ส่องความเห็น แจกเงินหมื่นดิจิทัล ไปต่อ หรือ ควรหยุด?

กำหนดวันดีเดย์ออกมาแล้วว่าคนไทยจะได้ใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาทวันที่ 1 ก.พ. 2567 ท่ามกลางเสียงค้านของนักเศรษฐศาสตร์ ที่มองว่าได้ไม่คุ้มเสีย

รัฐบาลเพื่อไทยยังคงยืนยันเดินหน้าทำตามสิ่งที่เคยหาเสียงไว้ คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกระทรวงการคลังเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนคลุมต้นน้ำ ปลายน้ำซึ่งประชุมครั้งแรกกันไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ต.ค.2566 

เงินดิจิทัล

ปฏิกิริยาต่อเนื่อง มีนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จำนวน 99 คน ออกแถลงการณ์คัดค้านและเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล ถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อน 

ด้วยเห็นว่า วงเงิน 560,000 ล้านบาท ทำให้เสียโอกาสลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้าง digital infrastructure การลงทุนบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังระยะยาว 

หากจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ก็ควรทำแบบเฉพาะเจาะจงแทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทย และความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทำเช่นนั้น

สรุป 7 เหตุผลจาก 99 นักเศรษฐศาสตร์ ค้านรัฐไม่ควรแจกเงินดิจิทัล

  • เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นยังไม่จำเป็น
  • ใช้งบมหาศาลทำรัฐเสียโอกาสลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  • การทุ่มงบ 5.6 แสนล้านกระตุ้น GDP ให้ขยายตัวเป็นความหวังเกินจริง
  • ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นการก่อหนี้จำนวนมากจะทำให้ไทยมีหนี้สาธารณะเพิ่ม
  • ควรลดการขาดดุล ลดหนี้สาธารณะ สร้างที่ว่างทางการคลัง รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต
  • เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม รวย-จน อายุ 16 ปีขึ้นไปได้หมด
  • ไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยการเตรียมตัวด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น 

วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะหนึ่งใน 99 นักเศรษฐศาสตร์ ที่ลงชื่อค้านคัดการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ยกคำกล่าวของ อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่า “ถ้าแพทย์รักษาผู้ป่วยผิดพลาด อาจจะสร้างผลกระทบให้กับชีวิตของผู้ป่วยหนึ่งคนและครอบครัว

ถ้าวิศวกรสร้างตึก หรือสะพานผิดพลาด อาจจะหมายถึงชีวิตคนหลายสิบหรือหลายร้อยคนที่ใช้งาน แต่ถ้านักเศรษฐศาสตร์ทำนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดแล้ว อาจจะกระทบต่อชีวิตของคนหลายสิบล้านคนทั้งประเทศ”

วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

วิรไท วิพากษ์อีกว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี แค่ผู้มีอำนาจรัฐเริ่มคิดจะทำนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่รับผิดชอบ ก็ส่งผลเสียต่อชีวิตคนได้ทั้งประเทศแล้ว ผ่านกลไกของตลาดเงินและตลาดทุน

เรามีตัวอย่างนโยบายภาครัฐจากอดีตหลายอันที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นๆแต่สร้างความบิดเบือนให้กับกลไกตลาด และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศสร้างภาระทางการคลังแบบได้ไม่คุ้มเสีย และส่งผลกระทบต่อผลิตภาพยาวนานไปอีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็น โครงการรับจำนำข้าว หรือ โครงการรถคันแรก 

ถ้าเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยการทำนโยบายที่หวังผลต่อ GDP แค่ช่วงสั้น ๆ หรือผลที่จะเกิดขึ้นกับฐานเสียงในการเลือกตั้ง 4 ปีข้างหน้า อาจจะกลับทิศได้อีกด้วยถึงเวลาใกล้เลือกตั้งรอบหน้าเศรษฐกิจที่โดนกระตุ้นด้วยยาโด๊บเงินดิจิทัลก็คงหมดพลังลงพอดี นอกจากนี้โครงการภาครัฐดี ๆ อีกนับสิบนับร้อยโครงการที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในวันนี้และวันหน้าอาจโดนถูกตัดงบประมาณลง

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่าประชาชนจำนวนมากต้องการการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป มากกว่านโยบายประชานิยม เชื่อว่าในอีกสี่ปีข้างหน้า กระแสเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปจะยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีกในขณะที่ทรัพยากรด้านการคลังจะยิ่งจำกัดมากขึ้น

นอกจากนี้ ถ้าผู้มีอำนาจรัฐเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ไม่รับผิดชอบแล้ว ความน่าเชื่อถือจะไหลลงเร็ว ทั้งจากในและต่างประเทศ จะทำอะไรต่อไปก็จะยากไปหมด มีแต่ความไม่เชื่อมั่น ความแคลงใจกัน นโยบายที่จะสนับสนุนการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงสำหรับอนาคตของประเทศจะยิ่งเกิดได้ยากมาก

“โจทย์ในวันนี้น่าจะเป็นว่าจะช่วยกันหาทางลงให้กับนโยบายที่หาเสียงไว้แล้วแต่ไม่ควรทำได้อย่างไร มากกว่าที่จะเดินหน้าต่อทั้งที่รู้ว่าจะสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย”​ 

วิรไท กล่าว 

ขณะที่ สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI  มองว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท อาจหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยไม่เกิน 1 รอบ กระตุ้นจีดีพีไม่ถึง 3% เพราะมีเงินจำนวนไม่น้อยที่อาจตกอยู่ในมือของผู้ที่ยังไม่ต้องการใช้เงินในทันที และกังวลว่าจะเหลือเงินน้อยลงในการดูแลเด็ก คนพิการ คนแก่ เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะฐานะทางบ้านยากจน ฯลฯ

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง TDRI 

ทั้งนี้ ยังต้องพิจารณาถึงแหล่งที่มาของเงินด้วย ว่าจะนำมาจากส่วนใด หากนำมาจากการกู้ทั้งหมด ก็หมายความว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยก็จะเพิ่มขึ้นราว 3% ด้วย ซึ่งมองว่าไม่คุ้ม เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้น ไม่ได้เติบโตจากภาคการผลิต ส่งออก หรือท่องเที่ยว นโยบายนี้อาจเป็นเพียงการนำเงินอนาคตมาใช้เท่านั้น 

ด้าน กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก TDRI มองว่าเป็นการกระตุ้นแค่ระยะสั้น เป็นห่วงเงินเฟ้อพุ่ง สร้างภาระการคลัง จนกดดันให้รัฐบาลต้องรีดเก็บภาษีเพิ่มในอนาคต เสนอให้รัฐปรับเงื่อนไขมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะกลุ่มคนมีรายได้น้อยและจำเป็น พร้อมยกเลิกเงื่อนไขเรื่องระยะทางตามทะเบียนบ้าน

สำรวจมุมมองหนุนดิจิทัลวอลเล็ต 

อีกด้านก็ยังมีความคิดเห็นที่สนับสนุนการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ทั้งยังมีมุมมองต่อกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ วิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในยุค พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ทำตามที่พวกเขาต้องการ เช่นแจกเฉพาะกลุ่ม อย่าให้นโยบายกระทบเสถียรภาพทางการเงิน จะได้ไม่กระทบคนเล่นหุ้น พันธบัตร ฯลฯ ทั้ง ๆ ในภาพรวม เศรษฐกิจโตช้า ความยากจนเพิ่มและเพิ่มความเหลื่อมล้ำ 

นักศรษฐศาสตร์สำนักนี้ (Monetarism) ใส่ใจเฉพาะฝั่งอุปสงค์ ไม่ได้สนใจอุปทานเลย ทางออกก็ไม่มีสำหรับประชาชน ให้อยู่ไปแบบนี้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นทั้ง ๆ ที่ หากนโยบายเศรษฐกิจไม่ใช่เฉพาะเงินดิจิทัล แต่ต้องรวมนโยบายอื่น ๆ ด้วยทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ก็จะทำให้ขยับเพดานหนี้ได้ในอนาคต แต่เขาไม่อยากเสี่ยงกัน

วิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“นอกจากนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น การลงทุนและการส่งออกหดตัวได้ ในความคิดเห็นของผมการขยายศักยภาพการบริโภคภายในจะเป็น only solution”

วิโรจน์ กล่าว

ขณะที่ อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายที่ดีของรัฐบาล ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของประชาชน ที่กำลังลำบากอย่างยิ่งจากวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ขั้นต่ำ ปานกลางแรงงาน และกลุ่มเปราะบาง ประเภทต่างๆ และ คนตกงาน

หากพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจเวลนี้ ฝั่งอุปสงค์ ดูจากเปอร์เซ็นต์หนี้ครัวเรือน ต่อ GDP ที่สูงถึง 91% ยังไม่รวมหนี้นอกระบบ ฝั่งอุปทาน ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ จากการส่งออกที่ชะลอตัว สินค้าราคาถูกนำเข้า ไร้มาตรฐานแทรกแซงตลาดในประเทศ ความผันผวนของราคาพลังงานโลก และล่าสุดการเร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยอ้างเหตุผลสกัดเงินเฟ้อในอนาคต 

