คลัสเตอร์ตลาด: รู้จักชีวิตผู้คนหลังแผงค้า

หากเราเคยไปตลาด…เรามองเห็นใครอยู่ในนั้นบ้าง?

การพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 “คลัสเตอร์ตลาด” มักตามมาด้วยคำสั่ง “ปิด” หากพบว่ามีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน เพื่อ “ควบคุมโรค”

ด้วยเหตุผลของการเป็นสถานที่ชุมนุมชน มีผู้คนค้าขาย แออัด พลุกพล่าน และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจับจ่ายใช้สอยตลอดทั้งวัน…

บางตลาด แทบไม่เคยหลับไหลตลอด 24 ชั่วโมง

แม้การระบาดระลอกนี้ ไม่ได้มีคำสั่งปิดตลาดแบบ “ปูพรม” เหมือนการระบาดในระลอกแรก

แต่มากกว่าการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน ซื้อขาย ระหว่างเงินตราและสินค้า “ตลาด” ยังเป็นพื้นที่แห่งความสัมพันธ์ ดังที่หลายคนให้นิยามว่า “ตลาด” เป็นทั้งแหล่งอาหารและพื้นที่ชีวิตของเมือง มีวัฒนธรรม มีการจัดการอยู่

การระบาดรอบ 3 “ตลาดคลองเตย” เป็นตลาดแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อ 21 เมษายน 2564 หลังจากนั้น ก็มีคำสั่งปิดตลาดตลองเตย เพื่อล้างตลาด 3 วัน จนพบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เล็ดลอดจากตลาดคลองเตย ไปสู่ชุมชนและผู้ค้า ลูกจ้างรายวัน รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่หมุนเวียนไปค้าขาย ค้าแรงงานที่ตลาดอื่น จนกลายเป็น “คลัสเตอร์ตลาด” ขยายไปหลายแห่งใจกลางมหานครแห่งนี้

และเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศบค. ขอให้ประชาชน งด เคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ จากตลาดหนึ่งไปอีกตลาดหนึ่ง หรือระหว่าง​อำเภอ จังหวัด เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิด-19

The Active ชวนติดตามข้อมูลการระบาดในคลัสเตอร์ตลาด ที่นำมาสู่คำสั่งปิดตลาด ที่ไม่เพียงการหยุดกิจกรรมการซื้อขาย หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปากท้องเท่านั้น แต่การปิดตลาดทุกครั้ง ยังหมายถึง “ความมั่นคง” ทางอาหารและชีวิตของใครอีกหลายคน ที่มีผลเป็นวงจร กระทบเป็นห่วงโซ่ จนไม่อาจประเมินจุดสิ้นสุดได้


2 เดือนเต็ม ของการระบาดโควิด-19 รอบ 3

มีตลาดสด ตลาดค้าส่งและค้าปลีก ถูกทยอยสั่งปิดไปแล้วอย่างน้อย 17 แห่ง จากตลาดทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานคร 486 แห่ง บางแห่งเริ่มกลับมาเปิด บางแห่งกลับมาค้าขายได้ไม่กี่วัน ก็ต้องกลับไปปิดอีก เพราะพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม

ยังไม่นับตลาดนัดหรือตลาดชุมชนย่อย ๆ ที่เลือกปิดตัวเองเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อพบผู้ติดเชื้อภายในตลาดหรือชุมชนรอบ ๆ

เขตบางกะปิ มีตลาดที่ถูกสั่งปิดมากที่สุด 5 ตลาด ที่นอกจากส่งผลต่อรายได้ของผู้ค้าแล้ว ยังส่งผลกับผู้ซื้อเป็นห่วงโซ่ เช่น พ่อค้าขายอาหารปรุงสำเร็จย่านลาดพร้าว ที่เคยซื้อวัตถุดิบเป็นประจำจากตลาดบางกะปิและตลาดยิ่งเจริญ ซึ่งมีคำสั่งปิดเช่นเดียวกัน ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการซื้อขาย หาแหล่งวัตถุดิบใหม่ ขณะที่อีกด้าน ตลาดอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงและยังเปิดค้าขายอยู่ ต้องเพิ่มปริมาณสินค้า เพื่อรองรับผู้ซื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น

ผลกระทบนี้ ยังอาจส่งผลถึงผู้ผลิตอย่างเกษตรกรด้วย หากไม่สามารถหาตลอดรองรับผลผลิตที่ทยอยออกตามรอบการผลิตได้


รู้หรือไม่? แม้ตลาดส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นของเอกชน แต่ตลาดทั้งหมด อยู่ในการดูแลของ กทม.

