วิกฤตโควิด-19 : จังหวัดชายแดนใต้

“ผมรู้ว่าการตัดสินใจแบบนี้มีความเสี่ยง ที่เกือบจะแน่นอนเลยว่า เมื่อเราเริ่มต้นการผ่อนคลายต่าง ๆ จะทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นการชั่วคราว ซึ่งเราต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประเมินดูว่า เราจะรับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร เราต้องไม่ปล่อยโอกาสนี้ เพราะถ้าเราต้องเสียโอกาส ในช่วงเวลาทอง ของการทำมาหากินไปอีก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ผมคิดว่าประชาชนคงรับมือไม่ไหวอีกต่อไป”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

บางช่วงบางตอนในถ้อยแถลงของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 สาระสำคัญ คือ การลุล่วงภารกิจตามคำสัญญา 120 วัน และจะทยอยผ่อนคลายมาตรการสำคัญ พร้อมเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่จะถึงนี้

2 สัปดาห์ก่อน ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันของ 4 จังหวัดชายแดนใต้ “สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส” รวมกัน เท่ากับ 1 ใน 4 ของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดของประเทศ  ทำให้ “ภาพรวม” การติดเชื้อของประเทศไทยยังคงแตะหลักหมื่นทุกวัน และยอดผู้เสียชีวิตบางวันกลับไปที่หลักร้อยอีกครั้ง ส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับการติดเชื้อสูงขึ้นติดอันดับต้นของโลก และอาจมีผลต่อการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความกังวลการเปิดเทอมของเด็กทั่วประเทศ

แต่วิกฤตโควิด-19 จังหวัดชายแดนใต้ “อยู่ในความสนใจ” ของสังคมไทยเพียงลมปะทะผิวหน้าเบา ๆ การที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี นำหน่วยงานราชการแถลงยืนยัน เตรียมพร้อมเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้แน่นอน จะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม นี่คือการส่งสัญญาณให้ทุกหน่วยงาน “ขับเคลื่อน” สู่การเปิดประเทศ มีนัยว่ากระทรวงสาธารณสุขจะต้องรับมือกับสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดเพียงลำพัง

หลักฐาน คือ การส่งสัญญาณล่วงหน้าการยุบ ศบค. การวางแผนยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การควบคุมโรคระบาด และกลับมาใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาเป็นระยะ

The Active พยายามคลี่ข้อมูล “วิกฤตโควิด-19 จังหวัดชายแดนใต้” เพื่อชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มวิกฤตดังกล่าว จะอยู่กับประเทศไทยไปอีกนาน โดยที่ความสนใจของคนทั้งประเทศคือเรื่องปากท้อง จนกว่าวิกฤตดังกล่าวจะฉุด “ภาพรวมของประเทศ” ให้ตกลงมาอยู่ด้วยกันใหม่อีกครั้ง


โควิด-19 กับ “4 จังหวัดชายแดนใต้”

ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน “4 จังหวัดชายแดนใต้” ค่อย ๆ ยกตัวสูงขึ้นอย่างเงียบ ๆ คู่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เจอวิกฤตการระบาดระลอก 3 และ 4

ขณะนั้น คนไทยกังวลระคนหวาดหวั่น เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมแตะแสนคน เป็นการระบาดขยายวงกว้างพุ่งเป้าไปที่คนจนเมือง แรงงานต่างชาติที่เป็นประชากรแฝงในมหานครใหญ่ ในชุมชนแออัด ซึ่งควบคุมโรคอย่างยากลําบาก จากฤทธิ์ร้ายเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา ทำให้การแพร่ระบาดเร็วและอาการป่วยหนักเร็วขึ้น จนคนทั้งประเทศพร้อมใจกันยกวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัด ทุ่มไปที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายเชื้อสู่จังหวัดอื่น ๆ มุ่งหวังการตัดวงจรการระบาดโดยเร็ว

ความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์เดลตา สร้างภาพจำ กลายเป็นประวัติศาสตร์สังคมไทยที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น คือ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล คนล้มตายกลางถนน ต้องเปิดโรงพยาบาลสนามบุษราคัม 3,000 กว่าเตียงรองรับ และส่งออกคนป่วยจำนวนมากกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา กว่ายอดผู้ติดเชื้อของกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะขึ้นสูงสุดในเดือนสิงหาคม และค่อย ๆ ลดลงจนทรงตัว

จากผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ 4 พันคน ในช่วงต้นเดือนกันยายน แต่เมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคม กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง และทยอยลดลงมาแตะ 1 พันคน ในขณะนี้ 