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) 

สำหรับทางออกของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มการบริโภค จากการเลือกใช้เงินดิจิทัลคือการควบคุมประเภทของการใช้เงิน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล (สินค้า หรือ บริการ ที่จำเป็นในการครองชีพ) และให้เงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในระบบ Block chain ตลอดเวลา 6 เดือน ของโครงการ ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้เงินหมุนเวียน และกระจายสู่ท้องถิ่น และ SMEs มากที่สุด ไม่กระจุกตัวในสินค้า ตลาดที่ผูกขาดของทุนใหญ่ มากเกินไป

“เศรษฐกิจในประเทศของเราต้องยอมรับว่าฝืดเคืองอย่างยิ่ง เราต้องการการกระตุ้นการบริโภคเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ ผมปรารถนาที่จะให้ประเทศไทยได้ร่วมกันฝ่าฟันปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ครั้งนี้ให้ผ่านไปได้ด้วยดีด้วยการใช้พลังบวกลดการโต้ตอบทางการเมืองซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมประเทศไปมากกว่านี้” 

อิศเรศ กล่าว 

ในส่วนของวินัยการคลัง ผลกระทบเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ความคุ้มค่าของโครงการนี้ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกว่าเป็นสิ่งที่กูรูทั้งปวง ควรต้องช่วยกันเสนอแนะทางออกที่ดีอย่างสร้างสรรค์เพื่อเป็นการเดินหน้าเศรษฐกิจประเทศไทยไม่ใช่อยู่ภายใต้การสร้างความหวาดกลัวจนเกินจริงหรือไม่ 

ตลาดเงิน ตลาดทุนกังวล ลดเครดิตประเทศไทย 

อย่างไรก็ตามเพียงเดือนเศษ ๆ ที่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต มีหลายปฏิกิริยาจากแวดวงธุรกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุน เช่นบริษัทผู้ประเมิน credit rating รายใหญ่ ทั้ง 3 เจ้าอย่าง S&P, Moody’s  และ Fitch ออกมาเตือน และพร้อมที่จะลด credit rating ประเทศไทยหากใช้นโยบายทางการคลังที่ไม่เหมาะสม 

ผลที่ตามมาคือนักลงทุนเทขายพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างหนักจน yield ขึ้นมากว่า 70 basis point รวมผลกระทบจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น เพียงระยะเวลาเพียงเดือนเศษ จนมาอยู่ในระดับเดียวกันกับเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าไปถึง 37 บาท ขณะที่ราคาหุ้นไทยตกไปแล้วกว่า13%

ขณะเดียวกันก็กำลังจะทำให้หนี้สินรัฐบาล 7.6 ล้านล้านบาท ที่มีค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท กำลังจะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะที่ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บอกว่า หากเทียบสุขภาพของเศรษฐกิจไทยที่เห็นชัด เราไม่ได้เป็นคนไข้ที่นอนอยู่บนเตียงแต่เรากลับมาอยู่บ้านได้แล้ว ถึงแม้เราจะมีปัญหาด้านศักยภาพ แต่เรายังมีโอกาส แง่สุขภาพของเศรษฐกิจไทย ระยะสั้นไม่น่าห่วง แต่ที่ขาดคือระยะยาวเพราะเรามีปัญหาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ท่ามกลางเสียงค้าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยืนยันจำเป็นต้องเติมเงินให้คนฐานราก คนต่างจังหวัดไม่ได้มีเงินเยอะเหมือนคนที่อยู่ฐานบนของสังคมความเหลื่อมล้ำมีเยอะมากในสังคมไทย งบประมาณของโครงการนี้ 5.6 แสนกว่าล้านบาท ไม่ใช่ งบประมาณที่ทำทุกปี ขอทำความเข้าใจว่าทำแค่ครั้งเดียว ไม่ใช่ตั้งใจเอามาเพื่อซื้อเสียง เราทำออกมา เพื่อให้ประชาชนมีเงินทุนในการประกอบอาชีพอย่าง มีเกียรติมีศักดิ์ศรี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องตอบคำถามทุกคำถามให้ได้ว่า เป็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่าแท้จริงหรือไม่ ถ้าหากรัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามจนเกิดความชัดเจนได้ ก็ควรหารูปแบบที่เหมาะสมในการดำเนินโครงการ ซึ่งมีหลายข้อเสนอก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการจ่ายเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพราะงบประมาณ 5.6 แสนล้านบาทถือว่าสูงมาก และอาจทำให้ประเทศเสียโอกาสการใช้งบประมาณเพื่อลงทุนด้านอื่น

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์