จาก ตลาด 486 แห่ง มีตลาดที่อยู่ภายใต้ “สำนักงานตลาด กทม.” เพียง 13 แห่ง นอกจากนั้น ตลาดเกือบทั้งหมดเป็นตลาดเอกชน และ มี 3 แห่ง สังกัดรัฐวิสาหกิจอื่น คือ องค์การตลาด สังกัดกระทรวงมหาดไทย (ตลาดกลางเกษตรกรตลิ่งชัน และ ตลาดน้ำสวนผัก คลองสองนครา) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ตลาด อ.ต.ก.)

ความคุ้นชินของแม่บ้านหรือคนเมืองที่นิยมเดินตลาดสด มากกว่า ซูเปอร์มาเก็ต หรือ ห้างร้านค้าปลีกของเอกชนรายใหญ่ อาจสงสัยว่าความเป็นตลาด หรือ Market place นั้นแบ่งกันอย่างไร แบบไหนคือ “ตลาด” แบบไทย ๆ ที่เราคุ้นเคย

หากจะบอกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านค้าสมัยใหม่ ตลาดติดแอร์ เป็น 1 ในประเภทของตลาดก็ไม่ผิดนัก เพียงแต่ในเกณฑ์การแบ่ง “รูปแบบตลาด” นั้น สามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบมาก

ในที่นี้ ขอยกตัวอย่างการแบ่งเพียง 3 แบบที่เกี่ยวข้องเท่านั้น คือ แบ่งตาม “เวลา” “ปริมาตรธุรกิจ” และ “การแข่งขัน”

เวลา

การแบ่งประเภทของตลาดตามเกณฑ์ “เวลา” ที่หมายถึง ความยาวนานของตลาด เพราะธรรมชาติของสินค้า คือ 1) ตลาดสด และ 2) ตลาดสินค้าคงทน หากยกตัวอย่างง่าย ๆ ตลาดสด ก็คือพื้นที่ค้าขายอาหารสด ส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าประเภทอาหาร ที่มีเวลาหรืออายุของสินค้าเป็นเงื่อนไข ส่วน ตลาดสินค้าคงทน คือตลาดที่ค้าขายสินค้าประเภทอื่น ๆ ที่เราอาจคุ้นกับคำว่า “จิปาถะ” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สินค้าที่ไม่มีวันเน่าเสีย หมดอายุ เช่น ตลาดแบบที่เรารู้จักกันอย่าง “ตลาดนัดจตุจักร”

ที่น่าสนใจ คือ “ตลาดนัด” ไม่มีความหมายแยกออกไปในภาษาสากล เพราะตลาดในโลกตะวันตก รวมถึงโลกมุสลิม ไม่ได้เปิดทุกวัน โดยจะเปิดเพียงบางวันหรือเปิดเกือบทุกวัน ส่วนใหญ่จะหยุดในวัน Sabbath (วันสะบาโต) หรือวันประกอบพิธีทางศาสนาและพักผ่อนของชาวคริสต์ เช่น ชาวยิวหยุดวันเสาร์ ชาวคริสต์ทั่วไปหยุดวันอาทิตย์ ส่วนประเทศมุสลิมอาจหยุดในวันศุกร์ และบางประเทศเคยมีการออกกฎหมายห้ามทำการค้าในวันอาทิตย์ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และยุโรปบางประเทศ แต่ปัจจุบันหลายรัฐและหลายประเทศยกเลิกกฎหมายนี้แล้ว

ตลาดนัด จึงถูกนับรวมเป็น “ตลาด” ด้วยกันทั้งหมด

ปริมาตรธุรกิจ

หากแบ่งตามปริมาตรธุรกิจ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ตลาดค้าส่ง เช่น ปากคลองตลาด ตลาดประตูน้ำ ตลาดสำเพ็ง ฯลฯ และ ตลาดค้าปลีก โดยตลาดสดส่วนใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ เป็นตลาดค้าปลีก

การแข่งขัน

ส่วนการแบ่งประเภทของตลาด ตาม “เกณฑ์ลักษณะการแข่งขัน” แบ่งได้มากกว่า 6 ประเภท เช่น ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด ตลาดผู้ขายน้อยราย ตลาดฮั้ว ตลาดผูกขาด ตลาดผู้ซื้อรายเดียว ฯลฯ

แต่หากนิยามให้ชัดขึ้นถึงกิจกรรมของตลาดที่ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ลักษณะการแข่งขัน จะเห็นได้ว่า “ตลาดแบบไทย ๆ” ที่เราคุ้ยเคย เป็นรูปแบบการเปิดพื้นที่ให้คนขายสินค้า โดยเก็บค่าเช่าแผงทั้งเช่าระยะยาวและจ่ายเงินค่าเช่าเป็นรายวัน แต่ “เจ้าของ” แผงค้าที่มีหลายราย ทำให้เกิดการแข่งขัน แม้อาจมีการจำกัดจำนวนหรือประเภทสินค้าโดย “เจ้าของ” ตลาดอยู่บ้าง

ขณะที่ “ตลาดสมัยใหม่” (Modern Trade) หรือซูเปอร์มาร์เก็ตของคนเมือง “เจ้าของ” มาร์เก็ตนั้น มักมี “เจ้าของ” รายเดียว แม้อาจดำเนินธุรกิจในลักษณะหุ้นส่วนก็ตาม แต่ไม่ว่าผู้ซื้อจะซื้อสินค้ายี่ห้อไหน จากแผนกใด กำไรจากการขาย “ภายในพื้นที่ตลาด” เป็นของเจ้าของธุรกิจนั้นเพียงรายเดียว

อย่างไรก็ตาม หากแบ่งประเภทของตลาดตามลักษณะการแข่งขัน อาจไม่สามารถแบ่งได้ชัดเจนเป็นแบบใดแบบหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบัน ลักษณะของพื้นที่การค้านั้นมีความหลากหลาย และไม่ได้มีลักษณะการแข่งขันเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง


กทม. กับบทบาทการดูแลตลาด

“ตลาด” ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้ความหมายไว้ว่า “สถานที่ซึ่งปกติจัดไว้ให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทสัตว์ เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หรืออาหารอันมีสภาพเป็นของสด ประกอบหรือปรุงแล้ว หรือของเสียง่าย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีการจำหน่ายสินค้าประเภทอื่นด้วยหรือไม่ก็ตาม และหมายความรวมถึงบริเวณซึ่งจัดไว้สำหรับให้ผู้ค้าใช้เป็นที่ชุมนุมเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าวเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราวหรือตามวันที่กำหนด”

และมีการบัญญัติไว้ในมาตรา 34 ในกฎหมายฉบับเดียวกันว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งตลาด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น…” และในมาตรา 35 ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลตลาด ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อกำหนดของท้องถิ่น…” เช่น การกำหนดที่ตั้ง เนื้อที่ แผนผัง และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างและสุขลักษณะ รวมถึงการกำหนดเกณฑ์สถานที่และกิจการของตลาด และเวลาเปิดปิดตลาดอีกด้วย

นั่นหมายความว่า “กทม.” ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ “ผู้ว่า กทม.” มีหน้าที่กำกับดูแลตลาดทั้งหมด ไม่ว่าเจ้าของเป็นใครก็ตาม โดยต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกอบกับ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ตลาด พ.ศ. 2546 ที่แบ่งประเภทตลาดไว้ 3 ประเภท ตามลักษณะของ “โครงสร้าง” และการ “ดำเนินกิจการ” ที่มีลักษณะประจำ ชั่วคราว หรือครั้งคราว

ภาพสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียวที่คน กทม. คุ้นชินบทบาท กทม. กับการจัดการตลาด อาจมีเพียง เจ้าหน้าที่เทศกิจ เท่านั้น แต่แท้จริงแล้ว กทม. มี สำนักงานตลาด ที่ทำหน้าที่บริหารตลาดในสังกัด กทม. และ ส่งเสริมตลาดเอกชน ภายใต้โครงสร้างการบริหารของ กทม.

อาจเพราะการมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อระบบจัดการตลาด กทม. ไม่ใช่กิจกรรมที่คนเมืองคุ้นเคย ทำให้เรามักถึงหน้าที่ของ กทม. เน้นไปที่การจัดการขยะ น้ำท่วม หรือทางเท้า เท่านั้น ยังไม่รวมปัญหาการอนุญาตจัดตั้งตลาด กับความเหมาะสมตามผังเมือง ภายใต้การกำกับโดย กทม. ผ่าน สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง อีกด้วย


มาตรการคุมระบาด “ตลาด” เขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล

กทม. ทั้งในบทบาทของการกำกับตลาด และบทบาทของการควบคุมโรค ในฐานะ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาตรการรควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2564 โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ มาตรการป้องกัน การเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ และการควบคุมโรคทันท่วงที

นอกจากต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันแล้ว ยังกำหนดให้มีการสุ่มตรวจโควิด-19 จากน้ำลาย แทนการ Swab ทางจมูก (Pooled Saliva PCR) โดยต้องตรวจร้อยละ 10 ของผู้ขาย ซึ่งมีการกำหนดเกณฑ์การสุ่มตรวจเน้นไปที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ และผู้ค้าหรือแรงงานที่พักอาศัยในพื้นที่การระบาด

หากพบผู้ติดเชื้อ ก็มีการแบ่งระดับของการควบคุมโรคออกเป็น 3 ระดับ เพื่อไม่ให้เกิดการหยุดกิจการค้าขายทั้งตลาด ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและปากท้อง

นอกจากนี้ การควบคุมโรคระบาดในเขตเมือง ยังมี สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค หรือ สปคม. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการควบคุมการระบาดอีกด้วย

ขณะที่ กรมอนามัย ก็ได้ออกมาตรการในการคุมตลาดสด ในพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งรวมถึง “กรุงเทพฯ” ด้วย

  • ผู้ประกอบการตลาด ต้องประเมินตนเองผ่าน “Thai Stop COVID Plus” และ ผู้ค้าหรือลูกจ้าง ต้องประเมินความเสี่ยงของตนเองผ่านเว็บไซต์ “Thai Save Thai”
  • จัดทำทะเบียนแผงค้า ผู้ค้า ผู้ช่วยขายของ และแรงงานข้ามชาติที่ปฏิบัติงานในตลาด เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการควบคุม กำกับ ติดตาม
  • จัดทำทะเบียนรถเร่จำหน่ายอาหารที่มาซื้อสินค้าในตลาดเพื่อนำไปขายต่อ
  • เพิ่มมาตรการ ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อลดการสัมผัส

“ตลาดคลองเตย” ตลาดขนาดใหญ่ เป็นลมหายใจของหลายชีวิต

“ตลาดคลองเตย” เป็น 1 ใน 17 ตลาด ที่กรุงเทพมหานครมีคำสั่งให้ปิดตลาด โดยปิดตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม และมีกำหนดเปิดในวันที่ 4 มิถุนายน 2564 หลังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องจากชุมชนคลองเตย และพบว่ามี แรงงานข้ามชาติ ในตลาดติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกของเขตคลองเตย มีมากกว่า 2,700 คน (ข้อมูล ณ 31 พ.ค. 2564)

ตลาดคลองเตย นับได้ว่าเป็น “ตลาดสดขนาดใหญ่” อาจเป็นตลาดสดที่ใหญ่ที่สุดในเขตกรุงเทพฯ

หากดูจากแผนผังของพื้นที่ตลาดจะเห็นได้ว่า ไม่สามารถแยกกิจกรรมการค้า ระหว่าง “อาคารตลาด” (โซนสีเหลือง) ออกจาก “ชุมชนตลาดท่าเรือคลองเตย” (โซนสีฟ้า) ซึ่งเป็น “อาคารพาณิชย์” แบ่งเช่า ที่ชั้นล่างและหน้าอาคารเปิดเป็นพื้นที่ค้าขายหรือเตรียมวัตถุดิบ ส่วนชั้นบนถูกซอยแบ่งเป็นห้องเช่า มีผู้พักอาศัยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนกิจกรรมการค้าขายบริเวณตลาดคลองเตยทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ไม่ได้มีเพียงพ่อค้าแม่ค้าใน “ระแวกนี้” หรือคนกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังมีผู้ค้าที่เดินทางไปกลับ เพื่อนำสินค้าเข้ามาขายเป็นรายวันอีกด้วย

เช่น ตลาดที่คนคลองเตยเรียกว่า “ตลาดอ่างทอง” ส่วนใหญ่ขายผักและผลไม้ มีพ่อค้าแม่ค้าเดินทางมาจากหลายจังหวัดภาคกลาง ทั้ง พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครปฐม ราชบุรี ฯลฯ หรือ “ตลาดเพชร” ที่อยู่นอกโซนอาคารตลาด ผู้ค้าเดินทางมาจากจังหวัดเพชรบุรี หลายอาคารมีลักษณะแบ่งเช่าเป็นกลางวันและกลางคืน ทำให้ บางแผงค้าแทบไม่เคยปิดกิจกรรมค้าขายเลย ตลอด 24 ชั่วโมง

ในพื้นที่เดียวกันนี้ ยังมีประเภทสินค้าที่ผูกโยงกับวัฒนธรรม เช่น โซนตลาดที่ค้าขายผลผลิตและวัตถุดิบจากภาคอีสาน จะมีชื่อเรียกว่า “ตลาดลาว” นอกจากนี้ ยังมี “ตลาด 4” ที่ขายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ที่มีผู้ค้าส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมและชาวไทใหญ่

อีกลักษณะการเช่าแผงค้าของตลาดคลองเตย และ อาจเป็นลักษณะร่วมของตลาดอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ คือ “การเช่าต่อหรือเช่าช่วง” คือผู้ค้าตัวจริง ไม่ใช่ผู้ทำสัญญาเช่ากับเจ้าของตลาด หรือ กทม.

ปัญหานี้ หลายครั้งทำให้เกิดปัญหาการจ่ายค่าเช่าในอัตราสูงเกินจริง เกิดมาเฟียตลาด หรือผู้เช่าเป็นคนต่างชาติ ยากต่อการควบคุมทั้งเรื่องสุขอนามัย และการควบคุมโรค

ยังไม่นับกรณีที่เมื่อมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ค้าและผู้เช่าที่ปรากฏในสัญญา โดยเฉพาะสัญญากับภาครัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่น ผู้ค้าที่เช่าต่อหรือเช่าช่วง อาจเข้าไม่ถึงมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐในสถานการณ์การระบาดนี้ เช่น การยกเว้นค่าเช่า หรือการยกเว้นค่าส่วนกลาง

ทั้งนี้ ตลาดคลองเตย ถูกบริหารจัดการพื้นที่โดย บริษัท ตลาดคลองเตย (2551) จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ลีเกิ้ล โปรเฟสชั่นแนล จำกัด) ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ตลาดคลองเตยกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีระยะเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2561 – 28 ตุลาคม 2571 อนึ่ง บริษัท ตลาดคลองเตย ก่อตั้งโดยกลุ่มครอบครัว ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


ผู้คนหลังแผงค้า ที่ฝากชีวิตไว้กับ “ตลาด”

เมื่อมอง “ตลาด” ในฐานะพื้นที่เศรษฐกิจนอกระบบ แรงงานนอกระบบ และเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นโครงข่ายความสัมพันธ์ของผู้คน ถักทอซ้อนทับ จึงมี “ผู้คน” หลังแผงค้าฝากชีวิตไว้กับตลาดจำนวนมาก เช่น …

“ผู้ค้า” บรรดาพ่อค้าแม่ขาย ที่มักมีความสัมพันธ์เชิงครอบครัวและเครือญาติ หนึ่งแผงค้าจะหล่อเลี้ยงชีวิตคนในครอบครัวขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน และบางแผงค้ายังมี “ลูกจ้างรายวัน” สำหรับช่วยยกของ ขนของจากผู้ส่งวัตถุดิบมาถึงแผงค้า และส่งต่อถึง “ลูกค้า” แล้วแต่ขนาดของแผง ถ้าแผงขายผักและผลไม้ขนาดใหญ่ จะมีลูกจ้างช่วยขนของ 2-3 คน เมื่อคูณกับจำนวนแผงค้า คนกลุ่มนี้จึงมีจำนวนไม่น้อยที่ซ่อนการถูกมองเห็นไว้

เช่น แผงขายปลาทูนึ่ง คนมักจะเห็นหน้าร้านเรียงปลาทูเข่งซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แต่ทุกตลาด มักจะมีโรงนึ่งปลาทูอยู่บริเวณใกล้เคียง ดังนั้น 1 แผงปลาทูนึ่ง จะมีคนขาย 1 คน คนแบกปลาทูจากโรงนึ่งถึงแผงค้า 2-3 คน ไม่นับคนขับรถไปรับปลาทูสดจากแหล่ง เช่น รับจากตลาดปลามหาชัย เป็นต้น

แผงกะทิและมะพร้าว นอกจากเจ้าของแผงแล้ว บริเวณใกล้เคียงมักจะมีโรงเก็บมะพร้าวและลูกจ้างรายวันที่รับจ้างคั้นกะทิตามลูกค้าสั่ง

แผงผักรายย่อยจากผู้ค้าต่างจังหวัด ผู้ค้าจะเหมารถบรรทุกขนผักนานาชนิดจากแหล่งปลูก ดังนั้น จะมีคนขับรถและเป็นคนขนของ หรือมีคนขนของมาพร้อมกันอีก 1-2 คน เพื่อช่วยกันขาย บางแผงผักรายย่อยก็จะนั่งรถไฟมาซึ่งจะมาอย่างน้อย 2 คน เพื่อช่วยกันขนของและช่วยกันขาย กลุ่มนี้จะเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดใกล้เคียง

หรือถ้าเป็นตลาดขนาดใหญ่ เช่น ปากคลองตลาด ตลาดคลองเตย หรือตลาดสี่มุมเมือง ใน จ.ปทุมธานี จะมีอาชีพ “คนเข็นของ” จำนวนมาก ซึ่งมักเป็นแรงงานอพยพจากชนบท รับจ้างเข็นของจากแผงค้าต่าง ๆ ไปที่รถส่งลูกค้าเที่ยวละ 20-50 บาท 

ทั้งนี้ ใน “ตลาด” ที่มีภาคเอกชนดูแล ย่อมมี ลูกจ้างรายเดือนและรายวันในการทำความสะอาดแผงค้า ดูแลห้องน้ำสาธารณะ และยามเพื่อดูแลความปลอดภัย คนเก็บค่าเช่าแผง

แง่นี้ “ตลาด” จึงเป็นพื้นที่ความสัมพันธ์ที่เป็นทั้งเครือญาติ และความสัมพันธ์อื่น ๆ อีก เช่น เครือข่ายหวยใต้ดิน จะมีคนเดินเก็บโพยหวย เดินโพยหวย และเก็บเงินหวยรายวัน หรือเครือข่ายเงินกู้นอกระบบ เครือข่ายพนันต่าง ๆ เช่น พนันบอล พนันมวยตู้ และหวยหุ้น ฯลฯ ยังมีเครือข่ายที่ดูแลบริหารจัดการ “แรงงานข้ามชาติ” “คนไร้สัญชาติ” ที่ค้าขายแรงงานจำนวนหนึ่งอยู่ภายในตลาด 

นอกจากนี้ จะมีเครือข่ายอาหารซ้อน “ระบบอาหาร” ของตลาด คือ หาบเร่แผงลอยที่ขายอาหารราคาถูกเพื่อหล่อเลี้ยงผู้ค้าและลูกจ้างรายวัน ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในพื้นที่ความสัมพันธ์นี้ ถัดมาอีก จะเป็นเครือข่ายขนส่ง เช่น มอเตอร์ไซต์รับจ้าง รถตุ๊ก ๆ รถบรรทุกรับจ้าง เป็นต้น รวมทั้งคนไร้บ้าน คนเก็บของเก่าขายซาเล้ง ที่มาพึ่งพิงตลาดอยู่ด้วย

นี่จึงเป็นคำตอบของคำถามที่คนสังสัยว่า ทำไมภาครัฐสั่งปิด “ตลาด” ไม่สั่งปิดห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน


โรคระบาดใน “คลัสเตอร์ตลาด” จึงไม่ใช่แค่เรื่อง “ปิดตลาด”

หากดูชีวิตของผู้คนหลังแผงค้าในตลาด จะเห็นได้ว่า การ ปิดตลาด ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเรื่อง ปากท้อง อาหาร หรือรายได้ เพียงมิติใดมิติหนึ่งเท่านั้น

เพราะ ไม่ใช่แค่พื้นที่แลกเปลี่ยนซื้อขายข้าวของ แต่ยังเป็นพื้นที่ใช้ชีวิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เศรษฐกิจฐานรากของผู้คน หรือแม้แต่คนตกงาน ที่อาจนำผลผลิตหรือสินค้ามาวางจำหน่าย รวมถึงผู้คนที่พึ่งพิงตลาดในฐานะเป็น “พื้นที่สาธารณะ” ฝากท้องจากของเหลือกินเหลือใช้ อย่างคนไร้บ้านและคนเก็บของเก่า

เมื่อดูจากผลกระทบเมื่อมีการปิดตลาด จะเห็นวงจรความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงถึงกัน เช่น มิติความมั่นคงทางอาหาร หากดูการนิยามโดย FAO หรือ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ตัวชี้วัดความมั่นคงทางอาหาร คือ การรับประกันว่า มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่จำเป็นในระดับพื้นฐาน ทั้งทางกายภาพและทางเศรษฐกิจ การปรับตัวขึ้นของราคาอาหารจะกระทบมากที่สุดต่อผู้มีรายได้น้อย เพราะรายจ่ายด้านอาหารเป็นสัดส่วนที่สูงในรายจ่ายทั้งหมดของผู้มีรายได้น้อย การปิดตลาด จึงกระทบมากที่สุดต่อผู้มีรายได้น้อยเช่นกัน เพราะมีทางเลือกในการเข้าถึงอาหารน้อยกว่า

เมื่อไม่มีรายได้ ไม่มีการจ้างงาน จึงส่งผลต่อ มิติชีวิตความเป็นอยู่ เช่น ไม่มีค่าเช่าบ้าน กระทบต่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัย หรือมีโอกาสก่ออาชญากรรมหรือประกอบอาชีพไม่สุจริต

นอกจากนี้ การที่ “ตลาด” แบบไม่เป็นทางการในเขตเมือง มักถูกละเลยโดยนโยบายสาธารณะ แม้จะมีอยู่มาก แต่กลับไม่ถูกยอมรับทางกฎหมาย ไม่ถูกกำกับดูแล หรือได้รับทุนสนับสนุน แต่ ตลาดเหล่านี้กลับเป็นสถานที่แห่งการฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ทำให้คนจำนวนมากมีชีวิตที่ดี

รวมทั้ง มิติด้านเศรษฐกิจ โดยข้อมูลจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ปี 2558 ระบุว่า ประเทศไทยมีตัวเลข ภาคการค้าส่ง ให้บริการแก่การผลิตในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เป็นมูลค่ารวมกว่า 9.07 แสนล้านบาท และให้บริการแก่การบริโภคของเอกชนและรัฐบาล การลงทุน และการส่งออก เป็นมูลค่ารวมอีกกว่า 9.07 แสนล้านบาท เช่นกัน

ขณะที่ ภาคการค้าปลีก ให้บริการแก่การผลิตในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เป็นมูลค่ารวมกว่า 8.14 แสนล้านบาท และให้บริการแก่การบริโภคของเอกชนและรัฐบาล การลงทุน และการส่งออก เป็นมูลค่ารวม กว่า 6.13 แสนล้านบาท

ทำให้ “มูลค่าการบริการจากตลาด” มีต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ มากกว่าปีละ 3 ล้านล้านบาท

เมื่อ “ตลาด” กลายเป็นพื้นที่เสี่ยง แต่การปิดตลาด แม้เพียงไม่นาน กระทบกับชีวิตของผู้คนหลังแผงค้า ที่ฝากเอาไว้กับตลาดด้วย

ดังที่ ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อธิบายไว้ว่า “การปิดตลาดแม้ว่าจะไม่นาน แต่มันกระทบชีวิตของคนที่ทำมาหากินในนั้น เพราะตลาดไม่ใช่แค่สถานที่ในทางนามธรรม แต่มีชีวิตของผู้คนและเรื่องราว และลามไปถึงเรื่องของชุมชนที่อยู่โดยรอบ ทั้งชุมชนที่เป็นแหล่งพักพิงของแหล่งงานในตลาด หรือเป็นชุมชนของคนที่มาซื้อมาขายในตลาด”


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active