษตรหลากหลาย และ 3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีข้อสังเกตว่าพื้นที่เกษตรหลากหลายสามารถเก็บความชุ่มชื้นในดินได้มากกว่า​ เรื่องเหล่านี้จึงต้องการความรู้และนวัตกรรมมาช่วยส่งเสริม

“โจทย์ท้าทาย​ก็คือนอกจากการเข้าถึงทรัพยากรแล้ว​ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีการรับมืออย่างไร”

เมื่อดูสัดส่วนความมั่นคงทางอาหารของภาคชนบทพบว่าหลัก ๆ คือ 1. ปลูกกินเอง 2. เอามาจากในป่า​ รองลงมา 3. ซื้อ​ และ 4. แบ่งปันกันก็ยังมีให้เห็น นโยบายที่ท้องถิ่นควรจะมีเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร​ คือ เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารในชุมชนว่าปลูกอะไรบ้าง กี่ไร่​ และ เฝ้าระวังวิกฤตที่จะเกิดขึ้น

ยังมีเด็กขาดสารอาหาร​ ทั้งที่เป็นประเทศส่งออกอาหาร

ดร.สัมพันธ์​ เตชะอธิก นายกสมาคม​พัฒนา​ชุมชนท้องถิ่น​และสังค​ม​ กล่าวว่าย้อนไปปี 2526 เริ่มมีพืชเชิงเดี่ยวเข้ามาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ว่าจะเป็นไร่อ้อย​ หรือไร่ยูคาลิปตัส​ ต่อมาปี 2536 -​ 2540 แรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มสนใจไปทำงานในต่างประเทศเพื่อนำเงินก้อนกลับมาที่บ้าน

แต่อย่างไรก็ตามในภาพรวมก็ยังมีพื้นที่ทำการเกษตรมากถึง 40% มีความสามารถในการปลูกข้าวได้ถึง 22 ล้านตัน จำนวนนี้บริโภคในประเทศเพียง 11 ล้านตัน ที่เหลือส่งออกขณะที่ไข่ไก่ก็ผลิตได้มากถึง 24 ล้านฟอง แต่บริโภคในประเทศเพียง 13 ล้านฟอง​ จะพบว่าผลผลิตที่มาก​ ไม่ได้หมายความว่ามีอาหารพอเพียง สวนทางกับไอคิวของเด็กในจังหวัดมหาสารคามที่ต่ำลง มีเด็กโตไม่สมส่วนถึง 50% มีคนที่อยู่ในเส้นต่ำกว่าความยากจน 9 -​ 10 ล้านคน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็ทำให้มีคนจนเพิ่มขึ้นอีก 10 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร

เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างเร่งด่วน เสนอให้ร่าง พ.ร.บ.แก้จน​ ที่ต้องแก้ในระดับครัวเรือนพุ่งเป้าไปที่ 80,000 หมู่บ้าน​ หมู่บ้านละ 20 หลังคาเรือน​ ใช้งบประมาณ​ 80,000 ล้านบาท​ ฟื้นฟูครอบครัวแก้ปัญหาหนี้สินและส่งเสริมการปลูกเกษตรทฤษฎีใหม่

ด้าน วิฑูรย์​ เลี่ยนจำรูญ​ ผู้อำนวยการมูลนิธิ​ชี​ว​วิถี​ (BIOTHAI)​ กล่าวว่าเด็กบริโภคอาหารไม่สมดุล​ รวมกับค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่มีมากถึงครึ่งหนึ่งของรายรับครัวเรือน​ เป็นผลมาจากการผลิตอาหารเชิงเดี่ยว ความมั่นคงทางอาหารจึงไม่ใช่ว่าประเทศไทยมีบริษัทอาหารขนาดใหญ่แต่เมื่อเกิดวิกฤตก็ต้องไปต่อแถวรอรับอาหาร

วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ชนบทกลายเป็นหลังพิงให้กับแรงงาน แต่ความมั่นคงทางอาหารก็ยังไม่ถูกส่งเสริม​ให้เข้มแข็ง​ วิกฤต​โควิดปีนี้ จึงสะท้อนภาพชัดว่าต้องเร่งส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น​ เน้นที่การมีความมั่นคงทางอาหาร