ขณะที่ ผู้ติดเชื้อในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากที่เคยพบผู้ติดเชื้อหลัก 100 – 200 คน ในช่วงต้นเดือนกันยายน แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ก็ค่อย ๆ ทะยานไต่ระดับ อยู่ที่ 300, 400 และ 500 คน ในเพียงไม่กี่สัปดาห์ กระทั่งในวันที่ 10 ตุลาคม ก่อนหน้าการแถลงเตรียมพร้อมเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรีเพียงวันเดียว ทั้ง 4 จังหวัด กลายเป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุด เป็นรองเพียงกรุงเทพฯ รวมแล้ว 4 จังหวัด 2,332 คน มากกว่ากรุงเทพฯ เกือบเท่าตัว ขณะที่มีสัดส่วนประชากรรวมกันน้อยกว่ากรุงเทพฯ ราว 1 ใน 3 เท่านั้น

ขณะนี้ “วิกฤตโควิด-19 จังหวัดชายแดนใต้” กำลังมีรูปแบบการระบาดคล้ายกับสถานการณ์กรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อหลายเดือนก่อน

กล่าวคือ วันที่ 15 ตุลาคม 2564 กรุงเทพฯ และปริมณฑล (5 จังหวัด) ซึ่งมีจำนวนประชากร 10.6 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รายวัน เพิ่มขึ้น 1,768 คน ยอดผู้ป่วย ติดเชื้อสะสม 718,277 คน เสียชีวิต 20 คน

4 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีจำนวนประชากรรวมกัน 3.5 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รายวัน 2,510 คน ยอดผู้ป่วย ติดเชื้อสะสม 129,270 คน เสียชีวิต 21 คน

เปรียบเทียบให้ชัดขึ้น กรุงเทพฯ และปริมณฑล ติดเชื้อรวม 1,768 คน คิดเป็น 17% ของประเทศ ส่วน พื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ติดเชื้อรวม 2,510 คนคิดเป็น 25% ของประเทศ ต่างจังหวัด 67 จังหวัด ติดเชื้อรวม 5,999 คน คิดเป็น 58% ของประเทศ

เมื่อแยกรายจังหวัด ยะลา ติดเชื้อสูงสุด 767 คน ติดเชื้อรองลงมาคือ ปัตตานี 644 คน สงขลา 605 คน และนราธิวาส 494 คน

แต่ยอดการฉีดวัคซีนโควิด-19 กลับแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งสถานการณ์และปริมาณ กล่าวคือ เมื่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตากำลังค่อย ๆ แพร่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ก็รีบทุ่มวัคซีนในการตัดวงจรการระบาด เพื่อไม่ให้ยอดกราฟการติดเชื้อรายวันและการตายพุ่งสูง ผสมการรณรงค์ “ตรวจเชื้อเร็ว (ด้วยชุดตรวจ ATK) รักษาเร็ว (ด้วยยาฟาวิพิราเวียร์) และสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน” ทำให้สถานการณ์พลิกกลับมาดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนที่เชื้อไวรัสเดลตาจะแพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่ จนโควิดสายพันธุ์อัลฟ่าหายไป

ขณะที่ พื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตากินพื้นที่เกือบ 50% ซึ่งเป็น “ขาขึ้น” ของการการระบาด แต่ยอดการฉีดวัคซีนในพื้นที่กลับน้อยมาก จากการจัดส่งวัคซีนไปที่จังหวัดชายแดนห่างไกลล่าช้า เมื่อความเจ็บป่วย “ไกลหัวใจ” จึงแสดงให้เห็นความเจ็บปวดของความเหลื่อมล้ำ 

ขณะนี้ กรุงเทพมหานคร มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วมากกว่า 13 ล้านโดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนครบโดส หรือครอบ 2 เข็ม อยู่ที่ร้อยละ 64.27 จากจำนวนประชากรทั้งหมด

ส่วน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้ง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีการฉีดวัคซีนไปเพียง 2.5 ล้านโดส โดยมีผู้ได้รับวัคซีนครบโดส อยู่ที่ร้อยละ 27.6 จากสัดส่วนประชากรที่มีอยู่ 3.5 ล้านคน ยังไม่นับว่า ในจำนวนวัคซีนที่มีการฉีดทั้งหมด 2.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 เพียง 46,786 คน หรือราว 1.3 % ของสัดส่วนประชากรเท่านั้น

เมื่อแยกรายจังหวัด จะเห็นว่าเปอร์เซ็นสะสมต่อจำนวนประชากรของ นราธิวาส คือ40.51% ปัตตานี43.81% สงขลา49.00% และยะลา50.16% ขณะที่กรุงเทพมหานครมีเปอร์เซ็นสะสม สูงถึง101.78% (จากปัจจัยการรับวัคซีนเข็มที่ 3)

อีกทั้งจังหวัดเหล่านี้ (นอกจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล) ส่วนใหญ่ยังได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนแวคมาก่อน หรือเป็นการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ ซิโนแวคและแอสตราเซเนกา ต่างจากกรุงเทพฯ ที่ทุ่มแอสตราเซเนกาลงไป เพื่อปูพรมหยุดการระบาด


ต่างศาสนา ต่างมาตรการควบคุมโรคชายแดนใต้

หากเดินไปถามหมอตามโรงพยาบาลชุมชนพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ พวกเขาจะบอกว่า “อย่าเอาโมเดลการควบคุมโรคมาใช้กับที่นี่” เพราะบริบทที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ เรื่องวัฒนธรรมและหลักศาสนาที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน 

กล่าวเฉพาะข้อมูลประชากร ระบบสถิติทางการทะเบียน ปี 2563 พบว่า พื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีประชากรรวมกันจำนวน 3.5 ล้านคน ไม่นับแรงงานต่างชาติ และคนข้ามแดนที่เป็นประชากรแฝง จากการสำมะโนประชากรและการเคหะ ปี 2553 มีประชากรมุสลิม 82.29% พุทธ 17.61% และอื่น ๆ 0.1% ข้อมูลโดยละเอียด กล่าวคือ

  • ปัตตานี มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด 87.96% มีคนพุทธประมาณ 12%
  • ยะลา นับถือศาสนาอิสลาม 81.46% คนพุทธ 18.45%
  • นราธิวาส นับถือศาสนาอิสลาม 82% คนพุทธ 17%
  • สงขลา นับถือศาสนาอิสลาม 63.71% คนพุทธ 33.16%

ดังนั้น การรวมตัวและสัมผัสจะสัมพันธ์กับกิจกรรมทางศาสนา อาทิ การทักทายกันด้วยวิธี “สลาม” สัมผัสมือ หรือ

พิธีละหมาด กระทำวันละ 5 เวลา ได้แก่ ยามรุ่งอรุณ (ซุบฮี), ยามบ่ายช่วงตะวันคล้อย (ดุฮรี), ยามเย็น (อัศรี), ยามอาทิตย์ตกดิน (มัฆริบ) และยามค่ำคืน (อิชาอ์))

พิธีการถือศีลอด (ปอซอ ในภาษายาวี หรือ ศิยาม ในภาษาอาหรับ) หมายถึง การอดอาหารและเครื่องดื่ม และงดการร่วมประเวณี ตั้งแต่ยามรุ่งอรุณ จนกระทั่งถึงเวลาหลังตะวันตกดิน ปะกอบด้วย 1. ศีลอดภาคบังคับ ที่ชายหญิงมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะต้องปฏิบัติในเดือนรอมะฎอนทุกปี 2. ศีลอดภาคสมัครใจ ที่ชายหญิงมุสลิมถือศีลอดในวันอื่น ๆ นอกเดือนรอมะฎอน

พิธีฮัจญ์ ภาษามลายูปัตตานีเรียก บูวะฮายี คือการเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่มักกะฮ์ (Mecca) ในเดือนซุลฮิจญะฮ์ (Dhu_al-Hijjah) ตามวันเวลา และสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางศาสนาอิสลามกำหนดไว้ ซึ่งศาสนกิจข้อนี้เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิง ทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง ที่จะต้องปฏิบัติ

ส่วนความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่อาชีพประมง เกษตร การค้า และปลูกยางพารา พบว่าในปี 2559 ประมาณ 44% ของผู้มีงานทำ (843,288 คน) ทำงานในภาคเกษตรกรรม

เมื่อพิจารณา “ความยากจน” พบว่า ในปี 2543-2560 อัตราความยากจนในพื้นที่นี้สูงกว่าระดับประเทศและระดับภูมิภาคตลอด ในปี 2560 จ.นราธิวาสและปัตตานี เป็นสองจังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ และผู้คนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ มักอยู่กันเป็นครอบครัวขยายขนาดใหญ่ อยู่กันเป็นเครือญาติ บ้านหนึ่งอยู่กันประมาณ 8-10 คน 

และในเชิงพื้นที่กายภาพ พื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้มีพื้นที่เขตแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาษาที่ใช้สื่อสารเป็นภาษามลายูและการรับข้อมูลข่าวสารก็จะได้รับจากทางมาเลเซีย และผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน มากกว่าจาก “ศูนย์กลางอำนาจ” อย่างกรุงเทพมหานคร ผู้คนในพื้นที่จึงอาจได้รับข่าวสารการรณรงค์ด้านสุขภาพ ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ต่างจากคนทั้งประเทศ และแน่นอน ข้อมูลด้านลบเรื่องประสิทธิภาพวัคซีนก็จะมาจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก 


คุมระบาดช้า ไวรัสกลายพันธุ์ กระจายเชื้อได้เร็ว

คนไทยอาจจะลืมไปแล้ว การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 คนกรุงเทพฯ อาจจะตกใจ ตื่นกลัวการระบาดจากคลัสเตอร์สนามมวย และสถานบันเทิงทองหล่อ ต้นเดือนมีนาคม 2563 มีคนไทย 132 คน กลับจากการชุมนุมของผู้เผยแพร่ศาสนา ณ กรุงกัวลาสัมเปอร์ มาเลเซีย และนี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญของระบาดในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้เป็นต้นมา 

ด้วยเงื่อนไขเชิงบริบททั้งเป็นพื้นที่ชายแดน และวิถีชีวิต วัฒนธรรม การนับถือศาสนาที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ของประเทศทำให้การควบคุมโรคอุบัติใหม่นี้เป็นไปช้า ๆ ตลอดเกือบสองปีนี้ มีการระบาดของโควิด-19 อยู่ตลอดเวลาไม่เคยหายไป และยังพบเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์จากคนข้ามแดน โดยเฉพาะเชื้อ โควิดสายพันธุ์เบตามีชื่อเรียกว่า 501Y.V2 หรือ B.1.351 พบการกลายพันธุ์ที่แอฟริกา แต่ภายหลังที่พบการแพร่กระจายเป็นวงกว้างทั่วโลก พบครั้งแรกในประเทศไทย ที่คลัสเตอร์อ.ตากใบจ.นราธิวาส จนเชื้อเริ่มปักหลักอยู่ในพื้นชายแดนนี้ 

ขณะที่โควิดสายพันธุ์เบตา มีอาการเบื้องต้นของโรคเช่นเดียวกับโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ ได้แก่ มีไข้ ไอแห้ง และอ่อนเพลีย สิ่งที่ทำให้ตรวจพบโรคโควิดสายพันธุ์เบตานี้ได้เร็ว คือ ผู้ป่วยมีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง และสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยัน อาการที่พบอื่น ๆ ได้แก่ ปวดเมื่อยเนื้อตัว, เจ็บคอ, ท้องเสีย, ปวดศีรษะ, ตาแดง, สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส, มีผื่นขึ้นที่บริเวณผิวหนัง หรือ นิ้วมือนิ้วเท้าเปลี่ยนสี

อาการโควิดจะรุนแรงเมื่อเชื้อลงปอด คือ ผู้ป่วยหายใจลำบาก ติดขัด หายใจถี่ มีเสมหะอยู่ในปอด เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก สูญเสียความสามารถในการพูดและเคลื่อนไหว หลังจากที่ได้รับเชื้อแล้วผู้ป่วยมักจะแสดงอาการในวันที่ 5-14 วัน จึงเป็นช่วงเวลาที่ผู้เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง ควรกักตัว อยู่ในที่พักอาศัย เพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่อนี้ 

เนื่องจากโควิดสายพันธุ์เบตานี้ถูกจัดเป็น “ไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (Variant of Concern : VOC)” จึงต้องเฝ้าระวังการติดต่อแพร่กระจายที่อาจเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม (เชื้ออัลฟา หรือสายพันธุ์อังกฤษ) ในอัตราที่สูงขึ้น และคาดว่ามีความรุนแรงของโรคมากกว่า รวมถึงอาจลดประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันของวัคซีน ลดประสิทธิภาพการรักษาที่มีอยู่ และอาจลดประสิทธิภาพของมาตรการด้านสาธารณสุขในสังคม

และต่อมา ไม่นาน ก็พบเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ฤทธิ์ร้ายที่เคยจู่โจม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็น “ศูนย์กลางการระบาดและส่งออกเชื้อโควิด” ก็ค่อย ๆ คืบคลานมาจู่โจมที่พื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้อย่างเงียบเชียบ กว่าจะรู้ตัวก็เพิ่มอัตราผู้ติดเชื้อใหม่รายวันและเสียชีวิตสูง นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคอยเฝ้าระวังติดตามเชื้อโควิดกลายพันธ์จากการสุ่มตรวจผู้ป่วย พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ  กรุงเทพฯ พบเชื้ออัลฟา 4,987 ตัวอย่าง และสายพันธุ์เดลตา 13,239 ตัวอย่าง ขณะที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ตรวจพบสายพันธุ์เบตาสูงสุดในประเทศ 615 ตัวอย่าง เคยตรวจพบสายพันธุ์อัลฟา 2,835 ตัวอย่าง สูงกว่าเดลตา 733 ตัวอย่าง แต่วิกฤตโควิด 4 จังหวัดชายแดนใต้กำลังเปลี่ยนโฉมหน้า

นายแพทย์มัซลัน ตะเระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธารโต จ.ยะลา เข้าประชุมร่วมกับจังหวัด ในโอกาสที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ตัวแทนกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า ถ้าไม่เร่งควบคุมโรค เดือนพฤศจิกายน จ.ยะลา อาจมีผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงถึงวันละ 2,200 คน และสถานการณ์จะลากยาวถึงเดือนมีนาคม 2565 เพราะโควิดสายพันธุ์เดลตากำลังโจมตีหนักขึ้นเรื่อย ๆ

AlphaBetaDelta
สิงหาคม 256470%20%10%
กันยายน 256450%25%25%
ตุลาคม 256425%25%50%
พฤศจิกายน 2564จะหมดไป20%เกือบทั้งหมด

ดังนั้น เมื่อชายแดนใต้ พบโควิด-19 มากถึง 3 สายพันธุ์ จึงจำเป็นต้องใช้วัคซีนที่มีประสิทธิในการสร้างภูมิคุ้มกันและตัดวงจรการระบาด นี่เป็นเหตุผลทำไมกระทรวงสาธารณสุข เทวัคซีนไฟเซอร์สำหรับที่นี่ 1 ล้านโดส


วัคซีนคือคำตอบ

เมื่อสถานการณ์การระบาดพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กำลังซ้ำรอยเช่นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เคยผ่านประสบการณ์วิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่มา ประกอบกับบริบทที่รัฐบาลเข้าเกียร์เร่งการเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยว 1 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ให้สามารถนั่งกินในร้านอาหารและสามารถเดินทางข้ามพื้นที่ได้ วันที่ 1 กันยายน ต่อมามีการคลายล็อกมาตรการคุมโรค ลดเวลาเคอร์ฟิว (การห้ามออกจากเคหะสถาน) จาก 21.00 น เป็น 22.00 น. จนถึงเวลา 04.00 น. และวันที่ 16 ตุลาคม ก็ลดเคอร์ฟิวจาก 22.00 น. เป็น 23.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ทำให้ผู้คนจำนวนมากออกมาใช้ชีวิตเกือบเป็นปกติเหมือนก่อนเกิดโรคระบาด

จึงเป็นเรื่องน่าท้าทายมาก เมื่อ ศบค. ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคแบบเหมาเข่ง ขณะที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้กำลังเผชิญกับวิกฤตการระบาด “ขาขึ้น” ยังไม่เห็นจุดสูงสุดที่จะทำให้ยอดตัวเลขตกลงมา วัคซีนจึงน่าจะเป็นคำตอบสำหรับสถานการณ์นี้ 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข พยายามทุ่มทรัพยากรเพื่อหยุดยั้งการระบาด นอกจากวัคซีนไฟเซอร์ 1 ล้านโดสเพื่อฉีดให้ครอบคลุมประชากรเป้าหมาย 70% ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน โดยในสัปดาห์นี้จะส่งวัคซีน 4 แสนโดส และสัปดาห์หน้าอีก 6 แสนโดสแล้ว ยังส่งยาฟาวิพิราเวียร์มาให้อีก จำนวน 1,800,000 เม็ด โดยแบ่งให้จ.นราธิวาส 200,000 เม็ด ปัตตานี 50,000 เม็ด สงขลา 1,200,000 เม็ด ส่วนยะลาส่งให้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 350,000 เม็ด พร้อมส่งชุดตรวจ ATK ให้กับบุคลากรทางการแพทย์อีก 140,000 ชุด

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ตั้งคำถามว่า การจัดสรรวัคซีนแม้จะได้รับมากขึ้น แต่อาจจะสายเกินไปหรือไม่ เพราะในพื้นที่เกิดการระบาดใหญ่แล้ว ทั้งที่ การการระบาดต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางกรกฎาคม ต่อเนื่องสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วัคซีนขาดแคลนทั้งประเทศ และต้องทุ่มวัคซีนไปที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อถึงเดือนกันยายนที่เริ่มมีการคลายล็อก ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างยากที่จะควบคุมได้

“ข้อสังเกตสำคัญคือ การระบาดในชายแดนใต้น่ากังวล เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล ที่ผ่านมาจึงอาจถูกละเลย ต่างจากการระบาดในกรุงเทพมหานคร”


การใช้กฎหมายความมั่นคง ช่วยควบคุมโรคได้จริงหรือไม่ ในพื้นที่ชายแดนใต้?

การเกิดขึ้นของ ศบค. ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ประชาชนในภูมิภาคอื่น ๆ เข้าใจกฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นกฎหมายหลักที่ใช้ในการควบคุมโรคระบาดควบคู่กับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ

แต่ไม่ใช่กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่กับสถานการณ์ความขัดแย้งและรุนแรงยืดเยื้อยาวนานถึง 17 ปี

กฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มี 3 ฉบับ คือ กฎอัยการศึก ที่เทียบเท่าพระราชบัญญัติ ส่วนอีก 2 ฉบับคือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2548 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ส่วนน้อย ที่สถานการณ์ด้านความมั่นคงมีรุนแรงน้อยกว่า

ในส่วนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น นอกจากจะเป็นการประกาศใช้เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคง ที่ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่ทั้ง 3 จังหวัด (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) ในทุก ๆ 3 เดือน ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กันยายน ครม. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในท้องที่ 1. นราธิวาส ยกเว้น อ.ศรีสาครอ.สุไหงโก-ลก และอ.สุคิริน 2. ยะลา ยกเว้นอ.เบตง และอ.กาบัง 3. ปัตตานี ยกเว้นอ.ไม้แก่น และอ.แม่ลาน ออกไปอีก 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน – 19 ธันวาคม 2564 

และเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ในการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ก็มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติมเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศใช้กับสถานการณ์โรคระบาด

มีการเปรียบเทียบพระราชกำหนดนี้กับพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งหลายฝ่ายเสนอว่า ควรยกเลิกพระราชกำหนดฯ แล้วใช้อำนาจตามกฎหมายดังกล่าวแทน 

ข้อเหมือน

  1. การกักตัวหรือควบคุมตัวบุคคล
  2. การเข้าออก ตรวจค้นเคหสถาน
  3. การสั่งห้ามใช้อาคาร หรืออยู่ในสถานที่ที่กำหนด
  4. การสั่งห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะที่กำหนด

ข้อแตกต่าง (ที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำได้ แต่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่ให้)

  1. การประกาศเคอร์ฟิว
  2. คำสั่งห้ามชุมนุมหรือมั่วสุม
  3. การตรวจสอบหรือยับยั้งการสื่อสาร
  4. การอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนด
  5. การยกเว้นความรับผิดของพนักงานเจ้าหน้าที่

ยิ่งใช้กฎหมายเข้มยิ่งไม่ช่วยคุมการระบาด?

หลังจากการประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวจากขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 แต่เจ้าหน้าความมั่นคงที่ปฏิบัติการในพื้นที่ก็ยังเดินหน้าใช้มาตรการปกติในการเข้าปิดล้อมตรวจค้นบุคคลต้องสงสัยในหมู่บ้าน แม้จะมีการเรียกร้องจากนักสิทธิมนุษยชน องค์กร ภาคประชาสังคมให้มีการยุติการปฏิบัติการในพื้นที่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกับคู่ขัดแย้งใน การยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สร้างความยากลำบากทางด้านสุขภาพ การศึกษา สังคมและเศรษฐกิจต่อประชาชน ทุกเพศ วัย ศาสนา

ซึ่งโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ส่วนหน้า) ยืนยันว่าหน่วยงานความมั่นคงจะดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามปกติ รัฐจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากฝ่ายความมั่นคงมองว่านโยบายด้านความมั่นคง ด้านการป้องกัน และการใช้กฎหมาย สามารถกำจัดเสรีภาพของผู้ก่อเหตุได้ ซึ่งสะท้อนแนวปฏิบัติของฝ่ายความมั่นคงที่ยังคงไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสถานการณ์โควิด-19

นายแพทย์มัซลัน อุปมาอุปไมย “เคยฟังไหมว่าเหตุการณ์สงบ งบฯ ไม่มา…มันจะมีชุดความคิดนี้ฝังอยู่ลึก ๆ อยู่ในใจของคนในพื้นที่อยู่แล้ว เผอิญว่าโควิดมันไประบาดในมัสยิด ในชุมชนมุสลิม แล้วทำไมคนไทยพุทธไม่ระบาด ทำไมระบาดในมัสยิดอย่างเดียว ทำไมในวัดมันไม่ระบาดล่ะ พอสองชุดความคิดนี้มาอยู่ด้วยกัน ก็เลยเกิดแรงต้านจากชาวบ้านขึ้นมา”

ในช่วงแรกที่ชาวบ้านบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจที่มาของโรค จึงไม่ค่อยต้อนรับแพทย์และพยาบาลที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชน จนเจ้าหน้าที่บางคนเกิดอาการท้อและไม่ต้องการลงพื้นที่อีก ซึ่งเขาต้องทำความเข้าใจกับทั้งทีมงานและชาวบ้านถึงความจำเป็นบางครั้งต้องใช้ “ไม้แข็ง” ในการแยกชาวบ้านออกมากักตัวรักษาที่โรงพยาบาลสนามที่ถูกจัดตั้งขึ้น

หรือการฉีดวัคซีนก็ตาม ในพื้นที่ห่างไกลนอกจากวัคซีนจะมาช้าแล้ว ความเชื่อและอุดมการณ์ของคนบางกลุ่มที่คิดว่าการฉีดวัคซีนเท่ากับการร่วมมือกับรัฐไทย และคนกลุ่มนี้ก็มีอิทธิพลทางความคิดกับชาวบ้านที่ลังเลกับการฉีดวัคซีนด้วย

“ผมเคารพในความคิดของทุกคน  และพร้อมจะฉีดให้เสมอถ้าติดต่อมา ตอนนี้ที่โรงพยาบาลมีวัคซีนทุกยี่ห้อ เอาเบอร์ผมไปได้เลย จะไปฉีดให้ถึงที่” 


1 พ.ย. 64 “สงขลา” พร้อมเปิดเมือง เปิดประเทศหรือยัง?

เมื่อพูดถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ “ชายแดนใต้” รวมจังหวัดสงขลาในบางอำเภอด้วย แต่สงขลาอาจมีรูปแบบสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม แตกต่างจากอีก 3 จังหวัดในภาพรวม นั่นหมายความว่า ปัจจัยการแพร่ระบาดและรูปแบบการควบคุมโรค ก็แตกต่างกันไปด้วย

“สงขลา” เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ศูนย์กลางของภาคใต้ตอนล่าง ตัวเลขทางเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งมาจากอุตสาหกรรมการเกษตร อย่างการส่งออกยางพารา ขณะที่ศูนย์การส่งออกสินค้า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และบริการ 20% อยู่ที่อ.หาดใหญ่ แต่เฉพาะที่หาดใหญ่ รายได้เกือบ 80% พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากคนจีนและคนมาเลเซีย

วันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ อาจจะเปิดการท่องเที่ยวไม่ได้ทั้งหมด เพราะการแถลงของนายกรัฐมนตรี เป็นการเปิดน่านฟ้าการท่องเที่ยวจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่การจะเปิดการท่องเที่ยวชายแดนที่เดินทางผ่านด่านทางบก และเปิดสถานบันเทิงเต็มรูปแบบ จะเริ่มต้นได้ในวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายหลักของการท่องเที่ยวหาดใหญ่ ที่หากมาจากต่างประเทศ ก็จะมาผ่านทางด่านชายแดนมาเลเซีย นั่นหมายความว่าหากภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ 70% สถานการณ์ที่สงขลาจะวิกฤตยิ่งขึ้น เพราะเวลานี้ วัคซีน 1.4 ล้านโดสที่ถูกฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย มีผู้ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วเพียง เพียง 4.6 แสนคน หรือราวร้อยละ 31.49 เท่านั้น

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ว่า “หาดใหญ่” เป็นพื้นที่ที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่กลุ่มใหญ่ที่สุด ส่วนอำเภอที่ติดกับ จ.ยะลา อย่าง จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และรัตภูมิ ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยส่วนหนึ่งเป็นการสัมผัสผู้ติดเชื้อ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากพฤติกรรม วัฒนธรรม นั่งคุย จิบน้ำชายามเช้า กิจกรรมทางศาสนา ประเพณี เป็นเหตุให้ติดเชื้อ

นั่นทำให้ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม เป็นต้นมาเจ้าหน้าที่ใน จ.สงขลา ประจำด่านตรวจในเส้นทางสายหลักที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้อื่น ๆ จำนวน 4 ด่าน เพิ่มความเข้มงวดตรวจคัดกรองประชาชนที่เดินทางเข้ามาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 แม้ จ.สงขลา จะพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละหลายร้อยคนต่อเนื่องมากว่า 1 สัปดาห์ก็ตาม


ส่องสถานการณ์โลกมุสลิม ฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าไหร่?

จริงอยู่ ว่าช่วงแรกของการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก จะได้รับแรงต้านจากกลุ่มองค์กรทางศาสนา โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนผู้นับถือศาสนาอิสลาม จากความเชื่อทางศาสนา แต่เมื่อมีความพยายามให้สื่อสาร ทำความเข้า และความมั่นใจในวัคซีน ทำให้หลายประเทศในโลกมุสลิมมีจำนวนผู้รับวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

แน่นอนว่า เมื่อดูจากรายชื่อประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และมีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนในลำดับต้น ๆ จะเป็นประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดี เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บรูไน มัลดีฟส์ ซาอุดีอาระเบีย และบาห์เรน ต่างมีศักยภาพในการจัดหาวัคซีน แต่ปัจจัยสำคัญที่อาจปฏิเสธได้ยาก คือ ชนิดของวัคซีนที่ถูกกำหนดให้ฉีดประชากรในประเทศ มีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่น หักล้างข้อมูลที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนา

เช่น หากต้องการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยไม่ต้องกักตัว พวกเขาอาจต้องการได้รับวัคซีนที่ประเทศปลายทางกำหนด การใช้แรงจูงใจนี้ เพื่อวางแผนจัดสรรวัคซีน ก็อาจช่วยทำให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกัน และควบคุมการระบาดในพื้นที่ไปด้วยได้

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องการรับข้อมูลข่าวสารของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ก็เป็นเรื่องสำคัญหากต้องการสร้างแรงจูงใจให้คนในพื้นที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างที่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธารโต จ.ยะลา เปิดเผยว่า การควบคุมโรคระบาดชายแดนใต้จะใช้โมเดลเดียวกับกรุงเทพฯ ไม่ได้​ เพราะพวกเขารับฟังข้อมูลข่าวสารจากฝั่งมาเลเซีย จึงอยากฉีดวัคซีนไฟเซอร์มากที่สุด​ และที่สำคัญ ที่นั่นยังมีการระบาดของสายพันธุ์เบต้า ซึ่งดื้อต่อวัคซีนซิโนแวค​

หากประเทศไทยมีวัคซีนที่พร้อม อีกปัจจัยที่น่าสนใจ หากต้องการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนชาวมุสลิมเข้ารับการฉีดวัคซีน ก็คือความจำเป็นที่ต้องรับวัคซีนตามที่แต่ละประเทศกำหนด เพื่อเดินทางข้ามประเทศในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญ

ซาอุดีอาระเบีย

  1. ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศซาอุดีอาระเบีย จะต้องแสดงผลการตรวจ PCR ของโควิด-19 เป็นลบ โดยทำการตรวจไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทาง และต้องทำประกันโควิด-19
  2. ผู้ได้รับวัคซีนดังต่อไปนี้ คือ
    2.1 แอสตราเซเนกา 2 โดส หรือ ไฟเซอร์ 2 โดส หรือ โมเดอร์นา 2 โดส หรือ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 1 โดส และรับโดสสุดท้ายอย่างน้อย 14 วัน ก่อนเดินทางเข้าซาอุดีอาระเบีย มีภูมิคุ้มกันสมบูรณ์ และไม่ต้องกักตัว
    2.2 ซิโนฟาร์ม 2 โดส หรือ ซิโนแวค 2 โดส หากได้รับวัคซีนตามข้อ 1.1 อย่างน้อย 1 โดส และรับโดสสุดท้ายอย่างน้อย 14 วันก่อนเดินทางเข้าซาอุดีอาระเบีย มีภูมิคุ้มกันสมบูรณ์ และไม่ต้องกักตัว
  3. ผู้ที่ได้รับวัคซีนที่รับรองโดย WHO แต่ไม่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย (ข้อ 1.1) หรือ ได้รับวัคซีนตามข้อ 1.1 เพียง 1 เข็ม หรือ ไม่ได้รับวัคซีนใดเลย จะต้องเข้าสู่การ Quarantine ในโรงแรมที่อยู่ในกลุ่มโรงแรมที่รัฐบาลกำหนดเป็นเวลา 5 วัน โดยจะสามารถออกจาก Quarantine ได้หากผลการตรวจ PCR เป็นลบในวันที่ 5 หลังการมาถึงซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ ผู้เดินทางควรจองสถานที่ Quarantine ผ่านสายการบินที่จะใช้บริการ

อินโดนีเซีย

  1. บุคคลทุกคนที่จะเข้าอินโดนีเซียจะต้องแสดง 1) ผลการตรวจ PCR ของ โควิด-19 เป็นลบ โดยตัวอย่างต้องเก็บไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทาง และ 2) บาร์โค้ดการยืนยันการแจ้งเตือนทางสุขภาพ (electronic Indonesia Health Alert Certificate, e-HAC) ต่อเจ้าหน้าที่สนามบิน/เจ้าหน้าที่ Quarantine
  2. บุคคลทั่วไปที่จะเข้าอินโดนีเซียต้องแสดงเอกสารรายงานการรับวัคซีนแบบเต็มสูตร คือ
    แอสตราเซเนกา 2 โดส หรือ ไฟเซอร์ 2 โดส หรือ โมเดอร์นา 2 โดส หรือ ซิโนฟาร์ม 2 โดส หรือ ซิโนแวค 2 โดส หรือ
  3. จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน 1 โดส โดยลงทะเบียนล่วงหน้ากับเว็บไซต์ของทางการ และจะได้รับอีเมล์ยืนยันภายใน 3 วันทำการ
    ข้อมูลการลงทะเบียนออนไลน์จะใช้อนุมัติการเข้ารับประทานอาหาร การเข้าสถานที่ราชการ และการเดินทางด้วยขนส่งมวลชน (ภายในเกาะเดียวกันหรือระหว่างเกาะ) ของบุคคลนั้นในอินโดนีเซีย

มาเลเซีย

พรมแดนมาเลเซียยังคงปิดสำหรับนักเดินทางระหว่างประเทศ ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน หรือในกรณีที่มีวัตถุประสงค์ทางธุรกิจหรือทางการ และจะต้องถูก Quarantine 14 วัน


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active