การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ: “เรา” จะปลอดภัย เมื่อ “ทุกคน” ปลอดภัย

พฤษภาคม 2564 เดือนที่สองของการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่

คลัสเตอร์หลักยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร “ศูนย์กลางของประเทศ”

เมืองใหญ่ที่ดูดดึงชีวิตของผู้คนในชนบทและทรัพยากรธรรมชาติ มาหล่อเลี้ยงความเป็นอยู่ของชนชั้นกลาง เมืองที่ไม่เคยมีนโยบายที่อยู่อาศัยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาความเป็นเมือง พื้นที่สาธารณะถูกทำให้เป็นสินค้าของกลุ่มทุน ทำให้คนเล็กคนน้อย แรงงานนอกระบบ แรงงานอพยพจากต่างจังหวัด และแรงงานข้ามชาติอยู่รวมกลุ่มกันในชุมชนเช่า ชุมชนแออัด ซ่อนตัวอยู่ซอกหลืบของความเจริญ

“โรคระบาด” กำลังทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องจ่ายคืนด้วย “อิสรภาพของตัวเอง” ถูกจองจำอยู่แต่ในบ้าน วิถีชีวิตอันคุ้นชิน ถูกปั่นป่วน เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ฯลฯ

ขณะที่คนหาเช้ากินค่ำ แรงงานนอกระบบ แรงงานรับจ้างรายวัน แม่ค้า พ่อขาย แม่บ้าน ยาม รปภ. คนเข็นผักในตลาด คนส่งอาหาร พนักงานในห้างสรรพสินค้า พนักงานเก็บขยะ คนกวาดถนน คนงานก่อสร้าง แรงงานแพลตฟอร์มประเภทต่าง ๆ พยายามใช้เรี่ยวแรงที่เหลือน้อยลงทุกที หมุนเศรษฐกิจของเมืองอย่างขะมักเขม้น คนเหล่านี้เป็น “แรงงานด่านหน้า” (Social workers) ไม่ต่างจากบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมจะติดเชื้อจากคนอื่น และนำพาเชื้อไปสู่ครอบครัว และขยายการแพร่เชื้อเป็นวงกว้างได้ โดยที่เขาไม่มีสิทธิหรือสวัสดิการใด ๆ คุ้มครอง

การจะเข้าถึงบริการของรัฐหรือการเยียวยาก็ต้องพิสูจน์ “ความยากจน” และเอื้อมไม่ถึงวัคซีนป้องกันความเจ็บป่วย

ดังนั้น ชุมชนแออัด แคมป์คนงานก่อสร้าง และเรือนจำ จึงเป็น 3 คลัสเตอร์สำคัญ ส่วนการพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกใน “คลัสเตอร์ตลาด” หลายแห่ง ก็เป็นความท้าทายใหม่ ของการจำกัดการแพร่ระบาดในเขตเมือง

แนวทางหลักในการควบคุมโรค คือ การตรวจคัดกรองเชิงรุก แยกผู้ป่วย และฉีดวัคซีน ทุกแนวทางต้องทำอย่างเร่งด่วนพร้อมกัน เพราะราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เตือนเป็นครั้งที่ 2

“สิ่งที่น่ากังวล คือ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในเวลา 3 สัปดาห์”

หัวใจสำคัญของแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ระบุไว้

หากมอง ‘จุดร่วม’ ของผู้คนใน 3 คลัสเตอร์ นอกจากความแออัด อาจเห็นความเป็นพลเมืองชั้นรองของเมืองใหญ่ บางสายตาอาจมองเห็นพวกเขาเป็นพลเมืองชั้นล่างสุด… หรืออาจไม่เคยมองเห็นพวกเขา

The Active ชวนติดตามนโยบาย “การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ” ที่รัฐบาลประกาศว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อการฉีดวัคซีนเป็นมาตรการลดอัตราผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิต และตัดวงจรระบาดด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ “เรา” จะปลอดภัยก็ต่อเมื่อ “ทุกคน” ปลอดภัย

เช่นนี้ จึงอาจต้องคำนวณ “ผู้คน” ทุกกลุ่มเข้าไปอยู่ในแผนของการทำให้ การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ด้วย

ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร มีแยกย่อยถึง 662 ชุมชน และหากดูจาก การรายงานสถานการณ์รายวันของ ศบค. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม จะเห็นว่า พื้นที่เหล่านี้กำลังถูกจับตาและเฝ้าระวังสูงสุด เพื่อหยุดวงจรระบาดให้ได้ เช่น ชุมชนคลองเตย ชุมชนแยกมหานาค ชุมชนโรงปูน แฟลตดินแดง และแฟลตรถไฟ มักกะสัน ฯลฯ

ส่วนชุมชนที่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น รอบแคมป์คนงานก่อสร้าง ทั้งในเขตหลักสี่ คลองเตย และวัฒนา ก็เป็นอีกพื้นที่เฝ้าระวังเช่นกัน เพราะพบผู้ติดเชื้อภายในแคมป์คนงานเป็นจำนวนมาก มีไม่น้อย ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ

ศบค. ระบุว่า แคมป์คนงานก่อสร้างฯ มีกระจายอยู่ทั่วทั้งกรุงเทพฯ ครบ 50 เขต รวมทั้งสิ้น 409 แห่ง มีคนงานในแคมป์ก่อสร้างมากกว่า 62,000 คน ในจำนวนนี้มีแรงงานข้ามชาติมากกว่าคนไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ และพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก่อนแล้วอย่างน้อย 5 เขต คือ หลักสี่, คลองเตย, วัฒนา, บางคอแหลม และดอนเมือง โดยพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดใน แคมป์หลักสี่ ของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) คือ 1,107 คน (19 พฤษภาคม 2564)

ที่น่ากังวลไม่แพ้กัน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 เป็นวันแรกที่มีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในเรือนจำสองแห่ง คือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง รวม 2,835 คน ผ่านไปเกือบสัปดาห์ ภาพรวมของผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 4 แห่งของกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเป็น 8,778 คน และหากรวมทั้งพื้นที่ระบาดสีแดงกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะพบว่า มียอดผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมด 9,426 คน แต่หากดูจากผลตรวจคัดกรองเชิงรุกในเรือนจำทั่วประเทศ พบผู้ติดเชื้อรวมแล้ว 11,428 คน (ตัวเลขนี้ยังตรวจคัดกรองเชิงรุกไม่ครบ 100% จึงยังไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง)

สถานการณ์การระบาดดั่งไฟลามทุ่งข้างต้น ยังไม่นับ แนวโน้มการระบาดที่เพิ่มขึ้นจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ “ตลาด” ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหม่เพิ่มขึ้นในตลาดพรพัฒน์ ตลาดบางแค ตลาดกลางเกษตร และการพบผู้ป่วยต่อเนื่องที่ตลาดยิ่งเจริญ รวมทั้งตลาดสี่มุมเมือง หรือ “ตลาดกลางค้าส่งสี่มุมเมือง” ศูนย์กระจายสินค้าทางการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ตลาดนี้ที่เดียวก็มีผู้ติดเชื้อแล้ว 909 คน

“เราใช้มาครบทุกมาตรการแล้ว”

คือคำที่แพทย์นักระบาดกล่าวตรงกันในการระบาดรอบ 3 เพื่อจะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาว่า เวลานี้มาตรการทางสังคมที่ทำอยู่ก็อาจต้องดำเนินไป ควบคู่กับการเร่งฉีดวัคซีน และแผนการรับมือเผื่อไว้ สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อรับมือ “ระบาดรอบ 4”

ในการระบาดระลอกนี้ วิธีหยุดระบาดคลัสเตอร์เมือง มีการทำงาน แบ่งเป็น 3 รูปแบบใหญ่ คือ การเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน ทั้งที่พักอาศัย ตลาด โรงงาน และสถานประกอบการหรือบริษัท หากนับจากวันที่ 1 เมษายน – 15 พฤษภาคม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ช่วยกันสอบสวนโรค ตรวจเชิงรุกไปแล้ว 154,691 คน พบเชื้อ 5,891 คน หรือคิดเป็น 3.81 %

หลังตรวจคัดกรองแล้ว ด้วยลักษณะร่วมของคลัสเตอร์ใหญ่ ที่มีผู้คนอยู่อย่างแออัด ทำให้ “การแยกกัก” ผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงออกจากพื้นที่ จึงเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญ โดยนอกจากแนวทาง Community Quarantine แบบที่ใช้ในชุมชนคลองเตยแล้ว (อ่านเพิ่ม คุมคลองเตยได้ คุมกรุงเทพฯ ได้: ถอดโมเดลคุมระบาด “คลองเตย”) ยังมีรูปแบบ Bubble and Seal ที่ใช้ในเรือนจำ และแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยแยกผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงออกมารักษายังโรงพยาบาลภายนอก

จากนั้น “การปูพรมฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาด” เป็นแนวทางหลักที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขและ กทม. ใช้เพื่อหวังปิดวงจรการระบาด โดยพบว่า ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา กรุงเทพมหานคร ฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 5 ล้านโดส ในจำนวนนี้ เป็นการปูพรมฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาด 149,583 โดส

เมื่อดูจาก ‘แผนกระจายวัคซีนของประเทศ’ จะเห็นว่าขณะนี้ ไทยมีแผนวัคซีนถึงปลายปี 2564 อยู่ที่ 70 ล้านโดส แต่ตัวเลขนี้ ยังไม่รวมความพยายามจัดหาวัคซีนเพิ่มของรัฐบาลและภาคเอกชน ที่คาดว่าจะเพิ่มเข้ามาเติมช่วงไตรมาสที่ 3 – 4 ของปี 2564 ทั้งวัคซีนของ ไฟเซอร์, สปุตนิก วี, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน รวมถึงยี่ห้ออื่น ๆ อย่าง โมเดอร์นา และซิโนฟาร์ม เพื่อไปให้ถึงเป้า 100 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 50 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

หากดูจากปริมาณวัคซีนจริงที่อยู่ในมือ ซึ่งทยอยจัดสรรฉีดให้กับประชาชนตามกลุ่มเป้าหมายเวลานี้ มีอยู่ราว 4.1 ล้านโดส และภายในเดือน พฤษภาคม นี้ จะมีวัคซีนให้ใช้ทั้งหมด 6 ล้านโดส รวมถึงที่จะนำเข้าเพิ่มในเดือนมิถุนายนอีก 3 ล้านโดส ก่อนล็อตใหญ่ของแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ในประเทศไทย จะถึงประชาชน

อย่างไรก็ตาม หากดูอัตราเร็วของการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในกรุงเทพฯ เดือนพฤษภาคม อยู่ที่วันละ 11,136 โดสเท่านั้น เมื่อเทียบกับสถานการณ์การระบาดที่ดำรงอยู่ จึงเป็นคำถามใหญ่คาใจว่า รัฐบาลจะมีแผนปฏิบัติการสำหรับการฉีดวัคซีนปูพรมเพื่อความคุมโรคระบาดได้จริงหรือ?

การฉีดวัคซีน ช่วยคุมโรคระบาดได้อย่างไร ?

ถ้าคนไทยยังพอเหลือใจไม่สิ้นหวังกับรัฐบาล และเชื่อว่าสามารถจัดสรรวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัด มาฉีดปูพรมเพื่อควบคุมโรคระบาดในประเทศ หรือ กรุงเทพฯ ได้ ฉะนั้น คำถามสำคัญที่ติดตามมาก็คือ “การฉีดวัคซีนช่วยคุมโรคระบาดได้อย่างไร?”

อย่างน้อย จากหลายข้อถกเถียงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ ‘วัคซีนหลัก’ ที่ถูกจัดสรรในประเทศไทย ทั้งซิโนแวคและแอสตราเซเนกา ที่ชัดเจนแล้วคือ การฉีดวัคซีน ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดเชื้ออีก และมีข้อมูลยืนยันเช่นกันว่า สามารถลดอัตราการป่วยหนักและตายได้เกือบ 100% นี่จึงหมายความว่า ผู้ที่รับวัคซีน 1 ใน 2 ชนิดนี้ จะ “ไม่ตายเพราะการติดเชื้อโควิด-19” แม้ว่าข้อถกเถียงเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนจะมากหรือน้อย รวมทั้งผลข้างเคียงระยะยาวอาจยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้ก็ตาม ณ เวลานี้ขอให้ “เชื่อหมอไว้ก่อน”

ข้อความรณรงค์ของรัฐบาล “ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ” หรือ “เราปลอดภัย ประเทศก็ปลอดภัย” สองคำนี้ แม้ต่างความหมาย แต่ก็ทำหน้าที่เชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นทั้งเกราะป้องกันและตัดวงจรการระบาด

เพราะเมื่อมีจำนวนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมากพอ โอกาสการรับเชื้อของคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็น้อยลงไปด้วย แต่ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสำคัญ ทั้งประสิทธิภาพของวัคซีน ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันระหว่างคนที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกและฉีดครบทั้งสองเข็ม รวมถึงจำนวนคนป่วยที่รักษาหายนั้น มีมากเพียงพอที่จะตัดวงจรการระบาด จะต้องฉีดอย่างน้อยคือ 60-70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

ภูมิคุ้มกันหมู่ จะเกิดขึ้นเมื่อไร?

ข้อมูลผู้เข้ารับวัคซีนตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ – 19 พฤษภาคม ทั้งหมด 2,445,645 โดส ทั่วประเทศ ทำให้ผู้ฉีดวัคซีน (ซิโนแวค) ครบทั้ง 2 เข็ม อีกสองสัปดาห์จากนั้นจึงเริ่มมีภูมิต้านทาน ส่วนคนที่เพิ่งได้รับวัคซีน (ทั้งซิโนแวคและแอสตราเซเนกา) เพียงเข็มเดียว ภูมิต้านทานจะยังไม่ทำงานอย่างเต็มที่ นี่ยังไม่นับว่าประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองชนิดที่ทำงานต่างกัน เมื่อคำนวณร่วมกับอัตราของคนที่ติดเชื้อโควิด-19 และรักษาจนหายป่วย เท่ากับว่า เวลานี้ มีประชากรราว 1.69% มีภูมิคุ้มกัน เท่านั้นเอง

แต่หากวางเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ที่ 70% ของประชากร ที่รวมประชากรแฝง ทั้งคนต่างชาติและคนไร้สัญชาติ จะพบว่า ต้องฉีดวัคซีนให้ได้เกือบ 50 ล้านคน ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขเคยประกาศไว้ ว่าจะฉีดให้ได้ตามเป้าหมายนี้ภายในปี 2564

แต่เมื่อคำนวณจากเงื่อนไขของวัคซีนเข็มแรกและวัคซีนเข็มสอง และอัตราของผู้ป่วยที่รักษาหาย จะเห็นได้ว่า ไทยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้เฉลี่ยวันละ 0.05% เท่านั้น นั่นหมายความว่าจะเดินถึงเป้าหมาย “สร้างภูมิคุ้มกันหมู่” ได้ ต้องใช้เวลานานถึง 5 ปีครึ่ง

เมื่อการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ และ ต้องหยุดการระบาดกรุงเทพฯ ให้ได้ภายใน 2 เดือน

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ว่าให้ “การฉีดวัคซีน” เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเคาะโควตาจัดสรรวัคซีนเพิ่มให้พื้นที่กรุงเทพฯ ทันที 5 ล้านโดส และวางเป้าหมายปูพรมฉีดให้ได้ภายใน 2 เดือน เดือนละ 2.5 ล้านโดส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หยุดวงจรระบาดเขตเมืองให้ได้

แต่เมื่อดูจากความเร็วในการฉีดวัคซีนของ กทม. คิดเฉลี่ยในช่วงเดือนพฤษภาคม จะพบว่า ฉีดได้วันละราว 1 หมื่นโดสเท่านั้น ดังนั้น หากจะได้จำนวนผู้ฉีดวัคซีนเข็มแรก รวมกับผู้มีภูมิคุ้มกัน คือ ผู้ฉีดวัคซีนครบสองเข็มและผู้ป่วยรักษาหาย เท่ากับกรุงเทพฯ จะมีภูมิคุ้มกัน 70% ของประชากรในอีก 13 เดือน หรืออีกราว 1 ปีข้างหน้า

นี่เป็นเพียงการคำนวณเพื่อให้เห็นความเร็วในการฉีดวัคซีน ณ ปัจจุบันเท่านั้น เพราะเวลานี้ กทม. มีแผนกระจายจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล มากถึง 25 แห่ง เช่น ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย ปั๊มน้ำมัน รวมถึงหน่วยงานขนาดใหญ่อย่าง SCG และ SCB แต่เป้าหมายที่ กทม. วางไว้ ยังอยู่ที่วันละ 38,000 – 50,000 คนต่อวัน ซึ่งหากจะให้เป็นไปตามแผนของการเป็น วาระแห่งชาติ ภายในเดือนกรกฎาคม กทม. ต้องฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 69,021 คนต่อวัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ในกรุงเทพฯ ให้ได้ภายใน 2 เดือน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายมาก

คนกรุงเทพฯ รวมประชากรแฝง ณ ปี 2561 มีอยู่ราว 7.7 ล้านคน ยังไม่นับว่ามีประชากรแฝงกลางวันที่เดินทางไปมาระหว่าง กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อทำงานและเรียนหนังสือ นั้นใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขร่วมกันอย่างแยกไม่ออก

หากดูข้อมูลประชากร 70% ของจังหวัดปริมณฑล คือ

  • นนทบุรี 1,126,434 คน (จากประชากรตามทะเบียนราษฎร์และประชากรแฝง 1,609,191 คน)
  • ปทุมธานี 1,073,646 คน (จาก 1,533,781 คน)
  • นครปฐม 787,744 คน (จาก 1,125,349 คน)
  • สมุทรสาคร 667,217 คน (จาก 953,167 คน)
  • สมุทรปราการ 1,352,208 คน (จาก 1,931,726 คน)

ตามแผนการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็มที่ 1 เพื่อปูพรมฉีดในเดือนมิถุนายน – กันยายน อาจต้องทำให้จังหวัดปริมณฑลเหล่านี้ มีอัตราเร็วในการฉีดวัคซีน อยู่ในระดับเดียวกับกรุงเทพฯ เช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกาล็อตใหญ่ ที่จะเริ่มต้นเดือนมิถุนายนนี้ ตามแผนระบุว่าต้องฉีดวัคซีนให้กับ “ทุกคน” ตามกลุ่มเป้าหมาย 70% ของประชากร แต่ในระดับปฏิบัตินั้นยังพบว่า เกือบสองเดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่การระบาดระลอกใหม่ แรงงานต่างชาติในพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดบางแห่ง เช่น ชุมชนคลองเตย ยังถูกให้ความสำคัญในลำดับท้าย ๆ ของการตรวจคัดกรองและฉีดวัคซีน ด้วยเหตุผลเรื่องข้อจำกัดทางระเบียบปฏิบัติและกฎหมาย

ยังไม่นับว่าตามแผนการกระจายวัคซีนทั้ง 70 ล้านโดสนี้ “คลัสเตอร์เรือนจำ” อยู่ตรงไหน? เพราะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาเปิดเผยเมื่อ 17 พฤษภาคม ว่า ขอให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ต้องขัง จำนวน 3 แสนโดส ตั้งแต่ 1 เมษายน

แต่ยังไม่มีการตอบรับ กระทั่งพบจำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำทั่วประเทศแล้วกว่า 1 หมื่นคน ดังนั้น จึงต้องติดตามว่า การฉีดวัคซีนในเรือนจำให้ได้ 100% เพื่อลดความเสี่ยงผู้ป่วยอาการหนักหรือเสียชีวิตนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อไร

เพราะหาก การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ตามหลักการควบคุมโรค และจัดสรรวัคซีนที่เป็นธรรม เท่าเทียม อาจต้องเปลี่ยนหลักการก่อน จาก “ฉีดวัคซีนให้คนไทยทุกคน” เป็น “ฉีดวัคซีนให้ทุกคนในประเทศไทย” การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จึงจะเกิดขึ้น และเป็นความหมายที่แท้จริงว่า “เรา” จะปลอดภัย เมื่อ “ทุกคน” ปลอดภัย


โควิด-19ทำให้เห็นอะไรในระบบสุขภาพไทย ?

รู้จักระบบบริการโควิด-19 ใน กทม.

“คลองเตย” คือชุมชนแบบไหน: รู้จักคลองเตยจากการระบาด

คุมคลองเตยได้ คุมกรุงเทพฯ ได้: ถอดโมเดลคุมระบาด “คลองเตย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active