แต่ก็ต้องแก้ปัญหาหลายอย่าง​ เช่น​ นโยบายรัฐ ที่มุ่งผลิตสินค้าเชิงเดี่ยวเพื่อการส่งออก​ แต่ไม่ได้ส่งเสริมเกษตรหลากหลาย​ เห็นได้ชัดเจนการจัดสรรงบประมาณ 70,000 ล้านบาท​ เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ในขณะที่งบประมาณส่วนนี้เพียง 0.3% สนับสนุนเกษตรหลากหลาย

อีกตัวเลขสำคัญที่สะท้อนเห็นได้ชัดถึงความล้มเหลว​ คือตัวเลขจากสภาพัฒนาการ​เศรษฐกิจ​และ​สังคม​แห่งชาติ​ และกระทรวงเกษตรฯ​ ที่คำนวณรายได้ แบบประกันราคา ไร่อ้อยได้กำไร 1,000 บาทต่อไร่​ ขณะที่ไร่ข้าวโพดได้กำไรเพียง 300 บาทต่อไร่ แต่สำหรับพื้นที่ปลูกเกษตรหลากหลายจะมีรายได้ถึง 7,000 บาทต่อไร่

“เพื่อส่งเสริมเกษตรหลากหลายที่มีรายได้มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวรัฐบาลควรจัดระบบ ตลาดรองรับเช่นให้มีตลาดชุมชน มากกว่าร้านสะดวกซื้อแบรนด์เดียว”

รัฐกระจายอำนาจจัดการเกษตร​ลงท้องถิ่นแล้ว!

รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล​ ที่ปรึกษา​ประจำสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี​ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจ ฉบับที่ 3 เห็นชอบการถ่ายโอนอำนาจการจัดการด้านการเกษตรไปสู่ท้องถิ่น โดยภายในปีนี้ก็จะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ใครที่ต้องการเป็นนายก อบต. แต่ไม่มีนโยบายความมั่นคงทางอาหาร​ ก็อย่าไปเลือก ขณะเดียวกันก็กำลังร่าง​ พ.ร.บ.ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น​ ซึ่งหากไม่ทำตามนโยบายที่ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารก็ประชาชนก็สามารถยื่นชื่อถอดถอนได้

สช. พร้อมดัน​ตลาดชุมชน​เข้าบอร์ด​ เสนอ​ ครม.

สุทธิพงษ์​ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการ​สุขภาพ​แห่งชาติ​ กล่าวว่า หากต้องการขับเคลื่อนให้เกิดตลาดชุมชน สภาองค์กรชุมชนก็สามารถที่จะลงมติ เข้าไปยังที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในวันที่ 16-17 ธ.ค. นี้ หากเห็นตรงกันในการสร้างตลาดชุมชน​ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร​ ก็จะเสนอเข้าไปในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ​ (สช.)​ เพื่อให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี​ (ครม) เพื่อให้มีแนวทางมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการได้

“ตลาดชุมชนสามารถพัฒนาเป็นข้อเสนอนโยบายสาธารณะได้ สช. เห็นด้วยในหลักการ 3 ข้อ​ หนึ่ง ส่งเสริมสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร สอง ยอมรับว่าชุมชนเป็นหน่วยย่อยของความมั่นคงทางอาหาร ต้องทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผลผลิตกับผู้บริโภค และสาม หลักประกัน ด้านการตลาด”

ขณะที่ ดร.สมพันธ์​ บอกว่าหากใช้กระบวนการ​ สช.​ ต้องใช้เวลา​ ปัจจุบัน​ก็สามารถทำได้เลย​ ในการเสนอโครงการเข้าไปในเงินกู้ 4 แสนล้าน ซึ่งปัจจุบันในโครงการเงินกู้ 4 แสนล้านมีโครงการเกี่ยวกับตลาดชุมชน​ ตลาดเขียว​อยู่น้อยมาก

เล็งแก้ พ.ร.บ.สภาองค์กร​ชุมชน​ ร่วมวางแผนพัฒนาจังหวัด

รศ.ดร.ธนพร ​ กล่าวว่าการทำแผนพัฒนาจังหวัดไม่เคยเห็นสภาพัฒนาองค์กรชุมชนเข้าไปในอยู่ในขั้นตอนของการร่างแผน ถ้ามีการปรับปรุง​ พ.ร.บ.สภาพัฒนาองค์กรชุมชน ก็ควรจะต้องระบุส่วนบทบัญญัติ​บทบาทในการร่วมพัฒนาร่างแผนพัฒนาจังหวัดไปให้ชัด เพราะสภาองค์กรชุมชนก็คือการมีส่วนร่วมประชาธิปไตยทางตรง แบบไม่ต้องพึ่งสถาบันการเมือง เพราะฉะนั้น เมื่อจะต้องมีการแก้กฎหมายของสภาองค์กรชุมชน ควรจะสร้างความเชื่อมโยงกับหน่วยงานท้องถิ่น ให้ชัดเจน

ห่วงปัญหาที่ดิน​ -​ สารเคมี​ -​ เขื่อนแม่น้ำโขง ฉุดความมั่นคงทางอาหาร​อีสาน

ระหว่างการจัดเวทีสาธารณะดังกล่าว มีตัวแทนของสภาองค์กรชุมชนในตำบลต่าง ๆ ลุกขึ้นสอบถามประเด็นเกี่ยวกับนโยบายอาหารปลอดภัยที่พยายามผลักดัน แต่ก็มีความพยายามเอาสารเคมีที่ถูกแบนกลับมาใช้ใหม่ หรือแม้กระทั่งต้องการจะส่งเสริมการปลูกเกษตรที่หลากหลาย แต่ก็มีโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านปลูกอ้อยมากขึ้น รุกเข้าไปในที่นาของชาวบ้านคนอื่น​ สร้างความขัดแย้ง​ นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหาที่ดิน ที่ยังมีข้อพิพาทประกาศเขตอุทยาน​ ป่าไม้ต่าง ๆ ทับที่ทำกิน​ รวมไปถึงแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้าน และปัญหาการพัฒนาแหล่งน้ำและป่าชุมชน

รศ.ดร.ธนพร​ ที่ปรึกษา​ประจำสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี​ ชี้แจงว่ากรณีแม่น้ำโขง ปัจจุบันมีการเจรจาระดับทวิภาคีไทย-ลาว แต่ก็ต้องยอมรับว่าโครงการพัฒนาในประเทศเพื่อนบ้านมีบริษัทไทยเข้าไปลงทุน เมื่อก่อให้เกิดผลกระทบในแม่น้ำโขงก็ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร

ขณะที่เรื่องที่ดิน เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็มีการพูดคุยกันในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ถึง 8 ประเด็นปัญหาการพิสูจน์สิทธิที่ทำกิน​ เช่น ความต่อเนื่องในการใช้ประโยชน์ที่ดิน, การใช้ข้อมูลในการสำรวจรอบปัจจุบัน, เกณฑ์การพิจารณาสถานะผู้ยากไร้, การจัดการแปลงที่ดินที่มีคดี รวมไปถึงขอให้ประชาชนรักษาสิทธิในการพิสูจน์สิทธิที่ดินทำกินในระหว่างที่มีการขับเคลื่อน พ.ร.บ.โฉนดชุมชน หรือกฎหมายที่ดินฉบับอื่นควบคู่​ไป

หมายเหตุ

องค์กรร่วมจัดกิจกรรม “จากมือถึงมือ” ครั้งที่ 4 “ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงของมนุษย์”

• สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน – CODI
• เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน และองค์กรภาคี
• สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
• ไทยพีบีเอส ชุมชนสัมพันธ์ สำนักสื่อสารและภาคีสัมพันธ์
• ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส
• Thai PBS

อ่านเพิ่มเติม

จากมือถึงมือ ครั้งที่ 2 : การแบ่งปันทางสังคม สู่นโยบายจ้างงานคนไร้บ้าน

จากมือถึงมือ ครั้งที่ 3 : ชีวิตใหม่ของคนไร้บ้าน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS