การสร้างความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลเป็นขั้นแรกที่สำคัญของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน
เมื่อใดก็ตามที่ประชาชนไม่สามารถติดตามตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ไม่เคยรู้ว่าเงินภาษีของเราที่จ่ายไปถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง จะคุ้มหรือเปล่า ย่อมนำไปสู่ปัญหาการคอร์รัปชันได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วเราจะสามารถถามหาความโปร่งใสจากการบริหารของรัฐได้ไหม และถ้าได้ ได้แค่ไหน
HAND Social Enterprise วิสาหกิจเพื่อสังคม เปิด 30 โมเดลต้านโกงทั่วโลก เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการบริหารของรัฐ และร่วมจับตาการใช้งบประมาณ ด้วยช่องทาง และรูปแบบต่าง ๆ ชวนถอดรหัสแนวคิด พร้อมสำรวจเครื่องมือต้านโกง ที่แต่ละประเทศนำมาใช้ ว่ามีรูปแบบและวิธีการอย่างไรกันบ้าง
ประเทศไทย 5 โมเดล
ACT Ai – เครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน
ประเภทเครื่องมือ : Detect Corruption (การตรวจจับทุจริต)
เราได้ประโยชน์อะไรจากภาษีที่เราเสียไปบ้าง สิ่งที่ได้มาคุ้มค่ากับการต้องเสียใจมากขนาดไหนเรื่องนี้มักจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวไทยทุกครั้งที่ต้องจ่ายภาษี เพราะที่ผ่านมารัฐเองก็ไม่ได้แจกแจงแสดงให้เห็นว่าการไปของภาษีถูกใช้ประโยชน์ในส่วนใดบ้าง
เครื่องมือชิ้นนี้เป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเชื่อมโยงข้อมูลผู้รับจ้างที่มาจากฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์พร้อมระบบประมวลผลวิเคราะห์ โดยจะมีการแจ้งเตือนเมื่อพบโครงการที่มีความผิดปกติ หรืออาจมีความเสี่ยงทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง
ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐได้จากการสืบค้นคำที่ต้องการ บนหน้าเว็บไซต์ ACT Ai หลังจากนั้นระบบจะประมวลข้อมูล ACT Ai ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ภาคประชาชน ภาครัฐ รวมถึงสื่อมวลชน สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างง่ายและสะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่ายและปลอดภัย
COVID ACT Ai : จับโกงงบโควิด (ต่อยยอดมาจากACT Ai )
ประเภทเครื่องมือ : Detect Corruption (การตรวจจับทุจริต)
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาพบว่า รัฐบาลไทยใช้เงินกู้สู้โควิด-19 หลายแสนล้านบาท ACT Ai เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลรายละเอียดโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการโครงการภายใต้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัส โควิด-19 โดยนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ Data Visualization เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลเชิงพื้นที่และเป้าหมายได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นพร้อมทั้งสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการทุจริตไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ศอตช.) โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนและสามารถติดตามสถานะโครงการที่เข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้าง
โดยเฉพาะโครงการภายใต้กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาทซึ่งปัจจุบันปรับเหลือ 355,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท โดยสามารถดูได้ทั้งโครงการที่ครอบคลุมทั่วประเทศและแบบโครงการรายจังหวัดผู้ที่ใช้งานสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านการพูดแต่ละโครงการได้ว่าเห็นด้วยหรือไม่ในแต่ละโครงการและถ้ามีเบาะแสความเสี่ยงทุจริตในโครงการใดสามารถแจ้งได้ที่ปุ่มร้องเรียนโดยผู้แจ้งไม่ต้องเปิดเผยตัวตน
CoST Thailand
ประเภทเครื่องมือ : Monitoring Public Procurement (การติดตามการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ)
แพลตฟอร์มนี้ให้ประชาชนร่วมติดตามตรวจสอบส่งเสียงเพื่อความโปร่งใส ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ (Infrastructure Transparency Initiative : CoST) เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามเมื่อขับรถผ่านถนนหลายเส้นว่าเมื่อไหร่จะสร้างเสร็จ แพลตฟอร์มนี้ถือว่าตอบโจทย์ประชาชนที่มีคำถามว่าหากเกิดปัญหาและข้อสงสัยเกี่ยวกับการก่อสร้างที่ล่าช้าแล้วสามารถที่จะรายงานได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณของภาครัฐเกี่ยวกับการก่อสร้าง การสร้างที่ล่าช้า
CoST Thailand นำข้อมูลมาจากฐานข้อมูลที่เปิดเผยในเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง และนำมาต่อยอด พัฒนาแพลตฟอร์ม Build Better Lives หวังสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อร่วมประเมินคุณภาพงานก่อสร้างให้เกิดความคุ้มค่าจากภาษีที่จ่ายไป
ซึ่งผู้ใช้งานสามารถค้นหาโครงการก่อสร้างโดยเลือกจากระยะ 20 กิโลเมตรรอบตัวหรือค้นหาโครงการก่อสร้างตามความสนใจโดยระบุจังหวัดประเภทโครงการหน่วยงานปีงบประมาณหรือสถานะของโครงการ รวมถึงสามารถดูข้อมูลภาพรวมในเชิงสถิติการเปรียบเทียบในมิติต่าง ๆ ได้เช่นการเปรียบเทียบระหว่างหน่วยงานหรือระหว่างพื้นที่อีกครั้งผู้ใช้งานสามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งรูปถ่ายเพื่อรายงานสถานการณ์หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับโครงการได้
ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน
ประเภทเครื่องมือ : Report Corruption (รายงานการทุจริต)
เมื่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันไม่ใช่เพียงแค่การจับคนที่โกงเท่านั้นแต่การช่วยเป็นหูเป็นตาชี้เบาะแสบอกข้อมูลก็เป็นหนึ่งในส่วนช่วยแก้ปัญหาได้ ซึ่งจะมีอาสาสมัครในโครงการดำเนินการติดตามและตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันโดยแบ่งออกเป็นทีมเพื่อช่วยกันติดตาม เช่น หมาดมกลิ่นเป็นผู้รับเรื่องเก็บข้อมูลส่งต่อให้ทีมหมาขุดคุ้ยที่มีความถนัดเฉพาะด้านในการตรวจสอบและสรุปข้อมูลและจะส่งต่อไปยังทีมหมาเห่า-กัด เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนจะนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และสร้างสังคมแห่งการตรวจสอบ จับตา เฝ้าระวังคอร์รัปชันร่วมกับภาคประชาชน
ผู้ใช้งานสามารถแจ้งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชัน และติดตามการดำเนินงานปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านได้ทั้งหมด 5 ช่องทาง โดยมี Facebook page เป็นช่องทางหลักที่สามารถแจ้งเบาะแสและติตดามประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน และเพิ่มเติมคือ Twitter Instagram Tiktok และ YouTube
ต้องแฉ (Must Share)
ประเภทเครื่องมือ : Report corruption (รายงานการทุจริต)
ใช้กระบวนการ Crowdsourcing เพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่อเค้าการทุจริตคอร์รัปชัน ผู้ใช้งานสามารถแจ้งเบาะแสหรือเหตุสงสัยการทุจริตคอร์รัปชันโดยส่งข้อมูลผ่านทางกล่องข้อความ (Inbox) ได้ และติดตามการดำเนินงาน ทั้งหมด 2 ช่องทาง คือ Facebook page และ Twitter ต้องแฉ
อินโดนีเซีย 2 โมเดล
LAPOR!
ประเภทเครื่องมือ : Public Service delivery (การให้บริการประชาชน)
แพลตฟอร์มร้องเรียนปัญหาการบริการของหน่วยงานภาครัฐ ผ่านระบบกลางในการบริหารจัดการและส่งต่อเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่เชื่อมโยงหน่วยงานรัฐ 72 แห่ง โดยผู้ใช้งานสามารถรายงานเรื่องร้องเรียนได้ทั้งหมด 7 ช่องทางผ่านทาง SMS, Website, Application, Facebook, Twitter, Hotline และวิทยุท้องถิ่นและหน่วยงานในท้องถิ่น เพื่อทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของโมเดลนี้
สามารถทำโดยผ่าน 3 ขั้นตอนง่าย ๆ
1. Reporting – ส่งรายงานได้ที่ LAPOR! ผ่าน SMS เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน รายงานจะถูกตรวจสอบความชัดเจนและความครบถ้วนของข้อมูล และจะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 3 วัน
2. Following up the reports – LAPOR! เผยแพร่รายงานที่ได้รับบนเว็บไซต์ หลังจากนั้นผู้ร้องเรียนจะได้รับ SMS แจ้งผลการรับเรื่องร้องเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 3-5 วัน
3. Closure report- หน่วยงานดำเนินการจัดการข้อร้องเรียนที่ได้รับและรายงานผลให้ผู้ร้องเรียนรับทราบบนเว็บไซต์ LAPOR! ภายใน 10 วัน
LAPOR! เป็นช่องทางหลักที่เชื่อมโยงหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานในท้องถิ่นไว้ด้วยกัน ทำให้การติดตามการทำงานระหว่างหน่วยงานมีประสิทธิภาพ มีรายงานว่า มีผู้ใช้งานหลายแสนคน และเรื่องร้องเรียนหลักล้านเรื่อง ที่สำคัญจากสถิติพบว่ามีเรื่องร้องเรียนที่ได้รับการแก้ไขมากกว่า 50%
Qlue – The whole neighborhood, in your hands
ประเภทเครื่องมือ : Public Service delivery (การให้บริการประชาชน)
Qlue เป็นแอปพลิเคชันที่ให้ประชาชนสามารถร้องเรียนปัญหาต่าง ๆ ภายในเมืองจาร์กาต้าผ่านสมาร์ตโฟน ด้วยการรายงานถ่ายภาพปัญหาที่พบแล้วกำหนดประเภทของปัญหาได้ เช่น ความแออัด ขยะ น้ำท่วม การละเมิดอื่น ๆ พร้อมปักหมุดโลเคชัน และอัปโหลดรายงาน ผ่านระบบ Geo-spatial Mapping ซึ่งเป็นการปักหมุดรายงานและพื้นที่เกิดปัญหาแบบ real time และนำเสนอข้อมูลที่รวดเร็วให้กับรัฐบาลท้องถิ่นผ่านระบบ QlueDashboard เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐจัดการข้อร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว
ผู้ใช้สามารถร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชัน Qlue ด้วย 6 ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
1. Real-Time Reporting – ผู้ใช้งานสามารถส่งคำร้องเรียนพร้อมรูปหรือวิดิโอที่เป็นหลักฐานต่าง ๆ ได้ โดยสามารถติดตามความคืบหน้าการดำเนินการของภาครัฐได้อย่าง real-time
2. Various Categories – ผู้ใช้งานสามารถเลือกรายงานปัญหาตามหมวดที่ระบุไว้จำนวน 42 หมวด
3. Auto Assign – คำร้องเรียนต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานส่งมาจะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการแก้ไขปัญหา
4. Geo-spatial Mapping – ใช้ฐานข้อมูลระบุพิกัด ทำให้สามารถติดตามตำแหน่งและสถานะการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ
5. New Labels for Covid-19 – ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ข้อมูลโรงพยาบาลที่ให้บริการ
6. Insights – ทำงานร่วมกับ QlueDashboard ซึ่งนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคำร้องเรียนและปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งมาแบบ real-time เพื่อให้ภาครัฐนำข้อมูลไปวางแผนและกำนหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้โดยสะดวก
ผลลัพธ์ในการเก็บข้อมูลการรายงานปัญหาของประชาชนกว่า 4 ปี ช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นลดจุดน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ถึง 94%
อินเดีย
I Paid a Bribe (IPAB)
ประเภทเครื่องมือ : Report corruption (รายงานการทุจริต)
I PAID A BRIBE ใช้วิธีการที่หลากหลายในการรับเรื่องรายงานและนำเสนอผลสู่สาธารณะ โดยผู้ใช้งานสามารถร้องเรียนผ่านทาง Website, App, SMS โดยให้ประชาชนรายงานเรื่องสินบน พร้อมระบุสถานที่เกิดเหตุเพื่อนำมาแสดงปริมาณ ความถี่ และรูปแบบของสินบนที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ โดยไม่ต้องระบุตัวตน โดยปัจจุบันมีรายงานเข้ามาในเว็บไซต์มากกว่า 198,072 รายงาน และมีผู้เข้าชมเว็บไซต์ จำนวน 15,443,366 ครั้ง
การระบุสถานะของผู้รายงานโดยแบ่งเป็น 4 หมวดคือ
I Paid a Bribe สำหรับเล่าว่าโดนเรียกสินบนเรื่องอะไร ที่หน่วยงานไหน และเป็นจำนวนเท่าไร
I Am a Bribe Fighter สำหรับคนที่โดนเรียกแต่ไม่ยอมจ่าย
I Met an Honest Officer สำหรับคนที่เจอข้าราชการที่ไม่โกง
I Don’t Want to Pay a Bribe สำหรับแลกเปลี่ยนเทคนิคหลีกเลี่ยงการจ่ายสินบนต่าง ๆ
หลังจากนั้นตอบคำถามสั้น ๆ 3 ข้อ ได้แก่ หน่วยงานใดเรียกรับ จ่ายไปเท่าไร เกิดขึ้นในพื้นที่ไหน
โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าจะแชร์เรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หรือแค่รายงานบนเว็บไซต์แบบไม่เปิดเผยตัวตน หลังจากที่ได้ข้อมูลจากผู้ใช้งานแล้ว ระบบจะส่งรายงานไปยังเว็บไซต์ Ipaidabribe.com เพื่อแสดงผลเปรียบเทียบสถิติการรายงานเรื่องสินบนรายวันจากเมืองต่าง ๆ แบบ Visualization
เนปาล
Hello Sarkar
ประเภทเครื่องมือ : Public Service delivery (การให้บริการประชาชน)
ผู้ใช้งานสามารถส่งคำร้องผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่ ทาง website, Facebook: HelloSarka, Twitter: @hello_sarkar, SMS และ hotline (โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย) โดยแบ่งขั้นตอนของการติดตามผล 6 ขั้น คือ Response Seen Processing Solved Sold out และ Closed ซึ่งผลการรายงานทุกขั้นตอนจะถูกอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์โดยอัตโนมัติ จุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้อยู่ที่ระบบการติดตามเรื่องด้วยการให้หมายเลขติดตามผลกับผู้รายงาน ปัญหาเรื่องถนน มลภาวะทางอากาศ การขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน การขาดแคลนน้ำดื่ม การใช้บริการสาธารณะ รวมถึงการเรียกเก็บภาษีจำนวนมากกว่าปกติ รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐ
ปัจจุบันมีรายงานร้องเรียนในระบบ 8,000 กว่าเรื่อง และได้รับการดำเนินงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 69% ของรายงานทั้งหมด
จอร์เจียร์
GLASS Fact Check
ประเภทเครื่องมือ : Open Parliament (รัฐสภาเปิด)
ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข่าวสารที่มาจากคำให้การหรือแถลงการณ์ โดยผู้ปฏิบัติงานทางการเมืองหรือหน่วยงานภาครัฐในจอร์เจีย โดยรวบรวมข่าวสารที่อาจเป็นเท็จจากหลากหลายช่องทาง เช่น สื่อโทรทัศน์ ข่าวสารออนไลน์ หรือจากการแจ้งเบาะแสข่าวเท็จโดยประชาชนทั่วไปผ่านการกรอกแบบฟอร์มสั้น ๆ หรือส่งเบาะแสทางเพจเฟซบุ๊ก
ผู้ใช้งานสามารถเลือกรับข่าวสารได้ด้วยการเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ และเลือกดูข้อมูลข่าวตามหัวข้อที่ถูกจัดแสดงไว้อย่างง่ายด้วยเกณฑ์ความถูกต้องของข่าว Fake News/ FactCheck in Media/ FackCheck Newspaper/ Promises
จุดเด่นอยู่ที่ทางทีมงานจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องในรูปแบบบทความ พร้อมให้การยืนยันความถูกต้องของข้อมูลด้วย 10 เกณฑ์มาตรฐานความถูกต้องที่ยึดหลักการทำงานและรายงานผลตามหลักจรรยาบรรณที่กำหนดขึ้นโดย International Fact-Checking Network (IFCN) ทำให้การประมวลข่าวหรือข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
ฟิลิปปินส์
Check My School
ประเภทเครื่องมือ : Public Service delivery (School) (การให้บริการประชาชน)
เป็นแพลตฟอร์มสำหรับให้ประชาชนชาวฟิลิปปินส์ สามารถติดตาม ตรวจสอบผลการปฎิบัติงานของสถานศึกษา เพื่อแก้ปัญหาการคอร์รัปชันในสถานศึกษา เพื่อเป็นฐานข้อมูลของโรงเรียนทั่วประเทศ เมื่อรายงานปรากฎบนฐานข้อมูลแล้ว กระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการสถานศึกษาในพื้นที่จะหารือแนวทางแก้ไขกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมุ่งเน้นความร่วมมือของคนในพื้นที่เป็นหลัก สำหรับการติดตามการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามแนวคิดการจัดทำข้อมูลเปิด (Open Data)
ผู้ใช้งานสามารถส่งข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาของโรงเรียนมาได้ทั้งทางเว็บไซต์ checkmyschool.org ทาง social media เช่น Facebook ทางสายด่วน Hotline และ SMS โดยระบุแค่เพียง ชื่อโรงเรียน ชื่อครูผู้สอน และระบุสถานภาพของคนส่งว่าเป็นผู้ปกครอง นักเรียน ครู หรือบุคคลทั่วไป
หลังจากได้รับข้อมูลแล้วทางโครงการจะส่งอาสาสมัครเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ ร่วมด้วยคณะกรรมการการศึกษาในพื้นที่ และประชาชนในพื้นที่เพื่อประเมินคุณภาพของโรงเรียน
ซึ่งเป็นการประเมินที่ประกอบด้วยเชิงปริมาณ คือ การนับจำนวนเพื่อตรวจสอบความเพียงพอ และการประเมินเชิงคุณภาพด้วยการระบุสภาพการใช้งานของแต่ละหมวด เมื่อได้รับการตรวจสอบจากทุกฝ่ายแล้วจึงทำการอัปโหลดข้อมูลการสำรวจขึ้นบนเว็บไซต์สาธารณะเพื่อเป็นข้อมูลเปิดด้านคุณภาพสถานศึกษาต่อไป
ผู้จัดทำเครื่องมือ : Department of Educational และ Local School Board Community
เวียดนาม
DA NANG Citizen App
ประเภทเครื่องมือ : Public Service delivery (การให้บริการประชาชน)
เป็นแอปพลิเคชันที่บริหารจัดการโดย People’s Committee of Da Nang city เพื่อสร้างช่องทางให้ประชาชนแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากบริการสาธารณะของเมืองดานังได้โดยตรง เลือกหมวดของการให้บริการสาธารณะที่อยากร้องเรียน เช่น ถนน ไฟฟ้า ความสะอาด ความปลอดภัย การติดต่อธุรกิจ และการบริการของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่าง ๆ
โดยคณะกรรมการได้ระบุให้หน่วยงานที่ถูกรายงานหรือมีความเกี่ยวข้องต้องตอบสนองต่อข้อร้องเรียนภายใน 3 วัน โดยรายงานผลการดำเนินงานบนเว็บไซต์ egov.danang.gov.vn ซึ่งแบ่งหมวดหมู่ของการร้องเรียนไว้อย่างชัดเจนเพื่อความสะดวกต่อการร้องเรียนและการสืบค้น ปัจจุบันมีผู้ใช้งานในระบบ จำนวน 335,445 คน นอกจาก แอปพลิเคชัน ผู้ใช้งานสามารถส่งข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ผ่านทาง เว็บไซต์ (egov.danang.gov.vn) ) และทาง Facebook
โดยระบบนี้ได้เชื่อมโยงไปยังหน้าเว็บไซต์ประเมินผลการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ หากผู้ใช้งานทราบชื่อของเจ้าหน้าที่ที่ต้องการร้องเรียนสามารถเข้าไปค้นหาชื่อเจ้าหน้าที่ตามหน่วยงานหรือรูปภาพและตำแหน่ง/ แผนก ได้ เพื่อทำการประเมินความพึงพอใจในการให้บริการได้
ผู้จัดทำเครื่องมือ : People’s Committee of Da Nang city
ไต้หวัน
mask.pdis.nat.gov.tw
ประเภทเครื่องมือ : open data
ไต้หวันเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในเอเชียที่มีการเปิดเผยการทำงานของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม อย่าง เมื่อปีที่ผ่านมาคือการใช้ Open Data มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มแจ้งเตือนประชาชนเกี่ยวกับสถานที่เสี่ยง และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเพื่อการป้องกันโรคอย่าง หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ ว่าร้านขายยาร้านไหนยังมีของอยู่บ้าง โดยรัฐบาลไต้หวันได้รวบรวมทรัพยากรและสร้างแพลตฟอร์มบริการข้อมูลอุปสงค์และอุปทานของหน้ากากอนามัยใน https://mask.pdis.nat.gov.tw/ เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชน ดูเหมือนการใช้ข้อมูลมากประยุกต์ในครั้งนั้นก็ได้ผลดีมากทีเดียว เพราะการป้องกันการระบาดของโรคระลอกแรกอย่างรวดเร็วและเห็นผล ทำให้ไต้หวันกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ไม่ต้องล็อกดาวน์ในปี 2020
นอกจากนี้ ยังมี JOIN หรือ https://join.gov.tw ที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นของตัวเองต่อสิ่งที่ภาครัฐทำ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ หรือจะเสนอโครงการที่ตัวเองอยากให้ภาครัฐทำ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานส่วนกลางหรือหน่วยงานส่วนท้องถิ่นก็ได้ ตัวอย่างเช่น “ขอให้ขยายระยะเวลาเปิดใช้งานสนามเทนนิสสาธารณะจนถึง 4 ทุ่ม” หรือ “เสนอไอเดียให้ไถจงเป็นเมืองที่มีความเท่าเทียมทางเพศ” หลังจากมีการเสนอโครงการเข้ามาแล้วก็จะเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อ หากโครงการนั้นมีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 5,000 รายชื่อ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องรับเรื่องไปพิจารณา และบอกผลการดำเนินการลงบนแพลตฟอร์มด้วย
เพราะตามกฎหมายของไต้หวัน หากหน่วยงานรัฐได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนไปแล้วจะต้องเผยแพร่ข้อคิดเห็นนั้นให้สาธารณะและรับเรื่องเอาไว้เป็นเวลา 60 วัน ซึ่งแพลตฟอร์ม JOIN ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารกันระหว่างภาครัฐและประชาชน ข้อคิดเห็นบางอย่าง เช่น “ขอให้ไม่ต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์แล้วเพราะยากมากๆ” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มาอธิบายว่าเพราะอะไรถึงยังต้องมีการเรียนประวัติศาสตร์อยู่
นอกจากจะเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและประชาชนแล้ว หัวข้อโครงการต่างๆ บน JOIN ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่าสังคมไต้หวัน ณ ช่วงเวลานั้นให้ความสำคัญหรือกังวลกับเรื่องอะไรเป็นพิเศษ พื้นที่ใดมีปัญหาใดเป็นพิเศษ หรือหน่วยงานใดมีความเห็นต่อประเด็นสังคมว่าอย่างไรบ้าง
สิงคโปร์
data.gov.sg
ประเภทเครื่องมือ : open data
อีกหนึ่งไอเดียต้านโกงจากในสิงคโปร์ ซึ่งติดอันดับประเทศที่มีความโปร่งใสลำดับต้น ๆ ของโลก (อ้างอิงจาก Corruption Perception Index) รัฐบาลสิงคโปร์ต้องการใช้ Open Data มาช่วยบริหารจัดการนโยบายต่าง ๆ ด้วยเว็บไซต์ https://data.gov.sg ที่รวบรวมชุดข้อมูลจากหน่วยงานรัฐกว่า 70 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานได้แบ่งปันแลกเปลี่ยนชุดข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
ข้อมูลบน https://data.gov.sg มีทั้งข้อมูลซึ่งถูกวิเคราะห์และออกแบบให้อยู่ในรูปแบบแผนภาพที่เข้าใจง่าย เหมาะแก่การนำไปสื่อสารต่อได้เลย และชุดข้อมูลอย่างละเอียดในรูปแบบของไฟล์ .csv สำหรับผู้ที่ต้องการนำไปวิเคราะห์หรือวิจัยเพิ่มเติม ชุดข้อมูลบนเว็บไซต์นี้นำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวสิงคโปร์แล้วกว่า 100 แพลตฟอร์ม
สหราชอาณาจักร 2 โมเดล
Publish What You Pay (PWYP)
ประเภทเครื่องมือ : Monitoring Budget (การตรวจสอบงบประมาณ)
เปิดเผยข้อมูลกระบวนการทำสัญญาและการประกวดราคา (Contract Transparency) ผู้ถือครองสิทธิขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติในประเทศต่าง ๆ สู่สาธารณะ ทำให้การตัดสินใจมีคุณภาพมากขึ้น และส่งเสริมสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในวงกว้าง รวมถึงมีเครื่องมือในการติดตามโครงการ และแคมเพรในการขับเคลื่อนความโปร่งใสของกระบวนการ Contract Transparency ร่วมกันผ่านแคมเพนระดับโลก #DiscloseTheDeal
โดยเริ่มต้นจากการรณรงค์ให้ 55 ประเทศเครือข่ายองค์กรเพื่อความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติ (Extractive Industries Transparency Initiative: EITI) ต้องเริ่มทำการเปิดเผยข้อมูลสัญญาตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 เป็นต้นไป และเปิดให้ประเทศต่าง ๆ ที่สนใจกระบวนการทำสัญญาและการประกวดราคาที่โปร่งใส (Contract Transparency) ลงทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดให้กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมน้ำมัน พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติเปิดเผยข้อมูลการทำสัญญาระหว่างรัฐบาลในการเข้าใช้ทรัพยากรในประเทศนั้น ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามการดำเนินการตามสัญญาของโครงการได้โดยสะดวก ปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิกเข้าร่วมเปิดเผยข้อมูลสัญญามาก
ผู้จัดทำเครื่องมือ : กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ 6 องค์กร ได้แก่ Global Witness, CAFOD, Open Society Institute, Oxfam GB, Save the Children UK และ Transparency International UK
OpenSpending
ประเภทเครื่องมือ : Monitoring Budget (การตรวจสอบงบประมาณ)
เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์แสดงข้อมูลรูปภาพ (visualized data) เกี่ยวกับการใช้จ่ายสาธารณะของสหราชอาณาจักรและประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้แพลตฟอร์มยังมีฐานข้อมูลการเงินของประเทศอื่น ๆ มากถึง 3,551 ชุดข้อมูล จาก 86 ประเทศที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกค้นหาและดาวน์โหลดข้อมูลการเงิน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน หรือนักข่าวในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การจัดทำมาตรฐานข้อมูลการเงินสำหรับการเผยแพร่สาธารณะ หรือ Open Fiscal Data Package (OFDP) ที่สะดวกในการนำไปใช้งานโดย
1. ค้นหาจาก Search Bar: ผู้ใช้สามารถสืบค้นข้อมูลทางการเงินของประเทศต่าง ๆ ด้วยการพิมพ์ key words เช่น ชื่อประเทศ เป็นต้น โดยเว็บไซต์มีฐานข้อมูลการเงินมากถึง 3,551 ชุดข้อมูล จาก 86 ประเทศ
2. Packager : สำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการทำข้อมูลทางการเงินพื่อนำไปเผยแพร่สามารถใช้งานฟีเจอร์ interactive packager ที่จะช่วยให้การนำเสนอข้อมูลมีรูปแบบที่เข้าใจง่ายด้วยตัวเลือกการผสานข้อมูลและการแสดงผลข้อมูลขั้นสูง
3. Docs, Chat with us, Start hacking: community ฟีเจอร์สำหรับให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำในการออกแบบการจัดทำข้อมูลเปิดทางการเงิน
ผู้จัดทำเครื่องมือ : Open Knowledge Foundation
โคโซโว
Gap Institute : How does the State spend our money?
ประเภทเครื่องมือ : Monitoring Budget (การตรวจสอบงบประมาณ)
เป็น think tank ในการให้คำปรึกษาและร่วมออกแบบนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานในประเทศโคโซโว เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาครัฐและประชาชนในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยสร้างแพลตฟอร์ม How does the State spend our money? เพื่อนำเสนอข้อมูลจำนวนงบประมาณ และจำนวนการใช้จ่ายของแต่ละภาคส่วนในแต่ละปีให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลภาพ (visualized data) ที่สามารถเข้าใจได้ง่ายและไม่ซับซ้อน เพื่อให้เกิดการบริหารงบประมาณของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยภาษี
โดยผู้ใช้งานสามารถสืบค้นข้อมูลการใช้จ่ายและแผนงบประมาณของรัฐบาลโคโซโวได้ด้วยการจำแนกข้อมูล 3 ประเภท
– การจำแนกประเภททางสถาบัน (Institutional Classification)
– การจำแนกประเภททางเศรษฐกิจ (Economic Classification)
– การจำแนกประเภททางการใช้งาน (Functional Classification)
โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกดูข้อมูลเจาะลึกการใช้จ่ายของแต่ละเขตเทศบาลเมือง หรือข้อมูลการใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าจัดเลี้ยง ค่ายานพาหนะได้อีกด้วย
ผู้จัดทำเครื่องมือ : GAP Institute Ministry of Finance, Kosovo government
โปแลนด์ 3 โมเดล
MamPrawoWiedziec.pl
ประเภทเครื่องมือ : Open Parliament (รัฐสภาเปิด)
เป็นแหล่งข้อมูลเปิดที่รวบรวมข้อมูลของนักการเมืองชาวโปแลนด์ นำเสนอข้อมูลผลการปฎิบัติงานของหน่วยงานสาธารณะหรือบุคคล เช่น การนำเสนอข้อมูลความคิดเห็นในการปฏิบัติงานเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 หรือความเห็นในการปฏิบัติงานด้านนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์สภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ผ่านการตอบคำถามของผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 เป็นต้น ทำให้ประชาชนมีข้อมูลการทำงาน ผลการทำงาน และวิสัยทัศน์ของนักการเมืองในการทำงานที่ผ่านมาด้วย
ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูลของนักการเมืองที่ปฏิบัติหน้าที่ในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศได้ง่าย ๆ ด้วยการคลิกเข้าสืบค้นตามหมวดหมู่ที่จัดเอาไว้ดังนี้
1. รัฐสภา (Diet)
2. วุฒิสภา (Senate)
3. รัฐสภายุโรป (European parliament)
4. ประธานาธิบดีแห่งโปแลนด์ (President of the Republic of Poland)
5. นายกเทศมนตรีเมืองต่าง ๆ (Mayors of Cities)
6. สภารัฐมนตรี (The Council of Ministers)
7. มุมมองของนักการเมือง (Politician’s view)
8. กลุ่มการเมือง (Political groups)
นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถศึกษาความรู้และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการเลือกผู้แทนทางการเมืองเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ได้เพิ่มเติมจาก “Reding Room” ที่รวบรวมเอาหัวข้อบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง กฎหมายทั้งในประเทศโปแลนด์และในสหภาพยุโรปที่น่าสนใจเอาไว้ให้ได้เลือกอ่าน
ผู้จัดทำเครื่องมือ : Fundusz Obywatelski ได้รับการสนับสนุนโดย Google, Wolters Kluwer and Open society Foundations
Jawnylublin.pl
ประเภทเครื่องมือ : Monitoring Budget (การตรวจสอบงบประมาณ)
สร้างขึ้นจากความร่วมมือระหว่างองค์กรเฝ้าระวังท้องถิ่นและรัฐบาลท้องถิ่นเมืองลูบิน เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและช่วยกันเฝ้าระวังความผิดปกติของการบริหารงานด้านงบประมาณ และการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่น ที่อาจเกิดการทุจริตหรือใช้จ่ายภาษีของประชาชนได้ไม่คุ้มค่า
โดยมุ่งเน้นให้ความรู้ในเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะของประชาชน ด้วยการสอดแทรกเนื้อหาความรู้ไว้ในแพลตฟอร์ม พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลการคำนวณภาษีอัตโนมัติ แสดงอัตราภาษีที่จ่ายต่อรายรับเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นสัดส่วนการนำภาษีของแต่ละคนที่ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาเมืองและให้บริการสาธารณะด้านต่าง ๆ ผ่านฟังก์ชัน “MY Taxes” ทำให้ประชาชนได้รู้ว่ารัฐบาลท้องถิ่นนำภาษีไปใช้จ่ายอะไรบ้างและติดตามการทำงานของรัฐบาลได้ดีขึ้น
จุดเด่นของฟังก์ชั่นนี้อยู่ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกจำนวนเงินเดือนของตนเอง (ต่อเดือนหรือต่อปี) เพื่อคำนวณภาษีที่เข้าสู่งบประมาณของเมืองและจำนวนภาษีที่ถูกจัดสรรไปใช้ในแต่ด้านของการบริการสาธารณะในเมืองลูบิน เช่น การซ่อมแซมถนน การบริการสาธารณสุข เป็นต้น
ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายของรัฐบาลเมืองลูบินได้โดยสะดวกผ่านฟังก์ชันที่จัดกลุ่มการวิเคราะห์ข้อมูลไว้ ดังนี้
1.City Budget : แสดงข้อมูลภาพเกี่ยวกับการใช้จ่ายของรัฐบาลในส่วนการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ ในเมืองลูบินตั้งแต่ปี 2556 (2013) จนถึง 2563 (2020) เช่น ด้านการศึกษา ด้านการขนส่งสาธารณะ ด้านสาธารณสุข เป็นต้น
2. Contract Register: เชื่อมโยงข้อมูลไปยัง www.rejestrumow.lublin.eu ที่ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลการขึ้นทะเบียนสัญญาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในนามของเมืองลูบินและถูกจัดเก็บไว้ ณ Lubin City Hall ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2014 ถึง 31 มีนาคม 2021
3. My Taxes : นำเสนอข้อมูลรูปแบบการคำนวณอัตราภาษีอัตโนมัติที่จ่ายต่อรายรับเปรียบเทียบให้เห็นสัดส่วนการนำภาษีของแต่ละคนที่ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาและให้บริการสาธารณะด้านต่าง ๆ
4. City Companies : แสดงข้อมูลเปิดสาธารณะของบริษัทเอกชนที่ดำเนินการอยู่ในเมืองลูบิน เช่น ข้อมูลงบการเงินและข้อมูลบัญชีกำไรขาดทุนของบริษัท เป็นต้น
5. Analysis : แสดงกราฟสรุปการวิเคราะห์ข้อมูลด้านรายรับและรายจ่ายของรัฐบาลเมืองลูบินในแต่ละปี โดยโครงการได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลไว้ตั้งแต่ปี 1998 ถึงปี 2020
ผู้จัดทำเครื่องมือ : Fundacja Wolności (Freedom Foundation)
mojePaństwo (MyCountry)
ประเภทเครื่องมือ : Monitoring Budget (การตรวจสอบงบประมาณ)
แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลเปิดสาธารณะเอาไว้ในที่เดียว พร้อมกับนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชนเลือกเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ตามความต้องการของตนเอง และข้อมูลทั้งหมดยังสามารถดาวน์โหลดเป็น API ได้ด้วย
โดยแต่ละฟีเจอร์มีจุดเด่นที่น่าสนใจแตกต่างกันไป เช่น
“How are my taxes spent” ที่นำเสนอข้อมูลการคำนวณรายได้ของแต่ละบุคคลเพื่อให้ทราบว่าผู้บริหารได้นำภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายอย่างไรบ้าง
“Access to public information” ที่นำเสนอข้อมูลการยื่นคำร้องเพื่อเข้าถึงข้อมูลสาธารณะและสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ
“Members of Paliament’s trips” ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของสมาชิกผู้แทนราษฎรในระหว่างการเดินทางเพื่อไปปฎิบัติงานต่าง ๆ เช่น การประชุม การเข้าอบรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคน
โดยการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการจัดการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การออกแบบนโยบายสาธารณะที่ตอบสนองต่อความเป็นอยู่และความต้องการของประชาชน สร้างความเชื่อมั่นต่อการทำงานของภาครัฐ และลดอัตราการคอร์รัปชันภายในประเทศได้ด้วยการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณ
ผู้ใช้งานสามารถเลือกเข้าถึงข้อมูลได้จาก 4 ฟีเจอร์ในแพลตฟอร์ม ดังนี้
1. How are my taxes spent: นำเสนอข้อมูลการคำนวณรายได้ของแต่ละบุคคลเพื่อให้ทราบว่าผู้บริหารได้นำภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายอย่างไรบ้าง
2. Access to public information: นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นคำร้องเพื่อเข้าถึงข้อมูลสาธารณะและสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลสาธารณะ หากคุณได้รับการปฏิเสธในการเข้าถึงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ
3. Members of Paliament’s spending: ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของสมาชิกผู้แทนราษฎรและค้นหาข้อมูลเฉพาะเจาะจงตามประเภทการใช้จ่ายอื่น ๆ
4. Members of Paliament’s trips: รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายระหว่างการเดินทางเพื่อไปทำภารกิจทางการเมืองต่าง ๆ ของสมาชิกผู้แทนราษฎร เช่น การประชุม การเข้าอบรมของสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎรแต่ละคน ซึ่งผู้ใช้สามารถสืบค้นได้จากการเลือกประเทศปลายทางที่ สส.เดินทางไปปฏิบัติภารกิจ หรือเลือกดูจากรายชื่อ สส. รายบุคคล
ผู้จัดทำเครื่องมือ : ePaństwo Foundation – ePF ร่วมกับ Stanczyk Foundation
ฮังการี
Red Flags
ประเภทเครื่องมือ : Detect Corruption (การตรวจจับทุจริต)
มุ่งเน้นการป้องกันและตรวจจับการทุจริตในระบบการจัดซื้อจัดจ้างผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากตัวชี้วัดความเสี่ยงจำนวน 32 หัวข้อ ซึ่งพัฒนาขึ้นจากเกณฑ์การประเมินตามาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU Standard) และกรอบกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภายในประเทศ
โดยแต่ละโครงการจะถูกนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงจากตัวชี้วัดต่าง ๆ เช่น ผู้มีอำนาจในการทำสัญญาเคยมีคดีความหรือมีชื่อเสียงที่ไม่ดี มีผู้ยื่นข้อเสนอน้อยกว่า 3 คน ระยะเวลาของสัญญายาวเกินไป ไม่มีการระบุเกณฑ์ขั้นต่ำทางการเงินหรือเทางเทคนิคและทางวิชาชีพ เป็นต้น
พร้อมการแจ้งเตือนกรณีที่น่าสงสัยเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบได้ผ่านการแจ้งเตือนด้วยสัญลักษณ์ “ธงสีแดง” หรือ “ธงสีชมพู”
โดยโครงการที่พบข้อสงสัยจะปรากฏจำนวนธงตั้งแต่ 1 ธงขึ้นไป ขึ้นอยู่กับจำนวนประเด็นข้อสงสัยที่ระบบตรวจพบ จุดเด่นของเครื่องมือนี้อยู่ที่การตรวจสอบเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างผ่านอัลกอริทึมที่ออกแบบไว้เพื่อส่งมอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยง ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน นักข่าว หรือเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจจับความเสี่ยงในขั้นตอนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับการแจ้งเตือนในระบบ จำนวน 54,002 โครงการ
RedFlags ประกอบด้วย 4 ฟีเจอร์หลักด้วยกัน โดยแต่ละฟีเจอร์มีการนำเสนอข้อมูลและรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. Filter: ฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้งานสืบค้นข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะต่าง ๆ ที่มีอยู่ในฐานข้อมูลด้วยการเลือก filter ที่แพลตฟอร์มกำหนดไว้เพื่อช่วยให้คุณสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่สนใจและตรวจสอบว่ามีความเสี่ยงต่อการทุจริตหรือไม่
2. Subscribe: ผู้ใช้งานสามารถเลือกสมัครเป็นผู้ติดตาม RedFlags เพื่อใช้งาน saved filter ในการสืบค้นข้อมูล โดยทีมงานจะส่งอีเมลตอบกลับพร้อมแนบเอกสารข้อมูลที่ตรงกันกับ saved filter ที่แจ้งไว้
3. Update: ฐานข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างของ RedFlags มีการอัปเดตข้อมูลเป็นปัจจุบันทุกวัน
4. Red Flags API: เปิดให้ผู้ใช้งานที่ต้องการข้อมูลการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของ Redflags ไปใช้ต่อได้ลงทะเบียนชื่อและอีเมลเพื่อรับ API Key ในการเข้าถึงข้อมูลรูปแบบ JSON Format
ผู้จัดทำเครื่องมือ : องค์กรภาคประชาสังคมเฝ้าระวังและต่อต้านคอร์รัปชัน K-Monitor ร่วมกับ PetaByte และ Transparency International Hungary
สหภาพยุโรป
DIGIWHIST
ประเภทเครื่องมือ : Report corruption (รายงานการทุจริต)
เป็นระบบการแจ้งเบาะแสดิจิทัล (Watch Dog Tools) ภายใต้กรอบการทำงาน 3 หลัก ได้แก่ ความโปร่งใสทางการคลัง การประเมินความเสี่ยง และการประเมินผลกระทบของนโยบายด้านธรรมาภิบาล
โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเครื่องมือส่งเสริมความโปร่งใสร่วมกับพันธมิตร 6 องค์กรในสหภาพยุโรปเพื่อสร้างเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีประสิทธิภาพและพัฒนาระบบอัลกอริทึมในการรวบรวมข้อมูลให้มีการอัพเดตฐานข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
โดยมุ่งเน้น 3 เรื่องหลักที่เป็นประโยชน์ต่อการติดตามและตรวจสอบการทำงานของภาคประชาชน
จัดระเบียบกฎหมายและสร้างมาตรฐานการเปิดเผยและการเข้าถึงข้อมูลของรัฐที่สำคัญ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ ข้อมูลรายได้และทรัพย์สิน
พัฒนาตัวชี้วัดความโปร่งใส ความเสี่ยงในการคอร์รัปชัน และคุณภาพการบริหารจัดการของภาครัฐ
สร้างชุดเว็บพอร์ทัลและแอปพลิเคชันมือถือแบบ interactive เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีอิสระในการร้องขอข้อมูล รวมถึงร่วมรายงานการแจ้งเบาะแสได้ทางออนไลน์
ผู้ใช้งานสามารถเลือกเครื่องมือในการตรวจสอบและแจ้งเบาะแส (Watch Dog Tools) ได้ทั้งหมด 3 เครื่องมือ ได้แก่
1. digiwhist.eu: เว็บไซต์ศูนย์รวมข้อมูลของนักวิจัยและภาคีเกี่ยวกับเครื่องมือสร้างความโปร่งใสที่โครงการกำลังพัฒนา
2. opentender.eu เว็บไซต์และแอปพลิเคชันในการเปิดเผยข้อมูลการประกวดราคาที่รวบรวบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างระดับชาติจากทั้ง 35 เขตอำนาจศาลของประเทศภาคี โดยมี 3 ฟังก์ชันหลักให้บริการ ได้แก่
– ดาวน์โหลดเอกสารและฐานข้อมูลต่าง ๆ
– เครื่องมือที่อำนวยความสะดวกในการวิเคราะห์ข้อมูลแบบ interactive analytic
– ช่องทางให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมช่วยเหลือในการแจ้งข้อมูลเพิ่มเติม
3. EuroPAM.eus เว็บไซต์สังเกตการณ์เกี่ยวกับกฎหมายความโปร่งใสในสหภาพยุโรป เป็นแหล่งรวบรวมฐานข้อมูลที่มีความครอบคลุมในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ข้อมูลรายได้และทรัพย์สิน และการเข้าถึงข้อมูลและข้อมูลเปิด
4. RISK Assessment Software ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ความเสี่ยงของการทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ใช้งานง่าย
ผู้จัดทำเครื่องมือ : Government Transparency Institute
ยูเครน
Карта Ремонтів
ประเภทเครื่องมือ : Monitoring Public Procurement (การติดตามการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ)
แพลตฟอร์มที่ช่วยให้ประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่จัดสรรมาให้แต่ละเขตนำไปปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสาธารณูปการในละแวกบ้าน เช่น การซ่อมแซมถนน การปรับปรุงสถานพยาบาลหรือสถานศึกษาใกล้บ้าน เป็นต้น
โดยมีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้งบประมาณถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องเพราะที่ผ่านมาพบการรั่วไหลของงบประมาณและการปรับปรุงโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์และตรงกับความต้องการของประชาชน
แพลตฟอร์มนี้จึงนำข้อมูลของโครงการที่ภาครัฐดำเนินการปรับปรุงมานำเสนอในรูปแบบการปักหมุดโครงการในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกเขต และจัดทำหมวดประเภทของโครงการเพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาแบบอัตโนมัติจากการระบุพิกัด GIS และการค้นหาทั่วไป โดยประชาชนสามารถเข้าไปดูรายละเอียดของโครงการปรับปรุงได้ทั้งรายชื่อและเบอร์ติดต่อของหน่วยงานที่ว่าจ้าง บริษัทที่ดำเนินการ รายละเอียดสัญญา งบประมาณที่ใช้ วันส่งมอบงาน และจำนวนของโครงการที่ได้ดำเนินการปรับปรุง รวมถึงสามารถส่งความคิดเห็น ร้องเรียนหรือรายงานข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการได้ด้วย โดยโครงการที่ได้รับการร้องเรียนจะต้องชี้แจงการดำเนินงานกับรัฐบาล
นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางที่ประชาชนใช้สำรวจข้อมูลของอาคารและสถานที่สาธารณะที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุงเพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานในการจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินการได้อีกด้วย
ปัจจุบัน แพลตฟอร์มดังกล่าวถูกนำไปขยายผลใช้ติดตามการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19
ผู้ใช้งานสามารถเข้าใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวได้โดยสะดวกผ่านการค้นหาโครงการจากแผนที่ที่ระบบได้ทำการปักหมุดไว้ ซึ่งแผนที่ดังกล่าวแสดงผลครอบคลุมพื้นที่ทุกเขตทั่วประเทศแบ่งตามหมวดหมู่ของสาธารณูปการต่าง ๆ เช่น แสดงข้อมูลถนน อาคาร สถานที่สำคัญ โรงเรียน โรงพยาบาล อาคารที่อยู่อาศัย และสนามเด็กเล่น
เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถคลิกไปดูข้อมูลของอาคารหรือสถานที่ที่ต้องการทราบข้อมูลได้ตามความต้องการ โดยระบบจะขึ้นข้อมูลและรายละเอียดในการติดตามการดำเนินงานโครงการ เช่น ชื่อของอาคาร ตำแหน่งของอาคาร รายละเอียดการซ่อมบำรุง บริษัทที่รับผิดชอบในการซ่อมบำรุง งบประมาณที่ใช้ และกำหนดวันที่โครงการซ่อมบำรุงต้องส่งมอบงานให้กับหน่วยงาน
โดยระบบสามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปยังเว็บไซต์ ProZorro หรือ ระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศเพื่อให้ผู้ใช้งานสืบค้นข้อมูลโครงการอื่นของบริษัทได้ หากผู้ใช้งานต้องการแสดงความคิดเห็นสามารถแสดงความเห็นใต้โพสต์ได้ หรือสามารถสร้างบทสนทนาใหม่เพื่อรวบรวมความเห็นจากผู้ใช้งานคนอื่น ๆ รวมถึงสามารถรายงานเรื่องคอร์รัปชันได้ในฟังก์ชั่น Report Corruption และมีช่องทางประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่ในละแวกพื้นที่โครงการร่วมกันตรวจสอบการส่งมอบง่านผ่านฟังก์ชั่นการแชร์ Open ad ที่มี QR Code ให้สแกนสำหรับติดตามโครงการด้วย
ผู้จัดทำเครื่องมือ : องค์กรสำนักงานใหญ่ต่อต้านคอรัปชันประเทศยูเครน (the Ukrainian organization Anti-Corruption Headquarters)
มอลโดวา
AntiCorr – The Digital Response
ประเภทเครื่องมือ : Report corruption (รายงานการทุจริต)
โดยจุดเด่นอยู่ที่ฟีเจอร์การรายงานเรื่องคอร์รัปชัน (Report) เพื่อมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ในการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านวิธีการเขียนรายงานเหตุการณ์คอร์รัปชันที่ตนเคยพบเจอพร้อมแนบหลักฐานประกอบได้ ทั้งนี้ยังมีฟีเจอร์นำเสนอข้อมูลความรู้แก่ผู้ใช้งานได้ทำความเข้าใจลักษณะการคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมกับมีบททดสอบสั้น ๆ ให้ทดลองทำเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาการคอร์รัปชันภายในประเทศและแนวทางการป้องกัน จัดเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ทั้งความรู้และวิธีการในการกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น
ผู้ใช้งานสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านคอร์รัปชันได้จาก 3 ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ ได้แก่
1. Report: ฟีเจอร์รายงานสถานการณ์คอร์รัปชันที่เคยพบ โดยระบบอนุญาตให้ผู้ใช้งานอัปโหลดไฟล์คลิปวิดีโอ รูปภาพ หรือไฟล์ข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐานประกอบ โดยสามารถเลือกได้ว่าอยากให้การรายงานของคุณถูกเผยแพร่บนแพลตฟอร์มหรือไม่ ซึ่งแพลตฟอร์มจะจัดกลุ่มข้อมูลการรายงานสถานการณ์คอร์รัปชันตามประเภทสถาบันหน่วยงานเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง พรรคประชาธิปไตยแห่งสาธารณรัฐมอลโดวา และลักษณะการกระทำคอร์รัปชัน เช่น การทุจริตของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การให้สินบน การละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ทำให้มีการนำไปประมวลผลได้โดยสะดวก
2. Learn: ฟีเจอร์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการคอร์รัปชัน เช่น ความหมายของการคอร์รัปชัน ประเภทของการทุจริตคอร์รัปชัน
3. Test: ฟีเจอร์ที่ให้ผู้ใช้งานได้ลองทำแบบทดสอบสั้น ๆ เกี่ยวกับประเด็นความรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ความรู้กี่ยวกับปัญหาการคอร์รัปชัน
ผู้จัดทำเครื่องมือ : e-Governance Academy (eGA) และ CPR Moldova
นอร์เวย์
Statsregnskapet
Folk på tinget
The National Data Catalog
ประเภทเครื่องมือ : Open Data
เว็บไซต์ Statsregnskapet เป็น Open data ที่ชาวนอร์เวย์ใช้กันในปัจจุบันเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาล ที่พัฒนาขึ้นโดยภาคเอกชน ร่วมมือกับรัฐบาล โดยเว็บไซต์จะแสดงข้อมูลตั้งแต่แหล่งที่มางบประมาณ งบประมาณถูกใช้ไปกับอะไรและโดยหน่วยงานใด รวมถึงการใช้งบประมาณนั้นก่อให้เกิดการพัฒนามากน้อยแค่ไหน
เว็บไซต์ Folk på tinget (https://riksreven.shinyapps.io/folk-pa-tinget/) ได้รับการพัฒนาต่อโดยภาคสาธารณชนและภาครัฐ โดยเว็บไซต์จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความโปร่งใสในการทำงานของคณะผู้แทนในรัฐสภา ให้คำตอบที่ได้รับจากรัฐบาลสามารถเข้าถึงได้ง่าย และนำเสนอประเด็นร้อนที่กำลังมาแรงในการประชุมสภา แสดงข้อมูลออกมาในรูปแบบฟังก์ชันการค้นหาและสถิติ
ขณะที่ภาครัฐเองก็มีแพลตฟอร์มอย่าง The National Data Catalog (https://data.norge.no/ ) เป็นเว็บไซต์สาธารณะที่ให้ประชาชนสามารถเข้าไปค้นหาชุดข้อมูล นโยบาย และการทำงานในโครงการต่างๆ ของรัฐได้อย่างง่าย โดยมีข้อมูล 6900 กว่าชุดข้อมูลให้สามารถเข้าไปสืบค้นตามหมวดหมู่ต่าง ๆ
เม็กซิโก
Todos Los Contratos
ประเภทเครื่องมือ: Detect Corruption,Online corruption reporting (การตรวจสอบและรายงานการทุจริต)
ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความโปร่งใสในสัญญาหรือข้อตกลงในโครงการของภาครัฐได้โดยสะดวก จุดเด่นของแพลตฟอร์มอยู่ที่ระบบการดึงข้อมูลสัญญาจากฐานข้อมูลหลักของรัฐบาลที่ครอบคลุมโครงการมากกว่า 3,800,000 สัญญา จากบริษัทกว่า 227,000 แห่ง รวมถึงสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแบบสถาบันและรายบุคคลกว่า 3 แสนราย
โดยเก็บข้อมูลย้อนหลังเกือบ 20 ปี และนำมาออกแบบอัลกอริทึม (Algorithm) ที่แม่นยำเพื่อใช้สำหรับวิเคราะห์และประเมินค่าสถานะความโปร่งใสของสัญญาและโครงการต่าง ๆ รวมทั้งสามารถตรวจจับรูปแบบหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติได้อย่างง่ายดายโดยอาศัยข้อมูลการทำสัญญาสาธารณะของภาครัฐร่วมกับฐานข้อมูลการวิเคราะห์ข่าวเชิงลึกของนักข่าว
นอกจากนี้ระบบการสืบค้นของแพลตฟอร์มยังช่วยให้นักข่าวตรวจสอบข่าวทุจริตง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยให้หน่วยงานภาครัฐมีเครื่องมือค้นหาสัญญาต่าง ๆ ที่ใช้งานง่ายและเชื่อถือได้ ที่สำคัญ คือ ช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจในกระบวนการทำสัญญาของภาครัฐและสามารถรายงานปัญหาหรือข้อสงสัยต่อสัญญามาได้ที่แพลตฟอร์ม QuiénEsQuién Wiki (https://www.quienesquien.wiki/) และเปิดพื้นที่ให้บริษัทที่อยู่ในรายชื่อไม่โปร่งใสได้ชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับสังคมด้วย
ก่อนเริ่มใช้งานระบบจะมีคู่มือสอนวิธีการใช้งานการค้นหาตามฟังก์ชั่นต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการ นักการเมือง บริษัท และสถาบันของรัฐในสัญญาต่าง ๆ
โดยระบบจะมีฟิลเตอร์ให้กรอก และมีคำแนะนำแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน โดยเลือกกรอกได้ทั้งเลขที่สัญญา ชื่อบริษัท บุคคล หน่วยงาน และหัวข้อจากแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้อง ผู้ใช้สามารถส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาได้ โดยมีช่องทางที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนในกรณีที่เป็นรายงานการทุจริตคอร์รัปชัน
นอกจากนี้ในแพลตฟอร์มได้รวบรวมกรณีศึกษาจากบริษัทที่ถูกตรวจจับการทุจริตคอร์รัปชันจากเครื่องมือนี้ โดยมีการสรุปวิธีการค้นหาหรือวิธีการสังเกตความผิดปกติด้วย รวมถึงมีการเผยแพร่รายงานที่ทำการสืบสวนความผิดปกติของสัญญาจากข้อมูลที่ได้จากแพลตฟอร์ม โดยเป็นรายงานการสืบสวนจากนักข่าวหรือนักวิจัยที่เข้ามาใช้ข้อมูลเป็นประจำทุกสัปดาห์
แพลตฟอร์มนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและสื่อมวลชนอีกด้วย การันตีความสำเร็จจากการได้รับรางวัล Sigma award for Journalism ด้าน Open Data ในปี 2563
สหรัฐอเมริกา
USAspending.gov
ประเภทเครื่องมือ : Monitoring Budget (การตรวจสอบงบประมาณ )
เป็นแหล่งข้อมูลเปิดสาธารณะที่นำเสนอข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางที่มีการอนุมัติโดยรัฐบาลกลาง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐได้โดยสะดวก โดยอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารและงบประมาณ
ข้อมูลที่เปิดเผยบนเว็บไซต์จึงเป็นข้อมูลงบประมาณที่มาจากการเปิดเผยของหน่วยงานโดยตรงและมีความเชื่อมโยงกันของข้อมูลเกี่ยวกับการทำสัญญา การกู้ และการใช้จ่ายหรือให้ทุนสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางสหรัฐ
แถมยังช่วยสร้างมาตรฐานสำหรับการจัดทำข้อมูลทางการเงินของภาครัฐให้มีความสอดคล้องกับระบบการสืบค้นข้อมูลของประชาชนได้อีกด้วย
ปัจจุบัน แพลตฟอร์มได้เพิ่มฟีเจอร์การสืบค้นข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดการและรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 2.56 ล้านล้านเหรียญ ให้มีความสะดวกต่อการค้นหาในประเด็นที่ประชาชนสนใจ
แพลตฟอร์มแบ่งฟีเจอร์การนำเสนอข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐออกเป็น 3 ฟีเจอร์หลัก ดังนี้
1. Spending Explorer: ผู้ใช้งานสามารถค้นหาข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณได้ตามประเภทที่ถูกจัดไว้ 3 ประเภท ได้แก่
– Budget Function แบ่งตามจุดประสงค์ในการใช้จ่าย เช่น ประกันสังคม การป้องกันประเทศ
– Agency แบ่งตามหน่วยงานภาครัฐ
– Object Class แบ่งตามประเภทการใช้จ่ายพัสดุหรือบริการของรัฐบาลกลางสหรัฐ เช่น การให้เงินทุนสนับสนุน การทำสัญญา หรือค่าตอบแทนบุคคลากร เป็นต้น
2. Award search: ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าต้องการจะสืบค้นข้อมูลการอนุมัติงบประมาณด้วยวิธีการพิมพ์ key word (Keyword Search) หรือต้องการสืบค้นด้วยวิธีการเลือกฟิลเตอร์ เช่น ปีงบประมาณ ประเภทการอนุมัติงบประมาณ ประเภทผู้รับงบประมาณ โดยเลือกดูตามความต้องการของตนเอง (Advance Search)
3. Profiles: ฟีเจอร์แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ Agency, Federal Accounts, States, Recipients และ Covid-19 Spending โดยนำเสนอข้อมูลภาพรวมการใช้งบประมาณ และแสดงจำนวนงบประมาณที่แต่ละกลุ่มได้รับการแบ่งสรรจากรัฐบาลกลาง
ผู้จัดทำเครื่องมือ : รัฐบาลและสำนักบริหารและงบประมาณ กระทรวงการคลัง
เปรู
FUNES
ประเภทเครื่องมือ : Detect Corruption (การตรวจจับทุจริต)
เป็นแพลตฟอร์มระบุสถานการณ์ความเสี่ยงของการเกิดทุจริตคอร์รัปชันในการทำสัญญาสาธารณะของประเทศเปรูเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกผ่านระบบ Search Engine
โดยประชาชนสามารถค้นหาชื่อองค์กรหรือบริษัทที่ต้องการค้นข้อมูล หลังจากนั้นระบบอัลกอริทึมจะทำการคำนวณข้อมูลองค์กรและบริษัทเหล่านั้นผ่านฐานข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง แหล่งข่าวสืบสวนสอบสวน ประกาศจากราชกิจานุเบกษา แล้วแสดงผลออกมาเป็นอัตราความเสี่ยงของการเกิดคอร์รัปชันจากขั้นตอนของการดำเนินการสัญญาต่าง ๆ ปัจจุบันแพลตฟอร์มมีฐานข้อมูลการทำสัญญาขององค์กรและบริษัทมากถึง 245,000 แห่ง
จุดเด่นของแพลตฟอร์มอยู่ที่ระบบอัลกอริทึมมีความแม่นยำที่สูงมากเพราะมีการคิดค้นวิธีการคำนวณที่ครอบคลุมความเสี่ยงที่น่าจะเกิดขึ้นจากสัญญาที่ผ่านมาและข้อมูลจากการสืบสวนสอบสวนของนักข่าว โดยมีการระบุความสัมพันธ์ทางการเมืองและการเงิน โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทต่าง ๆ ในการมีส่วนช่วยให้ชนะการประกวดราคาผ่านแบบจำลองอัลกอริทึมด้วย
นอกจากนี้ได้นำข้อมูลของสัญญาต่าง ๆ มาจัดกลุ่มรูปแบบของวิธีการจัดซื้อจัดจ้างทั้งแบบปกติและผิดปกติ เพื่อช่วยให้ประชาชนและนักข่าวสามารถจัดลำดับความสำคัญในการติดตามและตรวจสอบสัญญาของโครงการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แพลตฟอร์มนี้การันตีความสำเร็จจากการได้รับรางวัล Sigma award for Journalism ด้าน Innovation ในปี 2563
ผู้ใช้งานสามารถกรอกชื่อขององค์กรหรือบริษัทที่ตนเองต้องการค้นหาในช่องค้นหา จากนั้นระบบอัลกอริทึมจะคำนวณและนำเสนอออกมาเป็นอัตราความเสี่ยงการเกิดคอร์รัปชัน พร้อมทั้งระบุวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและขั้นตอนที่มีความเสี่ยงในการเกิดการทุจริตคอร์รัปชันด้วย
หากผู้ใช้งานต้องการสืบค้นว่าโครงการใดมีความเสี่ยงสามารถเข้าไปเลือกดูโครงการได้ในฟังก์ชั่นการสรุปประเภทของการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งนำเสนอในรูปแบบ visualization นอกจากนี้ผู้ใช้งานสามารถศึกษากรณีของสัญญาที่ความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชันที่ระบบแจ้งเตือนความเสี่ยงได้อีกด้วย
ผู้จัดทำเครื่องมือ : องค์กร OjoPúblico
แอฟริกาใต้ 2 โมเดล
Veza Report police corruption and help us fight for transparency in SAPS
ประเภทเครื่องมือ : Report corruption (รายงานการทุจริต)
ผู้ใช้งานสามารถรายงานการทุจริตได้ที่เว็บไซต์ Veza ในฟังก์ชั่น Report โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ในระบบจะมีฟอร์มให้กรอกรายละเอียดด้วยการเลือกตามหัวข้อเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้ใช้งานและการประมวลผลเพื่อส่งต่อรายงานได้ทันที ซึ่งผู้ใช้งานต้องระบุรายละเอียด เช่น เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน เวลาอะไร ระบุตำแหน่งที่เกิดเหตุโดยการเลื่อนแผนที่หรือใช้ตำแหน่งปัจจุบันของผู้รายงาน เลือกประเภทคอร์รัปชัน เขียนอธิบายเหตุการณ์ เลือกสถานีตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ เลือกยศหรือตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากนั้นเป็นการกรอกข้อมูลของผู้รายงาน เช่น อายุ เพศ เชื้อชาติ
เมื่อรายงานเสร็จแล้วจะถูกส่งเข้าระบบและขึ้นเป็น Hotspot บนแผนที่ในไอคอนรายงาน ประชาชนสามารถกดเข้าไปดูรายงานในจุดต่าง ๆ ได้และกดดูข้อมูลสถานีตำรวจที่อยู่ในบริเวณจุดแจ้งเหตุได้ โดยระบบจะสรุปรายงานประเภทของคอร์รัปชันหรือการละเมิดที่ประชาชนแจ้งเข้ามาในพื้นที่ไว้ด้วย
มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างกลไกความรับผิดชอบและความโปร่งใสในการปฎิบัติงานของตำรวจ โดยมี 4 ฟีเจอร์ให้ผู้ใช้งานได้ร่วมระดมข้อมูล
– Report police corruption รายงานการทุจริตของตำรวจซึ่งระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์เพื่อเปิดเผยสถานที่เกิดเหตุโดยระบบจะแจ้งจุดเกิดเหตุไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งเผยแพร่บนเว็บไซต์ทันที ช่วยให้ประชาชนสามารถป้องกันและรับมือกับการถูกเรียกรับสินบนได้จากไอคอนที่แสดงผลในแผนที่
– Know Your Rights รวบรวมสิทธิและข้อมูลจำเป็นเพื่อรับมือกับการถูกละเมิดจากเจ้าหน้าที่ เช่น ปฎิเสธจ่ายสินบน ค่าปรับ หรือขอบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ
– Know Your Police Station รวบรวมข้อมูลสถานีตำรวจทั่วประเทศเช่น เจ้าหน้าที่ งบประมาณ ทรัพยากรและการให้บริการ Rate Your Police Station ร่วมให้คะแนนสถานีตำรวจจากประสบการณ์ที่ได้รับตามหัวข้อ เช่น ระยะเวลาในการตอบสนองเหตุด่วนเหตุร้าย ความเป็นมืออาชีพในการดำเนินงาน
– Nominate an officer เสนอชื่อเจ้าหน้าที่ที่มีจริยธรรมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความซื่อสัตย์ในการรับราชการตำรวจ ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดลองใช้กับสถานีตำรวจกว่าพันแห่งในประเทศ
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ให้ประชาชนเข้าไปให้คะแนนสถานีตำรวจได้ด้วยเพื่อประเมินความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน ปัจจุบัน มีรายงานการทุจริตคอร์รัปชันส่งเข้าระบบ 81 เรื่อง ข้อมูลที่ได้รับผ่านแบบฟอร์มการรายงานนี้จะใช้ในการวิเคราะห์และระบุรูปแบบและแนวโน้มโดยรวมของการทุจริตคอร์รัปชันของตำรวจทั่วประเทศได้
ผู้จัดทำเครื่องมือ : Corruption Watch
Corruption Watch
ประเภทเครื่องมือ : Report corruption (รายงานการทุจริต)
โดยแพลตฟอร์มเสนอ 3 วิธีการง่าย ๆ ที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รปชัน ได้แก่
1. รายงานการทุจริตคอร์รัปชันที่ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมรายงานเหตุสงสัยหรือความผิดปกติผ่านช่องทางที่หลากหลายของโครงการ ได้แก่ เว็บไซต์ WhatsApp อีเมล และสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ หรือแจ้งด้วยตนเองที่สำนักงาน
2. การรับบริจาคสำหรับพัฒนาระบบรับเรื่องรายงานและค่าใช้จ่ายของทีมงาน
3. ติดตามข้อมูลข่าวสารการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศ
จุดเด่นของแพลตฟอร์มอยู่ที่ระบบรายงานเรื่องคอร์รัปชันที่มีความปลอดภัยต่อผู้รายงาน และมีระบบการติดต่อกลับผู้แจ้งเบาะแส (whistleblower callback service) ผ่าน SMS ในกรณีที่ผู้ใช้งานต้องการข้อมูลเพิ่มเติม
รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ช่วยตรวจสอบรายงานที่ถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริตโดยเฉพาะกรณีที่มีผลกระทบต่อสังคมเพื่อนำไปเผยแพร่และทำงานร่วมกับสื่อกระแสหลักและชุมชน เพื่อให้แน่ใจว่ามีการติดตามผลจากรายงานที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบอาจจะดำเนินการได้แค่บางกรณีเท่านั้น
ผู้ใช้งานสามารถเข้าสู่หน้าการรายงานได้ที่ฟีเจอร์ Repory Corruption โดยจะมีแบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูล 4 ขั้นตอนได้แก่
1. ประเภทการคอร์รัปชัน
2. ประเภทของกลุ่มองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น รัฐบาลท้องถิ่น บริษัทหรือองค์กรเอกชน พร้อมเลือกเมืองและจังหวัดที่เกิดเหตุ
3. เขียนเล่ารายละเอียดของสถานการณ์คอร์รัปชันโดยย่อ
4. ให้ข้อมูลติดต่อกรณีที่ท่านต้องการได้รับข้อมูลอัปเดตจากองค์กร
หรือหากผู้ใดไม่สะดวกรายงานผ่านทางเว็บไซต์ทางองค์กรมีช่องทางติดต่ออื่น เช่น สายด่วน HotLine, Call back Service และ WhatsApp โดยหลังจากที่ทีมงานได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วจะทำตรวจสอบก่อนจะทำการรายงานกลับไปให้คุณทราบทันที
ผู้จัดทำเครื่องมือ : Corruption Watch สนับสนุนโดย International Transparency
สุดท้าย คือ Developmentcheck เป็นแพลตฟอร์มให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาของรัฐ ที่ถูกนำไปใช้ในหลายประเทศอาทิ เคนย่า, แทนซาเนีย, ยูกันด่า, ปาเลสไตน์, คองโก, อัฟกานิสถาน และ โรมาเนีย
Developmentcheck
ประเภทเครื่องมือ : Monitoring Public Procurement (การติดตามการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ)
เป็นแพลตฟอร์มให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาของรัฐ เช่น ถนน ที่อยู่อาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล ไฟฟ้าและพลังงาน เป็นต้น เพื่อให้แต่ละโครงการส่งมอบงานอย่างมีคุณภาพตามที่ระบุในสัญญา
เนื่องจากโครงการพัฒนาที่เข้ามาในพื้นที่บางโครงการไม่ได้ปฎิบัติตามข้อตกลงใน TOR อาจเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ โดยผู้ทำหน้าที่รายงานต้องได้รับการอบรมเบื้องต้นจากโครงการในการทำหน้าที่สำรวจความคืบหน้าและเหตุผิดปกติของโครงการด้วยการลงไปสำรวจพื้นที่โครงการพร้อมถ่ายรูปความคืบหน้าและแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบ
ข้อมูลเหล่านี้จะปรากฎบนเว็บไซต์ทันทีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการแก้ปัญหาของบริษัทที่ดำเนินการ และกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบโครงการเข้าไปติดตามการทำงานต่อได้
นอกจากนี้โครงการจะถูกประเมินประสิทธิภาพของความโปร่งใส 3 ด้าน ได้แก่
– จำนวนของปัญหาที่ระบุไว้ได้รับการแก้ไข
– ผลประเมินความพึงพอใจของประชาชนต่อโครงการ
– การเข้าถึงข้อมูลสัญญา
ปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้ได้ถูกใช้ใน 6 ประเทศทั่วโลก และสามารถตรวจสอบงบประมาณโครงการต่าง ๆ ได้มากถึง $1,026,838,379 จาก 517 โครงการ และมีอัตราความสำเร็จในการดำเนินโครงการมากถึง 46%
ผู้ใช้งานสามารถเข้าใช้งาน Developmentcheck ได้ผ่านแอปพลิเคชัน Developmentcheck โดยมีขั้นตอนการเข้าใช้งานดังต่อไปนี้
1. ผู้ใช้งานสร้างบัญชีผู้ใช้ ซึ่งผู้ใช้จะต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ชื่อจริง เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล เพื่อ login เข้าระบบ
2. เมื่อ login เรียบร้อยแล้วในหน้าต่างแรกผู้ใช้งานสามารถอ่านรายงานปัญหาจากโครงการต่าง ๆ และสามารถสืบค้นชื่อโครงการที่ต้องการติดตามได้จากช่อง “serch projects”
4. เมื่อเจอโครงการที่ตนเองต้องการส่งคำร้องเรียนให้ click เข้าไปในโครงการนั้น จากนั้นผู้ใช้งานสามารถกรอกคำร้องเรียนของตนเอง และสามารถแนบรูปหลักฐานประกอบได้จากนั้นให้ผู้ใช้งานกดปุ่ม “submit” เพื่อส่งคำร้องเรียน
5. ผู้ใช้งานสามารถติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา ได้จากเมนู “developmentcheck”
ผู้จัดทำเครื่องมือ : Integrity Action
เหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรูปแบบเทคโนโลยี ที่ถูกใช้เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาลที่สำรวจจากทั่วโลก ซึ่งการมีเทคโนโลยีที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลงบประมาณได้อย่างง่ายดายเช่นนี้ หลายประเทศเป็นความร่วมมือของรัฐ เอกชน และประชาชน และบางประเทศเห็นได้เลยว่ามีเครื่องมือมากกว่า 1 เครื่องมือ
กรณีที่เห็นชัดเจนและได้รับการยอมรับคือ นอร์เวย์ที่ได้รับการจัดอันดับ The Global Open Data Index จากมูลนิธิความรู้เปิด (Open Knowledge Foundation: OKFN) ว่าเป็นประเทศที่มีระดับการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐสูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกตีคู่มากับแคนาดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณจากภาครัฐที่นอร์เวย์ได้รับคะแนนสูงที่สุด
ผศ.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้ง HAND Social Enterprise กล่าวว่า การปราบโกงไม่สามารถแบ่งกลุ่มได้ชัดตามพื้นที่ เพราะการคอร์รัปชันแต่ละพื้นที่มีความหลากหลาย ทั้งในระดับชาติ ระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น งานวิจัยที่ทำพบว่าคอร์รัปชันมีความหลากหลายซับซ้อน ไม่สามารถใช้เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งได้ หรือกฎหมายใด กฎหมายหนึ่งในการแก้ปัญหาได้ กลยุทธ์แก้ไขปัญหาจึงต้องครอบคลุม
สำหรับประเทศที่ประสบผลสำเร็จเขามักใช้เครื่องมือที่หลากหลาย อย่าง ฮ่องกง ในอดีตที่นี่มักถูกกล่าวถึงว่าเป็นเขตการปกครองที่มีการคอร์รัปชันสูงมาก มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเคยเคยสื่อสารว่ามีคนไม่สบายแล้วเรียกพยาบาลมาจอดรอหน้าบ้าน เข็นรถขึ้นไปแล้วแต่เขาไม่ไป ถ้าเราไม่จ่ายเงินหรือสินบนให้เขา ซึ่งรุนแรงมาก แรงกว่าในประเทศไทย แต่ส่วนนี้เขามีการเข้าไปแก้ไขโครงสร้างตำรวจก่อน โดยการปฏิรูประบบตำรวจ และแยกหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันภายในกรมตำรวจออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ และกลายเป็นโมเดลต้นแบบต่อต้านคอร์รัปชันหลายประเทศรวมถึง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ( ป.ป.ช.)
สิงคโปร์ มีการให้สวัสดิการเจ้าหน้าที่รัฐที่ดี ควบคุมการรั่วไหลอย่างชัดเจน มีบทลงโทษที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น ฝั่ง อเมริกา มีการกระจายทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน อย่างกระทรวงยุติธรรม กระทรวงต่างประเทศที่ดูเรื่องส่งคนข้ามชาติ และทำงานร่วมกันด้วยกลยุทธการต่อต้านคอร์รัปชัน ของทำเนียบขาว และประสานกันหลายหน่วยงาน
เกาหลีใต้ คือ อีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจ การปกครองสมัยก่อนของเขาถูกมองว่าเป็นเผด็จการ แต่เขาแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการนำเอา open data มาใช้ พอเขาเริ่มมี การเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนรับรู้มากขึ้นอะไรที่ไม่เหมาะสมประชาชนสามารถร้องเรียนได้อย่างมีหลักฐาน จนทำให้ปัญหาคอร์รัปชันในเกาหลีใต้หายไป
สุดท้าย อินโดนีเซีย เคยอยู่ภายใต้เผด็จการมายาวนาน เมื่อพวกเขาได้รับโอกาสมีประชาธิปไตย ประชาชนในประเทศตื่นตัวกับการมีส่วนร่วมอย่างมาก หน่วยงานองค์กร ภาคประชาชนที่ต่อต้านคอร์รัปชันมีเยอะมาก และมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่คล้าย ป.ป.ช. ของอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด ซึ่งถือว่าหน่วยงานนี้เป็นที่พึ่งของประชาชนอินโดนีเซีย หน่วยงานนี้เคยถูกตัดงบฯไปครั้งหนึ่ง แต่ประชาชนออกมารวมตัวกันและไล่เรียเงินไปมอบให้หน่วยงาน
“ถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ก็จะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลักในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน คือการสร้างความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลเป็นขั้นแรกที่สำคัญ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพราะประชาชนเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้”
นอกจากนี้ ยังต้องมีการมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาโดยการประสานกันของภาครัฐประชาชนเอกชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่สำคัญเช่นกัน รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ การเมือง หรือกระทั่ง การมีระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ที่จะช่วยส่งเสริมให้การเกิดคอร์รัปชันน้อยลงและการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง